xs
xsm
sm
md
lg

สื่อธรรม : “สัมสาระ” สาระแห่งธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สัมสาระ” เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งหากเป็นภาษาบาลีที่ใช้กันในบ้านเราคือ “สังสาระ” หรือ“สังสาร” อันหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด
ภาพยนตร์ที่ขอนำมาพูดคุยกันในครั้งนี้มีชื่อว่า“สัมสาระ” (Samsara) กำกับการแสดงโดยผู้กำกับชาวอินเดีย Nalin Pan ถ่ายทำในเมืองลาดัก ในเรื่องนี้นอกจากจะได้เห็นภูมิประเทศอันสวยงามของลาดักแล้ว ก็ยังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวลาดักได้อย่างดี

ในแนวคิดของเรื่องนี้พูดถึงความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะไปเติมเต็มความปรารถนาของมนุษย์ได้ นอกจากมนุษย์จะเข้าใจคำว่า “พอ” แต่จะเข้าใจคำว่า “พอ” ได้นั้น ก็ต้องเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นเอง
เนื้อเรื่องก็มีว่า พระทิเบตนาม “ทะชิ” บวชมานาน วันหนึ่งเกิดไปเห็นลูกสาวพ่อค้าในหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อ“เปม่า” แล้วก็รู้สึกมีจิตปฎิพัทธ์ เกิดอยากจะสึกขึ้นมา เพื่อจะไปใช้ชีวิตแบบชาวโลกข้างนอก และในที่สุดก็ลาอาจารย์สึกออกไปแต่งงาน แต่ชีวิตย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีทั้งหนามกุหลาบด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อโลกภายนอกมีการแก่งแย่ง มีการเอารัดเอาเปรียบ อดีตพระที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทาง โลกมากนัก ก็ต้องมาจัดการกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้จนเกิดทุกข์ และในที่สุดวันหนึ่งก็มิอาจทน กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงความปรารถนาและตัณหาลึกๆในใจตน และชีวิตที่วุ่นวายไป ตามความเย้ายวนของโลก ดังนั้น การตัดสินใจที่สำคัญของตนเองก็คือ การหนีลูกหนีเมีย กลับไปบวชเป็นพระอีกครั้ง

ใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ต้องดูตอนจบให้ดีๆ เพราะให้แง่คิดอย่างบอกไม่ถูก ที่สุดผู้เขียน ได้แต่คิดว่า เราต่างก็ต้องปฏิบัติธรรมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรือนอกวัด ดีไม่ดีผู้ที่ต้องเผชิญโลกนอกวัดยิ่งต้องมีการปฎิบัติอย่างหนัก เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอกให้ได้ เช่นเดียวกับ “เปม่า” หญิงสาว ในเรื่องนี้

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อ “สัมสาระ” เหมือนกัน แต่เป็นในรูปแบบสารคดีของประเทศกัมพูชา ซึ่ง กวาดรางวัลมากแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Sundance film Festival, Hiroshima International film Festival รวมทั้ง American Film Festival และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

เรื่องนี้อาจจะหาดูยากหน่อยในเมืองไทย แต่ก็เลือกเอามาบอกเล่าไว้เป็นข้อมูล เพราะกัมพูชาก็เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับเรา ซึ่งเรื่องราวในสารคดีชุดนี้สะท้อนชีวิต ของผู้คน เด็ก ผู้หญิง คนเฒ่าคนแก่ ที่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างอดอยากในช่วงสงครามในกัมพูชา ซึ่งคำสอนทางพุทธศาสนาที่สั่งสอนกันมาแต่โบร่ำโบราณ นอกจากจะกลายเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่หลอมรวมอยู่กับคติความเชื่อแล้ว ก็กลายเป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ผู้คนเหล่านั้นผ่านคืนวันอันโหดร้ายและชะตากรรมของชีวิตไปได้
หนังสองเรื่องสองแง่มุม ทำให้เราได้คิดว่า ไม่ว่าจะโลกนอกวัด หรือโลกภายในวัด ที่สุดแล้ว ถ้าเรามีธรรมะ มันก็ไม่มีทั้งโลกนอกวัดและโลกในวัด เพราะทั้งสองก็คือโลกใบเดียวกันนั่นเอง

ปิดท้ายคอลัมน์ด้วยหนังสือส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเด็กเรื่อง “นิทานคติธรรม” ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดพิมพ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เนื้อหาดัดแปลงมาจากชาดก ๘ เรื่อง เกี่ยวกับการสอนไม่ให้โกหกหลอกลวง เน้นเรื่องความซื่อสัตย์ กตัญญูรู้คุณ นอกจากนี้เด็กๆ ยังสามารถระบายสีภาพการ์ตูนภายในเล่มได้ด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถขอรับได้ด้วยตนเอง ที่กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2441-4515
กำลังโหลดความคิดเห็น