xs
xsm
sm
md
lg

Go to ธรรมะอย่างเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่ง‘วิสาขบูชา’ และเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เหนืออื่นใดนอกจากจะจำวันเดือนปีปฏิทินกันได้ หรือศึกษาวันสำคัญทาง พุทธศาสนากันแบบประวัติศาสตร์ ประเพณีกันแบบที่ถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กๆ เราน่าจะใช้โอกาสนี้ หรือวันสำคัญนี้หันมาชวนกันศึกษาธรรมะ และเข้าใจวันสำคัญทางพุทธศาสนาให้ลึกลงไปกว่าการเป็นแค่วันสำคัญวันหนึ่งในปีปฏิทิน
‘ธรรมลีลา’ได้หยิบยก แง่คิด คำแนะนำจากหลากหลายบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมในการเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาและพยายามนำมาใช้และปฏิบัติกับชีวิตของเขา เพื่อให้ เกิดความสุข สงบ และเข้าใจชีวิต มาแบ่งปันแด่ผู้อ่าน เพื่อเดือนแห่งวิสาขบูชานี้จะนำ พาหัวใจหลายๆ ดวงให้กลับมาพบธรรมะ และแสวงหาปัญญาที่แท้จริง เพื่อที่จะนำมา ใช้ในการเผชิญชีวิตในสังคมได้อย่างเข้าใจและสุขสบายมากขึ้น
‘อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้กล่าวไว้เมื่องานเปิดตัวหนังสือ ‘ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส’ ว่า บทบาทของจิตใจคนคือ การรู้สึกนึกคิด ว่ามันทำหน้าที่อย่างไร และหมั่นดูหมั่นฝึกมันจะกลายเป็นปัญญา ที่
สำคัญถ้าเข้าใจ ขันธ์ห้าได้แล้ว เราก็จะเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนาทั้งหมด
นอกจากนั้นท่านแนะนำว่า ถ้าหากพุทธศาสนาต้องศึกษาจากพระไตรปิฎกแล้วก็ควร จะต้องศึกษางานของท่านพุทธทาสเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะงานของท่านพุทธทาส เปรียบเสมือน ‘ปิฎกที่สี่’ ที่จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนามากขึ้น
สำหรับคนที่เมื่อตั้งใจจะศึกษาธรรมะแล้วก็ไปเข้าใจว่าจะต้องอ่านพระไตรปิฎกกันทั้งตู้นั้น ‘พระดุษฎี เมธังกูโร’ จากวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร อธิบายว่า การศึกษาธรรมะไม่ต้องอ่านพระไตรปิฎกทั้งตู้หรือไม่ต้องอ่านทั้งเล่มก็ได้ อ่านเพียงบางหน้าหรือบางบท แล้วก็เอาส่วนที่ประทับใจมาปฎิบัติให้ได้ก็จะช่วยได้มาก
“ธรรมะอุปมาเหมือนคนที่หลงป่ามาแล้วหิวน้ำ ดังนั้นน้ำที่เขาต้องการจะกินก็แค่แก้วสองแก้วให้เขามีชีวิตรอดได้ สำหรับคนขาดน้ำนานๆ แต่ไม่ใช่ว่าให้เขากินน้ำทั้งบึงทั้งโอ่ง เช่นเดียวกับเวลาที่เราเห็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ๆ เราก็ท้อแท้เสียแล้ว แล้วก็เอาไว้ก่อน และก็เก็บหนังสือนั้นไว้จนกระทั่ง เราแก่ เจ็บ หรือตายไป โดยไม่ได้เปิดอ่านเลย”
ในเรื่องของการปฏิรูปพุทธศาสนาให้กับคนไทยนั้น พระดุษฎีกล่าวว่า จะแค่ทำดีเว้นชั่วไม่พอ จะต้องต่อยอดขึ้นไป จะต้องเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาด้วย
