กล่าวถึง ‘พระพุทธรัตนสถาน’ อาคารทรงไทยชั้นเดียวประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง น้อยคนนักที่จะจินตนาการเห็นภาพ ว่ามี ลักษณะหน้าตาเป็นเช่นไร หากไม่เคยไปค้นดูภาพตามหนังสือหรือตำราต่างๆ
แต่สำหรับใครที่ได้ไปชม‘นิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริ’ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ. เจ้าฟ้า ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม-13 มิถุนายน 2549 ซึ่งกรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ไม่เพียงจะจินตนาการเห็นภาพอาคาร พระพุทธรัตนสถาน ทุกคนยังเกิดความรู้สึกปลาบปลื้มในพระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปกรรมของพระองค์ท่านไปพร้อมกันด้วย
เพราะนอกจากนิทรรศการจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและความสำคัญของพระพุทธรัตนสถานพร้อมกับมีภาพ ถ่ายจิตรกรรมฝาผนังขนาดเท่าจริงมาจัดแสดงทดแทนการที่ผู้ชมไม่มีโอกาส ได้เข้าไปชื่นชมในสถานที่จริง รวมถึงมีภาพร่าง ภาพระบายสี และขั้นตอนการทำงานตลอดระยะเวลา 10 ปี
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกระแสและพระราชวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับกรมศิลปากร มานำเสนอให้ผู้ชมนิทรรศการได้รับทราบ
จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ถือเป็นจิตรกรรมฝาผนังแนวไทยประเพณีแห่งยุครัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวการทำงานและแนวลักษณะศิลปกรรมอย่างใกล้ชิด
นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภชน์วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ.2535 ได้ตรัสกับนาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ครั้งยังไม่ได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร) ว่ามีพระราชประสงค์ให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานขึ้นใหม่ แทนภาพจิตรกรรมฝาผนังในส่วนที่เขียน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2504 (อันเป็นเรื่องราว พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงปี พ.ศ.2488 -2499)
ด้วยทรงเห็นว่าไม่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 (อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระประธาน
ในพระอุโบสถ) กระทั่งกรมศิลปากรรับพระราชกระแสมาดำเนินการ
ในเบื้องต้นเนื้อหาของเรื่องที่กรมศิลปากรได้กำหนดเพื่อการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น ไม่ต้องพระราชประสงค์ กรมศิลปากรจึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับแนวการเขียนภาพให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2542
นับจากนั้นเป็นต้นมา กรมศิลปากรได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอีก 3 ครั้ง โดยนำภาพร่าง ภาพลายเส้น และภาพลงสี ทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร
ในทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนว พระราชดำริ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ราชประเพณี พระพุทธศาสนา โดยให้ยึดความสำคัญของพระพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ
ทรงแก้ไขภาพร่างทุกภาพอย่างละเอียดทุกขั้นตอน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและปลื้มปีติแก่ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อกรมศิลปากรได้รับพระราชทานแนวพระราชดำริแล้ว จึงเขียนภาพลงสู่ผนังจริง ซึ่ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 โดยบทสรุปของการกำหนดเรื่องเพื่อการ เขียนจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวของเหตุการณ์สำคัญๆที่เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาใน‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ อย่างแนบแน่นและทรงสร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นเพื่อ เป็นที่ประดิษฐาน จนเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในรัชกาลต่อๆมาเสด็จ พระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอมา
จิตรกรรมฝาผนังมีทั้งหมด 8 ช่อง (1 ช่องมีขนาดกว้าง 4 ฟุต สูง 8 ฟุต) เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญๆในสมัยรัชกาลที่ 4 จำนวน 2 ช่อง, สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 8 รัชกาลละ1 ช่อง และสมัยกาลที่ 9 จำนวน 2 ช่อง ทุกช่อง ยกเว้นช่องที่ 7 มีภาพอาคาร พระพุทธรัตนสถานปรากฏอยู่ทุกช่อง และแต่ละช่องมีเหตุการณ์สำคัญเล่าไว้ด้วยภาพมากกว่า 1 เหตุการณ์
ตัวอย่างเหตุการณ์ในแต่ละช่อง เช่น
ช่องที่ 1 เป็นบรรยากาศของความขะมักเขม้นในภารกิจของบรรดาช่างทั้งหลายที่ทำ การก่อสร้างพระพุทธรัตนสถาน
ช่องที่ 2 เป็นบรรยากาศของการอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยมาประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน
ช่องที่ 3 เป็นเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แปลงพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ เพื่อทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานจึงถือเป็นพระอุโบสถประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในรัชกาลต่อๆมาทรงใช้เป็นสถานที่ผนวช
ช่องที่ 4 เล่าเหตุการณ์ตอนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ณ พระที่นั่งบรมพิมาน แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาสักการะพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
ช่องที่ 5 เป็นบรรยากาศการเวียนเทียนในการพระราช กุศลวิสาขบูชาร่วมกับฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ พระอุโบถพุทธรัตนสถาน ทรงให้เยาวราชวงศ์ร่วมงานพระราชทานเลี้ยง และแจกหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งประกวดเป็นประจำทุกปี
ช่องที่ 6 เล่าถึงช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระอนุชาธิราช ได้เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทย ด้วยเครื่องบิน พระราชพาหนะ พร้อมทั้งเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งและเยาวราช เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และช่วงเวลานี้ที่สงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสียหายให้แก่พระพุทธรัตนสถาน
