xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

คุณค่าของทุกข์โดยธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาเหตุที่มนุษย์เราหลงติดอยู่กับความสุข และความทุกข์ที่เกิดแต่สิ่งภายนอกนั้น ก็เพราะมนุษย์หลงติดและเคยชินอยู่กับการกระทบที่มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่เป็นประจำ มนุษย์ เคยชินและเพลิดเพลินไปกับมัน จนในที่สุดก็ลืมมองเข้ามาข้างในจิตใจตนเองอันเป็นต้นเหตุหลักของสิ่งทั้งปวง ดังท่านผู้รู้บอกไว้ว่า โลกคือสิ่งที่เข้ามา กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นก็คือความ เป็นโลกก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้เท่านั้น การหลงโลก ก็คือหลงสิ่งเหล่านี้ อธิบายให้เข้าใจกระบวนการง่ายๆ ก็คือ เมื่อมีการกระทบ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือที่เรียกว่า ผัสสะ อันเกิดจากอายตนะภายนอก นั้น จิตใจของเราก็จะเข้าไปให้ความหมายกับมัน สร้าง ความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาตามประสบการณ์การเรียนรู้ ที่ผ่านมาในอดีตที่ประกอบไปด้วยความหลง ความ ไม่รู้จริงมาแต่เดิม ถ้าเป็นความพอใจ มันก็เกิดความ สุขแล้วก็ยึดถือที่จะเอามันไว้ ถ้าเป็นความไม่พอใจ มันก็จะเกิดความทุกข์แล้วก็ยึดถือมันอีก ที่จะไม่เอามัน ผลักไสมันออกไป ความสุข ความทุกข์ ความ พอใจ ความไม่พอใจ มันจึงเกิดขึ้นตรงการกระทบ หรือ ผัสสะนี้เอง จิตใจเป็นตัวเข้าไปสร้างความหมาย กับมัน แปลผลมันจนเกิดเป็นเรื่องต่างๆ มากมาย

สรุปกระบวนการง่ายๆ ก็คือ เมื่อมีผัสสะหรือ การกระทบเกิดขึ้น จิตใจของมนุษย์จะสร้างตัณหาขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ ความคิด ความทรงจำของตน โดยพื้นฐานแห่งความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความโง่เขลา อวิชชา แล้วก็ผลักดัน ผลักไสตนให้ดิ้นรน ตอบสนองด้วย วิธีการต่างๆ นานาเพื่อให้ได้ตามสิ่งที่มุ่งหวังปรารถนา ถ้าได้สมดังที่ใจปรารถนา ตนก็มีความสุข เกิดขึ้นที่ใจถ้าไม่ได้อย่างที่อยากก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นที่ใจได้เช่นกัน มันเป็นอย่างนี้ตลอด

สิ่งที่มนุษย์มุ่งหวังปรารถนาหรืออยากได้ จึง เป็นเพียงแต่ผลของการมองออกไปภายนอกเสียส่วนใหญ่ แล้วเกิดการยึดถือสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจาก การรับรู้หรือการกระทบทางอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งสิ้น และเมื่อจิตใจมนุษย์รับรู้อารมณ์ ต่างๆ เหล่านี้ มีการแปลผลจนเกิดเป็นความพอใจ หรือความไม่พอใจขึ้นในระดับหนึ่งก่อน ตามอำนาจ การปรุงแต่งของแต่ละคน แล้วก่อให้เกิดตัณหาความอยากขึ้น เมื่อมีความอยากความต้องการที่จะให้ได้หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ก็จะเกิดการ ดิ้นรนแสวงหาหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ ตอบสนองต่อความอยากนั้นซึ่งบนเส้นทางแห่งการ แสวงหาหรือการกระทำนั้นๆ จะมีความกลัวที่จะไม่ได้ดังปรารถนาแทรกซ้อนอยู่ ซึ่งก็ทำให้จิตใจเกิด เป็นทุกข์ บนขั้นตอนแห่งการกระทำจะมีการกระเสือกกระสนดิ้นรน อยากได้เร็วๆ บีบคั้นเข้าไป อีก ก็ทำให้เกิดทุกข์อีกเช่นกัน และถ้าบังเอิญโชคดีได้สมดังใจอยาก ก็จะมีความรู้สึกกลัวที่จะเสียสิ่งที่ได้นั้นไป กลัวจะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นซึ่งก็ทุกข์อีก และก็แน่นอนไม่มีสิ่งใดที่จะคงอยู่ได้ดังใจหมาย ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป พลัดพราก เสื่อมสลาย นั่นก็คือ ผลหรือสิ่งที่ทำให้สมอยากนั้นย่อมเปลี่ยนแปลง พลัดพรากไปในที่สุด นั่นก็คือเราก็ต้องทุกข์อีก รวมความแล้ว ตลอดวงจร หนึ่งของความอยากที่จะได้อะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้มีความสุข แม้จะได้สมหวังมันก็ยังเต็มไปด้วยความ ทุกข์ ในเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนที่สุด ยิ่ง ถ้าไม่ได้สมหวังก็เรียกว่ามีแต่ความทุกข์อย่างเดียว แล้วโอกาสแห่งความสมหวังของคนเรามันมีมากแค่ ไหนกัน? ที่มนุษย์เราอยากได้อะไรต่ออะไรกันมากมาย ความเป็นไปได้ที่จะสมหวัง กับโอกาสที่จะผิดหวัง อะไรมันจะมากกว่ากัน? แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ความอยากครั้งหนึ่งจะนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์มากกว่า? แล้วชีวิตที่เต็มไปด้วยความอยากอยู่ตลอดเวลานั้นมันจะประสบกับความสุขหรือความทุกข์กันแน่?