ท่านยังอธิบายต่อว่า สมัยนี้พิษภัยของโลกบริโภค นิยมชัดเจนมาก ยิ่งมีคอมพิวเตอร์มาก เรายิ่งปวดหัว ยิ่งมีไฟฟ้ามากโลกจะยิ่งมืดมน ความสว่างจะทำให้เรา มืดบอด แต่ถ้าเราสว่างจากในใจของเรา เราเข้าใจตัวเราเอง เราเข้าใจมนุษย์คนอื่น คนเรามีค่าที่สุดที่จิตใจ จงหาแก้วมณีที่อยู่ในตัวเราเอง อย่างในของทิเบต ที่ เขาภาวนา ‘โอม มณีปัทเมหุง’ คนเรามีค่าที่สุดก็ที่ใจ ร่างกายอีกไม่กี่ปีก็ตาย ไม่นานก็เน่าเหม็น แต่จิตใจที่ดีงาม จิตใจที่มีค่าก็จะมีปัญญา เพราะฉะนั้นเราจะต้องแสวงหาปัญญา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่าที่จะมาปลุกให้เราตื่น
ปัจจุบันนั้นคนรุ่นใหม่ก็กลับมาให้ความสนใจกับการศึกษาธรรมะกันอย่างมากขึ้น แม้แต่ดารา นักแสดง นักร้องก็เข้าหาธรรมะเพื่อเป็นทางออก
สำหรับคนรุ่นใหม่นักแสดงสาวอย่าง น้ำผึ้ง ‘ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์’ เล่าว่า เธอไม่เคยคิดว่าธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์เลย จนกระทั่งได้ฟังท่านพุทธทาสพูด ฟังรอบแรกไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายก็เปิดเทปฟังไปเรื่อยก็เริ่มเข้าใจ
“ธรรมะไม่ใช่เป็นรูปแบบ ไม่ใช่ต้องนุ่งขาวห่มขาว หรือจะต้องถืออะไร ไม่ต้องถืออะไรเลย แต่ที่สำคัญคือต้องปล่อย” น้ำผึ้งกล่าว
นอกจากนั้นเธออธิบายว่า ท่านพุทธทาสกล่าวเสมอว่า ธรรมะไม่เป็นแม้กระทั่งปรัชญา หรือการตั้งคำถามคำตอบ แต่เป็นสิ่งที่เป็นเหตุผลทางวิทยา-ศาสตร์ ไม่ใช่อะไรที่มานั่งงมงาย เหมือนกับท่านมารื้อใหม่ มาปัดกวาด มาล้างให้สะอาด เอาแต่แก่นมา บอก ถ้าไม่เจอหนังสือ‘คู่มือมนุษย์’ เธอคงยังไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้รู้ว่า พุทธศาสนามีแก่นธรรมที่น่าสนใจ
“ที่สะดุดใจน้ำผึ้งมากคือ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าเชื่อจนกว่าจะได้ลองทำ แล้วรู้แจ้งด้วยตัวเอง”
‘คุณไพบูลย์ บุนนาค’ ก็เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง ที่หันมาศึกษาธรรมะ ซึ่งเขาอ่านหนังสือ‘บรมธรรม’ ของท่านพุทธทาสตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นม.3
“ตอนที่อ่านหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส ตอนนั้นยังเด็กมาก ตอนม.3 เรากำลังสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่ ตอนเด็กนั้นความรู้ของเราเองเข้าใจว่า เรื่องพุทธศาสนา ก็คือ ศีลห้า ไหว้พระ เรื่องสวรรค์และนรกเท่านั้น พอตอนเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็มีความตื่นเต้น ผมจำได้ว่าผมอ่านเรื่องบรมธรรม ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน อ่านแล้วก็ตื่นเต้น เจอศัพท์ใหม่ๆ แปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่นคำว่า ‘สุญญตา’ เจอคำว่า ‘ตัวกูของกู’ เจอคำว่า ‘ความว่าง’ ผมก็ตามอ่านมาตลอด”
ปัจจุบันนี้เราสามารถศึกษาธรรมะได้ทุกที่ทุกเวลา เช่นในละครทีวี คุณไพบูลย์บอกว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นรัก โลภ โกรธหลง และความยึดมั่นถือมั่นและความทุกข์ได้อย่างชัดแจ้ง และธรรมะนั้นนอก จากจะศึกษาแล้วก็จะต้องปฏิบัติและเรียนจากของจริง
