xs
xsm
sm
md
lg

ศัพท์ธรรมคำวัด : โบสถ์-วิหาร ศาลาการเปรียญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การที่นำคำ ว่า ‘โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ’ ซึ่งป็นคำพื้นๆที่ชาวพุทธรู้จักกันดี ยู่แล้ว มาบอกเล่าให้ฟังในครั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่าหลายคนยังรู้จักเรื่องราวของ ศาสนสถานเหล่านี้เพียงแค่ผิวเผิน เช่น รู้ว่านี่คือโบสถ์ แต่ไม่รู้ว่าที่มาของโบสถ์เป็นอย่างไรหรือรู้ว่านี่คือวิหาร แต่ไม่รู้ว่าเป็นวิหารแบบไหน ในขณะเดียวกันก็รู้จักศาลาการเปรียญแต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงเรียกอย่างนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี สุรเตโช) ได้ให้ความหมายของคำเหล่านี้ไว้ในหนังสือ คำวัด ว่า

โบสถ์
โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัยเช่น สวดพระปาติโมกข์อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่าโบสถ์เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา
โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า “อุโบสถ หรือโรงอุโบสถ” ถ้าเป็นของพระอารามหลวง เรียกว่า “พระอุโบสถ” บางถิ่นเรียกว่า “สีมา หรือสิม”
โบสถ์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา ซึ่งที่ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า“นิมิต”
การที่จะเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยนั้น จะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่า “ถอนสีมา” หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นสีมา เรียกว่า “ผูกสีมา” ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมาหรือเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัย

วิหาร
วิหาร คือ อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คล้ายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า คู่กับอุโบสถ แต่ไม่มีวิสุงคามสีมาเหมือนอุโบสถ วิหารมีหลายแบบ เช่น
วิหารคด คือวิหารที่มีลักษณะคดอยู่ตรงมุมกำแพงแก้วของอุโบสถ อาจมีหลังเดียวก็ได้ โดยมากจะมี ๔ มุม และประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายใน
วิหารทิศ คือ วิหารที่สร้างออกทั้ง ๔ ด้านของพระสถูปเจดีย์ อาจอยู่ตรงมุมหรือด้านข้าง
วิหารยอด คือ วิหารที่มียอดเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น วิหารยอดเจดีย์ วิหารยอดปรางค์
วิหารหลวง คือ วิหารที่ด้านท้ายเชื่อมต่อกับพระสถูปเจดีย์หรือพระปรางค์
คำว่าวิหาร แต่เดิมใช้ในความหมายว่าวัด เช่นเดียวกับคำว่า อาราม อาวาส เช่น เวฬุวันวิหาร เชตวันมหาวิหาร

ศาลาการเปรียญ
ศาลาการเปรียญ เป็นคำเรียกศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม เป็นสถานที่ฟังธรรมประจำของชาวบ้าน ที่เรียกอย่างนี้เพราะเดิมคงใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนธรรมของ พระสงฆ์ด้วย ปัจจุบันศาลาการเปรียญส่วนใหญ่ใช้เป็นศาลาอเนกประ สงค์ เพราะนิยม สร้างกว้างขวางกว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยของคนหมู่มาก
ถือกันมาแต่โบราณว่า สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดมีอยู่ ๓ อย่างคือ
อุโบสถ ถือว่าเป็นที่ประทับของพระพุทธ
ศาลา ถือว่าเป็นที่อยู่ของพระธรรม
กุฏิ ถือว่าเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์
ด้วยเหตุดังนี้ จึงนิยมสร้างทั้ง ๓ อย่างนี้ไว้ประจำวัด เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัยทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
กำลังโหลดความคิดเห็น