ความทุกข์เป็นสิ่งที่มาคู่กับความสุขอยู่เสมอ ความสุขความทุกข์ก็เกิดขึ้นที่เดียวกัน เป็นของคู่กันอย่างแยกได้ยาก เหมือนกับเหรียญสองหน้าที่ มีทั้งหัวและก้อย เหมือนกับมีดที่มีทั้งคมมีดและด้ามมีด เหมือนกับยาพิษที่เคลือบด้วยน้ำตาล เมื่อ ได้ความสุขหรือแค่เพียงอยากจะได้เท่านั้น ความทุกข์ก็ตามมาทันที ตามมากัดตามมาบีบคั้นไปเรื่อยๆ จวบจนจบกระบวนการของความอยากครั้งหนึ่งนั้นเลย มันจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ ควบคู่กันอย่างนี้อยู่เสมอ

ดังนั้น ถ้าเราเกลียดทุกข์ ไม่อยากประสบกับความทุกข์ หรือต้องการแก้ไขปัญหาของความทุกข์ที่มีกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวันของเรานี้ เราก็ต้องดูเข้ามาที่ต้นเหตุ ปัจจัยหลักหรือต้นกำเนิดของมัน นั่นก็คือจิตใจของเรา ความอยากที่เกิดภายในจิตใจเรานี่ล่ะ เป็นต้นเงื่อนของความทุกข์ความยุ่งยากทั้งหลายที่เห็นได้ง่ายที่สุด เราต้องแก้ตรงนี้ ปรับปรุงแก้ไขตรงนี้จึงจะได้ผล จึงจะจบ มิฉะนั้นถ้าเราแก้ไขผิดที่ ผิดเรื่อง แทนที่จะกำจัดทุกข์หรือลดความทุกข์ ก็กลับยิ่งเป็นการซ้ำเติมหรือเพิ่มเติมให้เกิดทุกข์มากขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้นนั่นเอง

แต่ยังมีคนบางประเภทซึ่งเป็นส่วนมากเสียด้วย ไม่รู้สึกหรือยอมรับว่าตนเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่ความจริงความทุกข์กำลังรุมเร้าอยู่ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เขามี ความด้านทุกข์ มีความรู้สึกด้านหรือชาชินต่อความทุกข์จนเฉยๆ กับความทุกข์ อันนี้ไม่ใช่การพ้นทุกข์ แต่เป็นเพราะได้รับความทุกข์อยู่เป็นประจำจนเกิดความชาชินจนไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เพราะทุกข์ มันเป็นกระบวนการปรับตัวของจิตใจเพื่อให้ทนต่อสภาพ เพื่อการเอาตัวรอด เหมือนกับคนที่เคยกินอาหารเผ็ดจัดอยู่เป็นประจำ พอมากินอาหารที่เผ็ดน้อยหน่อยหรือเผ็ดในระดับเดิมๆ ที่ตนเคยชินก็ไม่รู้สึกว่าอาหารนั้นมันเผ็ด มองโดยผิวเผิน การด้านทุกข์ดูน่าจะเป็นสิ่งดี เพราะทำให้เราไม่รู้สึกทุกข์กับบางเรื่องได้ แต่จริงๆ มันกลับเป็นอันตรายที่สุดเพราะมันไม่ได้เกิดจากปัญญา มันเกิดจากความชาชิน มันทำให้เราประมาทต่อทุกข์ไม่กลัวทุกข์

ความทุกข์โดยธรรมชาติแล้วมันไม่ใช่สิ่งอันตราย แต่มันกลับมีคุณค่าคือเป็นสิ่งที่คอยเตือนให้เราไม่ประมาท ตื่นตัวแล้วคอยเรียนรู้มันเพื่อหาทางหนีจากมันไม่ให้เป็นทุกข์ไปกับมันด้วยสติปัญญา แต่ความรู้สึกด้านต่อทุกข์นี่สิ กลับเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง มันทำให้เราประมาทนอนใจได้เท่าๆ กับความสุขเลย คนที่เคยทุกข์ระดับน้อยๆ แล้วตื่นตัวต่อทุกข์รีบหาทาง แก้ไขด้วยปัญญา ก็สามารถจะแก้ไขได้ง่ายแต่ต้นๆ เรียกว่าดับไฟแต่ต้นลม ตนก็ไม่ต้องเผชิญต่อทุกข์ หนักทุกข์ใหญ่นัก เพราะการเข็ดหลาบ รู้จัก ระแวดระวัง แต่คนที่ด้านต่อทุกข์ไม่ยอมตื่นตัวเพื่อ หาทางออก แล้วยังลุยก่อปัญหาก่อความวุ่นวายต่อ ไปอีก คนพวกนี้ก็ต้องเผชิญกับทุกข์ที่รุนแรงขึ้น หนักขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถจะด้านต่อมันอีกต่อไปได้ในที่สุด จนบางคนต้องไปหาทางออกในทางที่ผิดๆ อย่างน่าเศร้าใจ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ทุกข์ ทำความรู้จักทุกข์ รู้จักต้นเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง และพยายามหาทาง แก้ไขเพื่อให้หลุดพ้นไปจากทุกข์นั้นเสียแต่เนิ่นๆ อย่าได้ประมาทนอนใจต่อทุกข์แบบคนด้านทุกข์เลย มิฉะนั้นแล้วมันก็อาจจะสายเกินไป

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ความสุขที่บริสุทธิ์กว่า)
กำลังโหลดความคิดเห็น