นอกจากนี้คุณไพบูลย์ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องเสื้อตัวโปรด ที่ทำให้เขาเห็นเรื่องความอนิจจังและตัวกูของกูได้เป็นอย่างดี
“จำได้ว่าตอนเรียนหนังสือนั้น เพิ่งซื้อเสื้อมาใหม่ ตัวหนึ่ง แล้วเพื่อนก็มาขอยืมไปใส่ แต่เราก็รู้สึกว่าไม่ อยากให้ แต่ใจก็คิดเหมือนกันว่าเพื่อนรักเราทำไมเรา ให้เขายืมไม่ได้ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เสื้อตัวนั้นมันก็ กลายมาเป็นผ้าขี้ริ้ว เห็นเสื้อตัวนี้ทีไรก็หวนคิดไปถึง ตอนนั้นว่าเพื่อนรักมาขอยืมไปใส่เราหวงไว้ไม่ให้เขา ยืม มาตอนนี้ไอ้เสื้อตัวนั้นที่เราเคยหวงก็กลายเป็นผ้าขี้ริ้วไปแล้ว ก็ได้เห็นอนิจจังว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยง วันหนึ่งของที่เคยรักเคยหวงเวลาผ่านไปก็ไม่ใช่แล้ว” คุณไพบูลย์สรุป
ทางด้าน‘ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อภิณัฏฐ์ กิติพันธ์’ ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่หันมาศึกษาและเอาจริง เอาจังกับพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมศึกษามาทางวิศวกรรมศาสตร์ และบริหาร แต่สุดท้ายก็พบว่าศาสตร์ที่น่าสนใจและตอบคำถามตัวเองได้ดีที่สุดก็คือ พุทธศาสตร์
“ตอนนั้นเราถูกหลอกว่าความรู้ที่เราเรียนมานั้นมันดีที่สุดในยุคนั้น แต่ถ้าเราทิ้งสักพักเราจะรู้ว่ามันไม่เหลืออะไรแล้ว ถ้าเราหยุดมันจะเป็นศูนย์ทันที ไม่ว่าจะเกียรตินิยมแค่ไหนก็ตาม ในสายตาวัยรุ่นตอน นั้นเราดูถูกคนที่เรียนคณะอื่นๆ ว่ากระจอกกว่าเยอะ แต่พอมาดูที่เราเรียนมา เรียนเกือบตาย สุดท้ายมันก็ตัน”
ดร.อภิณัฎฐ์ แนะนำว่า สำหรับผู้ที่เริ่มมาศึกษาธรรมะนั้นอย่าตั้งเป้าหมายสูงเกินไป ไม่ต้องขนาดไป ตั้งโจทย์ถึงการบรรลุธรรม และคำว่าศึกษาธรรมะก็ไม่ใช่แต่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่แค่ไหว้พระสวดมนต์แค่นั้น เรียนสมาธิ ต้องเริ่มจากเรียนปริยัติก่อน เรียนจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีมากคือ ข้ามปริยัติไปปฏิบัติเลย มันก็เหมือนไม่รู้ประเทศนั้นแล้วยังเผาแผนที่ทิ้งอีก
“พระพุทธเจ้าสอนเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ บางที่เขาสอนกันถึงกันว่า อย่าปฏิบัติ ถ้ายังไม่ชัวร์ในปริยัติ พิจารณาไปแล้วจริง ตอนหลังก็รณรงค์ให้คน ศึกษาพระสูตรให้มาก และทำหนังสือกระตุ้นเรื่อง วิสุทธิมรรค แจกไปตามสถานศึกษาของพระ และคน ทั่วไป วิสุทธิมรรค เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการขยายความ เข้าใจของศีล สมาธิ และปัญญา จากประโยคสั้นๆ ของพระพุทธเจ้า แต่คนในยุคเราอ่านแล้วจะอ่านผ่าน เลย ท่านพระพุทธโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ)นั้นท่าน อ่านแล้วท่านขยาย ถ้าใครได้อ่านแล้วจะเข้าไปหาพระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น” อาจารย์อภิณัฏฐ์อธิบาย
สำหรับเรื่องศัพท์ธรรมะที่หลายคนอดวิตกกังวลไม่ได้ ดร.อภิณัฏฐ์ อธิบายว่า เมื่อเดินเข้ามาในถนนสายนี้มากๆ คุณจะพบว่า จะต้องมาทำความเข้าใจใน เรื่องศัพท์เยอะ ครึ่งหนึ่งของการเรียนต้องเรียนเรื่อง ศัพท์ให้เกิดความเข้าใจ เพราะโดยคำเดียวของศัพท์นั้นมันมีหลายแบบ และใช้ต่างกัน