ช่องที่ 7 เป็นภาพของเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเหตุการณ์ของพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525
ช่องที่ 8 ภาพตอนบนเป็นการเล่าถึงโครงการพระราชดำริ เรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง ต่อด้วยภาพการเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคลในมหามงคลทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ตอนกลางภาพเล่า ถึงช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี และภาพตอนล่างสุด คือเหตุการณ์พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ของกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ล้วนแต่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางศิลปะ และเป็นแนวทาง ให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรม มีมากมายหลายเรื่อง อาทิ พระราชดำริเรื่องภาพจิตรกรรมที่เหมือนจริงและพระราชดำริการสร้างเอกภาพทางฝีมือ
มีพระราชกระแสให้เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญฯลฯ ในเหตุการณ์ ราชประเพณี โดยมีฉลองพระองค์และเครื่อง แต่งกาย การไว้ทรงผมตามสภาพความเป็นจริงและตามประวัติศาสตร์ของแต่ละสมัย ซึ่งจิตรกรได้ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และไม่เคยปรากฏในจิตกรรมไทยแบบประเพณีมาก่อน
จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 8 ช่อง เสมือนเป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นด้วยจิตรกรคนเดียวกัน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเขียนถึง 20 กว่าคน โดยจิตรกรแต่ละคนจะเขียนตามความถนัดเฉพาะด้าน เช่น เขียนภาพพระพุทธรัตนสถาน เขียน ภาพคน เขียนภาพพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ อาคารบ้านเรือน ทิวทัศน์ ต้นไม้ ยานพาหนะ ก็จะเขียนภาพเหล่านี้ไปทุกช่อง
เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรากฏใน ‘นิทรรศการจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ’ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงในต่างจังหวัดอีก 4 แห่ง(พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี, หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จังหวัดนครราชสีมา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง จังหวัดภูเก็ต) ใน ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2549 ภายหลังจากเสร็จสิ้น การแสดงที่กรุงเทพฯ และทุกสถานที่ดังกล่าวมีหนังสือชุด 3 เล่มชื่อ ‘จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนว พระราชดำริ’ ซึ่งกรมศิลปากรจัดทำขึ้นจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยในหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังที่ถือเป็นจิตรกรรมฝาผนังแนวไทยประเพณีแห่งยุค รัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง
รู้จัก ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’
พระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเทียบได้กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)
ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานกล่าวว่ามีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน
สมัยอยุธยาตอนปลาย พราน 2 คน ไปพบและเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงไปบนบานขอให้ดลบันดาลให้ได้สิ่งที่ปรารถนา สุดท้ายได้อัญเชิญเก็บไปรักษาไว้ที่บ้าน ระหว่างที่คอนองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวากระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย
จนถึงสมัยกรุงธนบุรี เจ้าไชยกุมาร เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวว่าพรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใสขนาดใหญ่ พุทธลักษณะงดงามหาที่ติไม่ได้ จึงได้ขอพรานนำไปเก็บรักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์โดยสร้างวิหาร ขึ้นประดิษฐาน ถึงสมัยที่นครจำปาศักดิ์ย้ายมาตั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ จึงสร้างวิหารขึ้น ประดิษฐานพระพุทธรูปใหม่
พุทธศักราช 2354 เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้ข้าหลวงออกไป ปลงพระศพ ข้าหลวงได้เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวที่งดงามมาก ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงคิดว่าไม่สมควรจะเก็บรักษาไว้ที่เมืองซึ่งตั้งอยู่ชายแดน
เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์และชาวเมืองเห็นชอบให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบและมีพระราชหฤทัยปราโมทย์ยินดียิ่ง จึงจัดเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกไปรับถึงเมืองสระบุรี ขณะล่องแม่น้ำมาจัดให้มีการสมโภชอยู่หลายแห่ง กระทั่งได้ตั้งกระบวนพยุหยาตราสถลมารคแห่ไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 3 เดือน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างเจียระไนแก้วเป็นรูปลายพระกรรณนำไปติดปลายพระกรรณที่ชำรุดบิ่นให้สมบูรณ์ พร้อมกันนี้โปรดให้ตกแต่งประดับองค์พระพุทธรูปใหม่ แล้วโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุลาลัยพิมาน ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธรูปองค์นี้อย่างยิ่ง จึงโปรดให้ช่างใช้เพชรเม็ดใหญ่ประดับฐานให้สวยงามขึ้น พร้อมทำฉัตรขึ้นใหม่ด้วยทองคำประดับพลอยตลอดทั้ง 5 ชั้น แล้วทรงถวายพระนามว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ โปรดให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระมณฑปบุษบก ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำพิธีฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร 4 วัน 4 คืน
ต่อมาได้โปรดให้สร้างวิหารพระพุทธรัตนสถานขึ้น แล้วอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ฯ ,พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ไปประดิษฐานไว้
พระพุทธบุษยรัตน์ฯ และวิหารพระพุทธรัตนสถาน จึงมีความสำคัญและความเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆมาทุกพระองค์จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
จึงเป็นที่มาของการกำหนดเนื้อหาการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามแนวพระราชดำริในที่สุด