xs
xsm
sm
md
lg

ดนตรีไทย กับ ชัยชนะพระพุทธเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดนตรีไทยถือเป็นศิลปะประจำชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกันกับธรรมะ แต่แท้จริงแล้ว หากศึกษาให้ลึกลงไปถึงที่มาของดนตรีไทย และการประพันธ์ดนตรีไทยในอดีตนั้นจะพบว่า ท่วงทำนอง และคำร้อง ล้วนแล้วแต่ประพันธ์ขึ้น และเกิดขึ้นจากความศรัทธาในพุทธศาสนา และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น
เพลงเหล่านี้ถือเป็นเพลงชั้นสูง และสร้างขึ้นจากหลักการทางพุทธศาสนา เช่น แนวทางไตรภูมิ หรือคัมภีร์มหาสมัยสูตร ซึ่งศิลปินไทยในอดีตนั้นเล่าเรื่องหรือประวัติของพระพุทธเจ้าโดยใช้เพลงและท่วงทำนองเป็นสื่อในการแสดงออกเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นพุทธบูชา
ชมรมชีวานุภาพได้เห็นถึงความสำคัญของดนตรีไทยในการบรรเลงเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงได้จัดงาน ‘ดนตรีไทย พรรณนา ชุดมหาชัยชนะแห่งพระพุทธเจ้า’ ขึ้น โดยได้นำเอาศิลปินด้านดนตรีไทยหลากหลายแขนง จากทั่วทุกภูมิภาค มาร่วมกันบรรเลงดนตรีไทยที่ใช้เป็นพุทธบูชา และจัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อประกาศมหาชัยชนะพระพุทธเจ้า ในโอกาสวันวิสาขบูชาปี 2549 ภายใต้แนวความคิดในการ เล่าเรื่องราวพุทธประวัติของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่พิชิตมารจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมหาชัย
ชนะอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งสิ้น 9 ฉาก ซึ่งคนไทยรู้จักกันในบทชัยมงคลคาถา(พาหุง) ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่อดีต
ในการพรรณนาแบบดนตรีไทย ซึ่งสอดแทรกดนตรีโบราณเพื่อการบูชาบวงสรวงสมโภช และบูชาศิลปะการประชันเพลง ตลอดจนถึงเพลงหน้าพาทย์ อันเป็นภูมิปัญญาสำคัญของชาติ ที่บรรพบูรพาจารย์ทางดุริยางค์ได้รังสรรค์ไว้เพื่อเป็นการบูชาทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ อันหาชมได้ยากยิ่ง รวมถึงการประพันธ์บทเพลง โดยเฉพาะในโอกาสพุทธบูชาถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ครองราชย์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ศ.เกียรติคุณดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธ์
ผู้อำนวยการจัดงานครั้งนี้ เปิดเผยว่า เราได้เตรียมงานไว้อย่างดี และมีการกำหนดและวางดนตรีทั้งฝ่ายที่จะเล่นเป็นสัญลักษณ์ในฝ่าย พระพุทธเจ้า และเครื่องดนตรีที่จะเป็นตัวแทนฝั่งมาร ซึ่งดนตรีเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อการบูชา ซึ่งจะเอาเครื่องดนตรีเด่นๆ จากทุกภาคของประเทศไทยมาใช้ เช่น รำสาธุการ ตระเชิญ ซึ่งน้อยคนจะเคยเห็นว่ารำนี้รำอย่างไร ซึ่งเราจะได้เห็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าลงจากดาวดึงส์ตามคติไตรภูมิ