ส่วนพระไตรปิฎก ศึกษาไปแล้วก็ไม่ควรไปติดที่พระไตรปิฎกในคำเหมือนท่องตำรา ซึ่งอาจารย์แนะนำต่อว่า กระบวนการเรียนพระไตรปิฎกนั้นสำคัญ เราต้องเรียนไปเพื่อความเข้าใจในการตอบโจทย์ตัวเอง เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกไม่ได้เรียนเพื่อจำให้มาก
“ผมใช้คำว่าเรียนพระไตรปิฎก แบบฉบับประชาชน ฉบับประชาชนไม่ได้แปลว่าย่อนะ แต่ต้องเอาปัญหาของประชาชนมารวบรวมว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร แล้วผูกโยงให้ได้”
ดร.อภิณัฏฐ์ อธิบายเรื่องการเรียนทางโลกกับทาง ธรรมว่า ธรรมะมันเป็นสิ่งเกื้อกูล มีศีล มีศรัทธาเป็น อริยทรัพย์ การเรียนทางโลกกับเรียนทางธรรมมันไม่ เหมือนกัน เรียนทางโลก อาศัยทิฐิ แต่เรียนทางธรรม อาศัยศรัทธา ถ้าเชื่อในพระธรรมแล้วบอกพระพุทธเจ้าไม่มีจริง นี่เสร็จเลย กลายเป็นเทวนิยมไปเลย กลายเป็นเรื่องแต่ง พังหมด แต่ถ้าเราถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าองค์เดียวนี่ยาวมาถึงศีลเลย หมดเลย เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และต้องปฏิบัติจึงเห็นจริง
“ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ต้องปฎิบัติถึงจะเห็นจริง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวในโลกที่สอนให้ ทำจิตให้ผ่องใส เพราะตัวทำจิตให้ผ่องใส เป็นตัววัดว่า ทำดีจริง หรือไม่จริง ชั่วจริง หรือไม่จริง
ผมอยากระดมให้หันมาเรียนรู้ให้มาก โดยไม่ยึด ติดกับครู ติดในพระธรรมดีกว่า ผมเคยบอกคนว่า เวลาฟังพระเทศน์นั้น ให้พิมพ์ออกมาแล้วปากกาไฮไลท์ขีดว่าตรงกับพระพุทธเจ้าสอนกี่คำ ถ้าไม่ถึงสิบ คำเลิกฟังเลย เสียเวลาที่ฟัง อ่านพระสูตรที่แปลความ ไม่ได้ก็ยังได้บุญมากกว่า เพราะเป็นการสั่งสมอุปนิสัย ให้เกิดการศึกษามากขึ้น” ดร.อภิณัฎฐ์ สรุป

สารธรรมสำคัญที่ควรน้อมนำปฏิบัติ
คณะอนุกรรมการส่งเสริมการศาสนาและจริยธรรมในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดสารธรรมสำคัญที่ควรน้อมนำปฏิบัติเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันวิสาขบูชา ดังนี้
๑. ความกตัญญู ความกตัญญูที่พึงปฏิบัติควบคู่กับความกตเวที กตัญญูคือรู้คุณ กตเวทีคือตอบแทนคุณ ในฐานะที่พึงปฏิบัติต่อกันและกันดังนี้
พุทธบริษัท มีหน้าที่ตอบแทนคุณพระพุทธเจ้าด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ลูก มีหน้าที่ตอบแทนคุณพ่อแม่ ศิษย์ มีหน้าที่ตอบแทนคุณ ครูอาจารย์ พสกนิกร มีหน้าที่ตอบแทนคุณพระมหากษัตริย์
๒. อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ที่เป็นจริงไม่ผันแปรแก่ทุกชีวิต และจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อดำรงตนตามหลักอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ ได้แก่ สภาพปัญหาของชีวิต อันได้แก่ กิเลสที่มาในทุกรูปแบบ โดยมีรูปแบบใหญ่ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ได้แก่ความทุกข์พื้นฐานคือการเกิด แก่ ตาย ทุกข์ ที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก อยากได้สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ ชีวิตจึงเป็นก้อนแห่งความทุกข์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นรูปร่างสังขาร
