ปาริชาต หรือปาริฉัตร เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพระไตรปิฎก บอกไว้ว่าเมื่อต้นปาริชาติในดาวดึงส์บานเต็มที่แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์ต่างพากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำรุงบำเรออยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ใต้ต้นปาริชาต ซึ่งเมื่อบานเต็มที่แล้ว แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ ในบริเวณรอบๆ และจะส่งกลิ่นไปได้ ๑๐๐ โยชน์ตามลม
พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนว่า “...สมัยใด อริยสาวกคิดจะออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์มีใบเหลือง สมัยใด อริยสาวกปลง ผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัดใบใหม่ สมัยใด อริยสาวก สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลิดอก ออกใบ สมัยใด อริยสาวกบรรลุ ทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกเป็นใบ สมัยใดอริยสาวกมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นดอกตูม สมัยใด อริยสาวกบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เริ่มแย้ม สมัยใด อริยสาวกทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ สมัยนั้น อริยสาวกเปรียบเหมือนปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้นดาวดึงส์บานเต็มที่ สมัยนั้น ภุมมเทวดาย่อมประกาศให้ได้ยินว่า ท่านรูปนี้ มีชื่ออย่างนี้ เป็นสัทธิวิหาริกของท่านชื่อนี้ ออกจากบ้านหรือนิคม ชื่อโน้น บวชเป็นบรรพชิต กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง...”
และในพระไตรปิฎกอีกเช่นกัน ที่ได้บอกไว้ว่าพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทรงบาตรและจีวรครบ เหมือนต้นปาริฉัตตกะ คือ ต้นทองหลาง มีใบหนา มีร่มเงาชิด
ดังนั้น ต้นปาริชาตหรือปาริฉัตร ก็คือต้น ‘ทองหลาง’ นั่นเอง ทองหลางเป็นพืชในสกุล Erythrina อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งหรือลำต้นอ่อนมีหนามแหลมคม แต่จะค่อยๆหลุดไป เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ใบหนา ดอกคล้ายดอกแคแต่มีสีแดงเข้มออกรวมกัน เป็นช่อยาวประมาณ 30-40 ซม. จะออกดอกในเดือนม.ค.-ก.พ. เวลาออกดอกจะทิ้งใบหมดต้น ส่วนผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย เมื่อผลแก่ฝักจะแตกที่ปลายอ้าออก ภายในมีเมล็ดสีแสด
สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรของทองหลางนั้น ใบและเปลือก แก้เสมหะ ลมพิษ แก้ตาแดง ตาแฉะ ดับพิษร้อน แก้ข้อบวม ราก ใช้แก้พยาธิในท้อง ตาฟาง ไข้หวัด พอกบาดแผล แก้ปวดแสบปวดร้อน นอกจากนี้คนไทยยังนิยมนำใบอ่อนของทองหลางมารับประทานร่วมกับเมี่ยงคำ หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก เพราะใบทองหลางเป็นผักที่มีธาตุอาหารคือโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามินซีสูงมาก จึงเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพ บำรุงตา และบำรุงกระดูก
ในวรรณกรรมอิงพุทธประวัติและหลักธรรมเรื่อง ‘กามนิต-วาสิฏฐี’ ได้บอกไว้ว่า กามนิตซึ่งได้ไปเกิดในสวรรค์ เมื่อได้กลิ่นหอมจากต้นปาริชาต ก็สามารถระลึกชาติของตนครั้งที่อยู่ในโลกมนุษย์ได้
เดือนนี้ปาริชาตเริ่มออกดอกแล้ว แต่อย่าไปรอดมกลิ่นเพื่อหวังจะระลึกชาติเหมือนกามนิตเลย เพราะดอกชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมก็แต่ในเทวโลกเท่านั้น