“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง ซึ่งก็เป็นแรงใจจากครั้งแรก ที่เราจัดการแสดงชุดปฐมสมโพธิ(กำเนิดพระพุทธเจ้า) ในรูปแบบดนตรีไทยเช่นกัน เมื่อ 4 มิถุนายน 2547 ตอนนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีมาก ตอนนั้นเราได้เห็นคนที่สนใจ อีกทั้งใบหน้าที่มีความปีติสุขอย่างมาก บางคนฟังแล้วร้องไห้ อย่างตอนจบนั้น เราจะจบด้วยทุกคนในหอประชุมร่วมสวดองค์ใดพระสัมพุทธด้วยกัน ซึ่งเสียงสวดมนต์กระหึ่มมาก อีกทั้งบางคนก็น้ำตาไหลด้วยความปีติ พร้อมกันนี้ก็ยังได้เทิดทูนพระพุทธเจ้าด้วย”
สำหรับการเตรียมการปีนี้ ดร.อภิณัฏฐ์ อธิบายว่า นอกจากจะมีเหล่าเครื่องดนตรีและกลองบูชาจากภาคต่างๆ แล้ว จะมีการอัญเชิญพระธาตุมาเป็นสัญลักษณ์ในฉากที่ 9 และทั้งพระทั้งฆารวาสร่วมสวดมนต์ไปพร้อมๆ กันเลย พร้อมกันนี้จะมีการฉายสไลด์มัลติวิชั่นภาพจิตรกรรมฝาผนังประกอบไปกับบทเพลงด้วย เพื่อให้ผู้ฟังนั้นได้อรรถรส ทั้งภาพและเสียง และตามเรื่องราวได้ทัน รวมไปถึงในสูจิบัตรก็จะมีรายละเอียดให้ด้วยว่าในแต่ละเพลงนั้นกล่าวถึงเรื่องอะไร พร้อมกันนั้นก็มีการเล่าเป็นร้อยแก้ว นำเรื่องในทุกๆ ฉาก ทั้ง 9 ฉาก
“ทั้งหมดนี้เป็นเพลงไทยแท้ที่จะหาฟังยากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งถ้าครูไม่แสดง พวกเราก็จะไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงชั้นสูงเหล่านี้ ซึ่งอย่างเพลงโคมเวียนนั้นเราก็จะได้เห็นว่าคนไทย มีจิตที่วิจิตรไม่เหมือนใคร” ดร.อภิณัฏฐ์ เล่า
“ผมเป็นคนศึกษาและอนุรักษ์เพลงไทย และดนตรีไทยอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อยิ่งศึกษาก็ยิ่งพบว่า ศิลปินไทยนั้นลึกซึ้ง และมีความสามารถสูงไม่แพ้ที่ใดในโลก อีกทั้งเราได้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณในอดีต ในการให้ความรู้ด้านดนตรี และการต่อเพลง”
ดังนั้นในแต่ละฉากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระบารมี ของพระพุทธเจ้าในรูปแบบของดนตรีไทย จากศิลปินชั้นครู อาทิ รต.ดร.สุรินทร์ สงค์ทอง พร้อมด้วยศิลปินกว่า 60 ชีวิต ประพันธ์เพลงและอำนวยเพลงโดย ผศ.เดชน์ คงอิ่ม ออกแบบและอำนวยการแสดงโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธ์
การแสดงทั้งหมดมีความยาวประมาณ 3 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 9 ฉากใหญ่ ดังนี้
ฉากที่ 1 พระมหาชัยชนะ ต่อ พระยามาราธิราช
ฉากที่ 2 พระมหาชัยชนะ ต่อ พระยาอาฬวกยักษ์
ฉากที่ 3 พระมหาชัยชนะ ต่อ ช้างนาฬาคีริง
ฉากที่ 4 พระมหาชัยชนะ ต่อ องคุลีมาล
ฉากที่ 5 พระมหาชัยชนะ ต่อ นางจิณจมาณวิกา
ฉากที่ 6 พระมหาชัยชนะ ต่อ สัจจกนิคนถ์
ฉากที่ 7 พระมหาชัยชนะ ต่อ นันโทปนันทนาคราช
ฉากที่ 8 พระมหาชัยชนะ ต่อ พกพรหม
ฉากที่ 9 พระมหากรุณาธิคุณ

สำหรับงานนี้ อาจารย์ดร.อภิณัฏฐ์ ย้ำว่า เป็นการแสดงที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ และงานนี้จัดอย่างที่จะกล่าวได้ว่า ฟังแบบ เป็นบุญหู ดูเป็นบุญตา เจริญใจในพุทธศาสนา และยินดีในความเป็นคนไทย สำหรับผู้ที่สนใจและอยากจะเข้ามาร่วมชมงานการแสดงดนตรีไทยพรรณนาครั้งนี้ สามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ชมรมชีวานุภาพ มีเพียงรอบเดียว ในวันที่ 26 พ.ค. 2549 งานเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่คุณอรพิน 0-9893-6622 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น