สมุทัย ได้แก่ มูลฐาน มูลเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายที่กล่าวมา คือ ตัณหาความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ‘เมื่อความอยาก เข้ามาเป็นนาย มนุษย์จึงต้องกลายเป็นจำเลยของความทุกข์’
นิโรธ คือ เป้าหมายที่สลายปัญหา ความหวังตั้งมั่นในการกำจัดความทุกข์ให้จงได้ โดยลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
มรรค คือ หนทาง และเครื่องมือนำไปสู่การแก้ปัญหา เมื่อไฟไหม้ ก็ต้องทำให้ไฟดับ กิเลส ตัณหา คือความทุกข์ที่เผาไหม้ไม่รู้จบหากไม่รีบดับด้วยการ ดำเนิน หรือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติง่ายๆ คือทำอะไรให้ตั้งอยู่ในทางสายกลาง
๓. ความไม่ประมาท ดังได้กล่าวความสำคัญไว้ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า พระพุทธองค์ ได้ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาท โดยมีใจความสำคัญคือ ‘ความไม่ประมาท’ ความไม่ประมาทคือ การมีสติ เสมอทั้งขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด ไม่เลินเล่อ ไม่เผลอพลั้ง ระวังตัว ทำกิจทุกอย่างด้วยสติ ถือคติว่า ‘สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา สติเหมือนฐาน ปัญญาเหมือนยอด ทำอะไรให้รอบ คอบ เป็นผู้ใหญ่ให้ดูแลผู้น้อย เป็นผู้ด้อยให้คอย สังเกตผู้ใหญ่ที่ทำดี ทุกชนชั้นอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ถ้าทำอะไรอย่างประมาท ย่อมพบกับความพินาศทันตา พุทธศาสนสุภาษิตที่ควรท่องติดตัวตลอดเวลาคือ ‘อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ’ อย่าประมาท อย่าประมาท...’

เรียนธรรมะกับเรียนปรัชญา

เรียนอะไร ถ้าเรียน อย่างปรัชญา
ที่เทียบกับ คำว่า ฟิโลโซฟี่ส์
ยิ่งพลาดจาก ธรรมะ ที่ควรมี
เพราะเหตุที่ ยิ่งเรียนไป ยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่าง คำนวณสิ่ง ไม่มีตัว
สมมุติฐาน เอาในหัว อย่างครึ้มครึ่ม
อุปมาณ อนุมาณ สร้างทึมทึม
ผลออกมา งึมงึม งับเอาไป
เรียนธรรมะ มีวิถี วิทยาศาสตร์
มีตัวธรรม ที่สามารถ เห็นชัดใส
ไม่คำนวณ หากแต่มอง ลองด้วยใจ
ส่องลงไป ตามที่อาจ ฉลาดมอง
จะส่วนเหตุ หรือส่วนผล ผลประจักษ์
เห็นตระหนัก ว่าอะไร อย่างไรสนอง
แก่คำถาม แจ้งถนัด ชัดทำนอง
ตามที่ต้อง ปฏิบัติ ชัดลงไปฯ
พุทธทาส ภิกขุ

เราถือศาสนาอะไรกันแน่

ศาสนาโบสถ์วิหาร การวัดวา
ศาสนา คือพระธรรม คำสั่งสอน
ศาสนา ประพฤติธรรม ตามขั้นตอน
ศาสนา พาสัตว์จร จวบนิพพาน
ศาสนา เนื้องอก พอกพระธรรม
ศาสนา น้ำครำ ของเป็ดห่าน
ศาสนา ภูตผี พานิชการ
ศาสนา วิตถาร กวนบ้านเมือง
ศาสนา ใหม่ใหม่ ร้ายกว่าเก่า
ศาสนา ของพวกเจ้า โจรผ้าเหลือง
ศาสนา ปัจจุบัน พันการเมือง
ศาสนา มลังเมลือง เมืองคนเย็นฯ
พุทธทาสภิกขุ
กำลังโหลดความคิดเห็น