xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๑๔ กลุ่มพระอัครสาวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปริพาชกโกลิตะชวนปริพาชกอุปติสสะให้เดินทาง ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที แต่ก่อนที่จะไปนั้นปริพาชกอุปติสสะได้ชวนปริพาชกโกลิตะไปหาสัญชัยปริพาชก ผู้เป็นอาจารย์ก่อน โดยมุ่งหวังว่าจะชวนอาจารย์เดินทางไป เฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้ด้วยความหวังที่จะให้อาจารย์ได้ บรรลุอมตธรรมอันเป็นธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
“ฉันขอบใจเธอทั้ง ๒ ที่หวังดี” สัญชัยปริพาชกเอ่ยขึ้น หลังจากได้ทราบความประสงค์ของศิษย์เอกที่มาหา “แต่ฉันก็ไปไหนไม่ได้หรอก และไม่คิดที่จะไปด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว”
คำพูดของสัญชัยปริพาชกเป็นการตัดบทโดยสิ้นเชิง ลาภสักการะและความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าลัทธิทำให้สัญชัยปริพาชกไม่อาจลดฐานะของตนลงมาเป็นศิษย์ใครได้ แม้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะจะพูดโน้มน้าวใจด้วยประการต่างๆก็ไม่สำเร็จ
“ท่านอาจารย์” ปริพาชกทั้ง ๒ พยายามเป็นครั้งสุดท้าย “ขณะนี้ใครต่อใครต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นนะ”
สัญชัยปริพาชกมองหน้าปริพาชกผู้เป็นศิษย์แล้วถามว่า
“ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”
“คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย”
“ถ้าอย่างนั้น ขอให้คนฉลาดจงไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่จงมาหาฉัน”

จากคำพูดประโยคสุดท้าย ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็แน่ใจว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันได้ ดังนั้นจึงอำลาและพาปริพาชกบริวารจำนวน ๒๕๐ ที่พร้อมจะไปกับตนเดินทางไปวัดเวฬุวัน

การบวชในพระพุทธศาสนา
วันและเวลาที่ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ พาบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่ พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยพระญาณ จึงได้ตรัสบอกว่า
“อุปติสสะกับโกลิตะกำลังมาหาตถาคต ทั้ง ๒ เป็นเพื่อน กัน เขาจะมาเป็นคู่อัครสาวกของตถาคต”
เมื่อตรัสบอกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมต่อไปเรื่อยๆ แม้ปริพาชกทั้ง ๒ จะพาปริพาชกบริวารมาถึงแล้วก็หาได้ทรงหยุดแสดงธรรมไม่ ทั้งนี้เป็นด้วยทรงเห็นว่าปริพาชกบริวารทั้ง ๒๕๐ นั้น ได้ฟังธรรมนี้แล้วจะได้บรรลุ อรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่เช่นเดิม
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ปริพาชกบริวารปรารถนาเพียง แค่ได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชก อุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนอกจากจะปรารถนามาให้ได้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังปรารถนาเป็นพระอัครสาวก และได้ตำแหน่งเอตทัคคะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยเหตุที่อุปนิสัยน้อมไปเพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านการฝึกหัดที่ยากลำบาก ซึ่งทำ ให้ได้บรรลุผลสูงสุดคืออรหัตผล ช้ากว่าปริพาชกบริวาร
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบวชแล้ว ปริพาชกทั้ง ๒ ก็หาได้บรรลุอรหัตผลชักช้าแต่ประการใดไม่ กล่าวคือ ปริพาชกโกลิตะหลังบวชได้ ๗ วันก็ได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชก อุปติสสะหลังบวชได้ ๑๕ วันก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไปในตอนว่าด้วยการบรรลุอรหัตผล
กล่าวถึงการบวชของปริพาชกทั้งหมดนั้น เมื่อปริพาชก บริวารได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็ได้นำปริพาชกบริวารเหล่านั้นกล่าวคำทูลขอบวช ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธี บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่างแต่ว่าเวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนั้น พระองค์ตรัสว่า
“จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด”
เหมือนอย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แต่เวลาที่ ทรงบวชให้ปริพาชกบริวาร พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”

