xs
xsm
sm
md
lg

มองปัญหาด้วยปัญญา : ใครคือสัตบุรุษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปุจฉา
ใครคือสัตบุรุษ


สัตบุรุษคืออะไร ใครถึงจะจัดได้ว่าเป็นสัตบุรุษ หลักคำสอนที่ว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมหมายความว่าอย่างไร ปัจจุบันยังเป็น จริงหรือไม่ คุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมของผู้กำลังศึกษาคืออะไร

วิสัชนา

สัตบุรุษ คือบุรุษผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ หรือ บุรุษผู้มีคุณสมบัติผู้ดี มี 7 อย่าง

1. รู้จักเหตุ เรียกว่า ธัมมัญญุตา
2. รู้จักผล เรียกว่า อัตถัญญุตา
3. รู้จักตน เรียกว่า อัตตัญญุตา
4. รู้จักประมาณ เรียกว่า มัตตัญญุตา
5. รู้จักกาล เรียกว่า กาลัญญุตา
6. รู้จักสังคม เรียกว่า ปริสัญญุตา
7. รู้จักบุคคล เรียกว่า ปุคคลัญญุตา

คนที่มีธรรมทั้ง 7 ดังกล่าวนี้ จึงได้ชื่อว่าสัตบุรุษ

ผู้มีธรรมย่อมต้องตั้งมั่นอยู่ได้ ทั้งอารมณ์ชอบ และชัง เพราะผู้ที่ตกอยู่ในอารมณ์ชอบจะเกิดความเมา ประมาท ขาดสติ อาจทำพูดคิดผิด ผู้ที่ตกอยู่ในอารมณ์ชัง อาจเผลอแสดงกิริยาน่ารังเกียจ จนกลายเป็นคนผิด คนเลวในสังคม ค่านิยมของผู้กำลังศึกษาในปัจจุบัน มักจะคล้อย ตามวัตถุนิยม และความฟุ่มเฟือย ลื่นไหลไปตามแฟชั่น สุดท้ายค่านิยม เหล่านั้นก็กลับมาล้างผลาญตนเอง ล้างผลาญเศรษฐกิจ อนาคต และแม้กระทั่งชีวิต

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคนรุ่นใหม่เดินตามก้นต่างชาติมากเกินไป จนลืมชีวิตไทยๆ ซึ่งเต็มพร้อมไปด้วย ความละอายชั่วกลัวบาป นี่เรียกว่า คุณธรรม จริยธรรมคือการลงมือ ปฏิบัติดี พูดดี คิดดี

ปุจฉา
เจอคนเอาเปรียบ


นมัสการหลวงปู่ อยากจะเรียน ถามท่านว่า จิตใจที่มีธรรมะคือจิตใจ ที่มีเมตตา แต่ถ้าเราเจอคนที่เขาเอาเปรียบเรา แล้วเราไม่ยอมให้เขาเอาเปรียบเราได้แสดงว่าเราไม่มีเมตตาใช่หรือไม่ และเราควรจะยอมให้เขาเอาเปรียบดี หรือไม่ยอมดี เพราะว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

วิสัชนา

มันไม่ได้เกี่ยวกันหรอกคุณ การเจริญเมตตาจิต ไม่ใช่หมายความว่า ต้องมีชีวิตอยู่เพื่อให้คนอื่นเอาเปรียบ การที่คุณไม่คิดที่จะเอาเปรียบใครแม้มีโอกาส และไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบคุณ ก็จัดว่าเป็นเมตตาด้วยเหมือนกัน

คุณลองคิดดูสิว่า คนที่เขาเอาเปรียบคุณ แล้วในที่สุดเขาจะต้องได้ รับผลกรรมอย่างไร การที่คุณช่วยป้องกัน ไม่ให้เขาได้รับผลกรรมอันหนักในอนาคต เช่นนี้จะไม่เรียกว่า คุณมีเมตตาแล้วจะเรียกว่าอะไร ตรงกันข้าม คุณยอมให้คนอื่นเอาเปรียบทั้งที่รู้ แสดงว่าคุณกำลังทำร้าย เขาในอนาคต แถมยังไม่สงสารเขา แล้วยังโง่อ่อนแออีกต่างหาก อย่าทำ สาธุ สาธุ
กำลังโหลดความคิดเห็น