การบรรลุอรหัตผล
ภายหลังได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ปริพาชกอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่า สารีบุตร (บุตรของนางสารี) ส่วนปริพาชกโกลิตะมีชื่อเรียกใหม่ว่า โมคคัลลานะ (ผู้มีเชื้อสาย ของนางโมคคัลลี) และต่อมามีชื่อเรียกเพิ่มเติมว่า มหาโมคคัลลานะ
พระมหาโมคคัลลานะ หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ หมู่บ้านกัลลวาละ แคว้นมคธ ขณะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านเกิดง่วงเหงา หาวนอนอย่างหนัก จนไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ตลอดเวลา วันที่ ๘ จึงเสด็จมาสอนท่านให้หาทางแก้ง่วงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
๑.เมื่อกำหนดนึกอย่างไรแล้วเกิดความง่วง ควรพิจารณาถึงการกำหนดนึกนั้นให้มาก
๒.หากยังไม่หายง่วง ควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ได้ฟังได้ศึกษาจนขึ้นใจ
๓.หากยังไม่หายง่วง ควรท่องบ่นธรรมที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยพิสดาร
๔.หากยังไม่หายง่วง ควรแยงช่องหูทั้ง ๒ ข้างและ เอาฝ่ามือลูบตัว
๕.หากยังไม่หายง่วง ควรลุกขึ้นยืน เอาน้ำลูบตา แล้วเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว
๖.หากยังไม่หายง่วง ควรกำหนดถึงแสงสว่าง ควรตั้งความสำคัญว่าเป็นกลางวันไว้ในจิตตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน
๗.หากยังไม่หายง่วง ควรเดินจงกรม โดยมีสติกำหนด หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน
๘.หากยังไม่หายง่วง ควรนอนแบบสีหไสยาคือนอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะหมาย ใจอยู่ว่าจะลุกขึ้น ครั้นตื่นแล้วให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจ ว่า จะไม่หาความสุขจากการนอน จะไม่หาความสุขจากการเอนอิง จะไม่หาความสุขจากการเคลิ้มหลับ
พระมหาโมคคัลลานะได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัส สอนทันที พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่าท่านหายง่วงจึงตรัสสอนเรื่องธาตุกัมมัฏฐาน โดยทรงแนะนำให้ท่านกำหนด พิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ซึ่งแต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านเจริญสมถะสลับกับวิปัสสนาไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นเอง
ส่วนพระสารีบุตร หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำสุกรขาตะ เชิงเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้นเอง วันที่จะได้บรรลุอรหัตผลพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดโดยประทับอยู่ในถ้ำนั้นกับท่าน ต่อมาปริพาชกทีฆนขะได้มาเฝ้าและทูลสนทนาด้วย
“พระสมณะโคดม” ปริพาชกทีฆนขะกล่าวขึ้น “ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบ ใจหมด”
“อัคคิเวสนะ”
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกเขาตามชื่อตระกูล “ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้อง ไม่ชอบความเห็นนั้นด้วย”
พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะชี้ให้ปริพาชกทีฆนขะเห็นว่าเขามีความเห็นผิด จึงตรัสต่อไปถึงความเห็นของ สมณพราหมณ์ ๓ จำพวก ซึ่งสรุปได้ว่า
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ
บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกแรก
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกหลัง
ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกสุดท้าย
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง
ใกล้ข้างความเกลียดชังของบางสิ่ง
ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักถือมั่นความเห็นอย่างใด อย่างหนึ่งแล้ว
กล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง
ก็จะต้องพิจารณาจากคน ๒ พวกที่มีความเห็นไม่เหมือนกับตน
ครั้นถือผิดกันก็ต้องวิวาทกัน จากนั้นก็จะกลายเป็นความพิฆาตเขม่น
แล้วติดตามด้วยการเบียดเบียนกันต่างๆ นานา
ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละความเห็นนั้นเสียด้วย
และไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นเกิดขึ้น

เมื่อทรงแสดงโทษของความถือมั่นอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อไปถึงอุบายวิธีที่เป็นเหตุให้ไม่ถือมั่นว่า
อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดมาจากบิดามารดา
เติบโตมาเพราะข้าวสุกและขนมสด ต้องคอยอบคอยรมกันกลิ่นเหม็น
และขัดสีอยู่เป็นนิตย์ มีอันจะต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา
จึงควรที่จะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ทนได้ยาก
เป็นของถูกเสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร
เป็นของชำรุดทรุดโทรม ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
เมื่อพิจารณาเห็นได้อย่างนี้ ย่อมละความรักใคร่ กระวนกระวายในกามเสียได้
อัคคิเวสสนะ เวทนา(ความรู้สึก) มี ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ และอุเบกขา
เวทนา ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน
คราวใด บุคคลเสวยสุขเวทนา คือรู้สึกเป็นสุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยทุกขเวทนาคือรู้สึกเป็นทุกข์
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยอุเบกขาเวทนาคือรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา
แต่ว่า เวทนาทั้ง ๓ นี้เป็นอย่างเดียวกันตรงที่ว่า ไม่เที่ยง
มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป สลายไป และดับไป เป็นธรรมดา

กำลังโหลดความคิดเห็น