xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : เที่ยวชมวัดตามเส้นทางเสด็จประพาสต้น (ตอน ๓)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อเรือมาดประทุน 4 แจว มาหนึ่งลำ ณ วัดเพลง จังหวัดราชบุรี และทรงพระราชทานชื่อว่าเรือประพาสต้น ก็ทรงล่องเรือผ่านมาถึงเมืองสมุทรสงครามไปยังอำเภอต่างๆ แวะชมวัดสำคัญหลายวัด ด้วยกัน เช่น วัดประดู่ วัดพวงมาลัย วัดดาวดึงษ์ และวัดอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดที่จะได้นำมากล่าวถึงในการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้

ทอดพระเนตรรดน้ำมนต์ที่วัดประดู่
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุเรื่องประพาสต้น ในรัชกาลที่ ๕ ถึงเรื่อง เกี่ยวกับวัดที่เมืองสมุทรสงครามนี้ไว้ว่า
“...วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด ไปพบยายเจ้าของเรือที่แกเคยเห็นเจ้าชีวิต ๓ หน แกพาลูกมาเฝ้า ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็กนั้นหลายอย่าง ประพาสตลาดแล้วออกเรือจากเมืองราชบุรี กระบวนเรือพลับพลาให้ล่องลงไปตามลำน้ำใหญ่ไปคอยที่เมืองสมุทรสงคราม เสด็จเรือมาด ๔ แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือพระที่นั่งรอง พ่วงเรือไฟเล็กเข้าทางแม่น้ำอ้อม ไปแวะซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปากคลองวัดประดู่....

...ออกจากตลาดแจวเข้าคลองเล็กไปจนถึงวัดประดู่ หยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนั้น กองล้างชาม เที่ยวตรวจได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ว่าเป็นหมอน้ำมนต์ มีผู้ที่เจ็บไข้ไปคอยรดน้ำมนต์รักษาตัวอยู่หลายคนได้ความว่าเป็นโรคผีเข้าบ้าง ถูกกระทำยำเยียบ้าง และโรคอย่างอื่นๆบ้าง เมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้ว จึงพร้อมกันไปดูรดน้ำมนต์ รดน้ำมนต์อย่างนี้ฉันก็พึ่งเคยเห็น คนพูดจากันอยู่ดีๆพอเข้าไปนั่งให้พระรดน้ำ ก็มีกิริยาอาการวิปลาศไปต่างๆ...”


วัดประดู่เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างในราวๆ ปลายสมัยอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่ามีแก่นไม้ประดู่ด้านหนึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมยาวขนาดเท่าใบลาน ใช้เป็นที่อัดใบลาน ที่จารเสร็จ วัดประดู่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ว่าขึ้นชื่อในเรื่องของผีดุ รวมถึงเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่ผู้คนพยายามสืบค้น จนมีชื่อเรียกว่า “วัดประดู่มีรูอยู่ ๙ แห่ง รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น ตรงไหนเปรียกไม่ยอมแห้งให้แทงตรงนั้น” นอกจากนั้นยังมีคนเล่าว่าภายในสระน้ำมีเป็ดคู่หนึ่ง ตัวหนึ่งมีสีเงิน อีกตัวหนึ่งมีสีทองได้ออกมาว่ายน้ำเล่นบริเวณสระน้ำในวัดเมื่อพบเจอคนก็จะหลบหายไปในสระ และยังมีเรื่องเล่าอีกว่ามีพระที่เป็นทองคำหน้าตักประมาณ ๒ ศอก ตกลงหายไปในสระน้ำงมหาอย่างไรก็ไม่เจอ จนหลวงพ่อเอี้ยงได้มาสร้างพระอุโบสถทับลงบนสระน้ำ

สมัยที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นมาที่วัดนั้น พระองค์ได้ทรงพบและสนทนาธรรมกับ“หลวงปู่แจ้ง” ซึ่งเป็นพระผู้ทรงอภิญญาและเชี่ยวชาญในการรักษาโรคด้วยการรดน้ำมนต์และใช้สมุนไพร ซึ่งในภายหลังพระองค์ก็ได้ทรงนิมนต์หลวงปู่แจ้งเข้าไปในพระบรมมหาราชวังหลายครั้งหลายครา และได้ถวาย เครื่องราชศรัทธาที่สำคัญๆอันทรงคุณค่าไว้ให้กับหลวงปู่แจ้ง อาทิ เรือพร้อมเก๋งพระที่นั่ง ๔ แจว, พระแท่นบรรทม,ตาลปัตรนามาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” และ ตาลปัตร“นารายณ์ทรงครุฑ”, ตู้เล็กและตู้ทึบ, ปิ่นโต, บาตร, สลกบาตรพร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวอักษรย่อ “ส.พ.ป.ม.จ.” ย่อมาจากคำว่า “สมเด็จพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์” และกาน้ำทองแดงมีตราสัญลักษณ์, ตะเกียงเจ้าพายุ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา เพื่อเก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังได้จัดแสดงหุ่นดินสอพอง รูปเกจิอาจารย์ดังในจังหวัดสมุทรสงคราม และพระรูปรัชกาลที่ ๕ ที่แกะจากไม้หอม รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณอีกมากมาย

ปัจจุบันวัดประดู่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ทอดพระเนตรยามเช้าที่วัดพวงมาลัย
“...วันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้าเสด็จไปทอดพระเนตรวัดพวงมาลัย แล้วเสด็จไปประพาสตลาด คลองอัมพวา เสด็จเป็นอย่างประพาสต้นเหมือนเมื่อ เสด็จวัดประดู่ แต่วันนี้เกิดเหตุขัดข้องประพาสไม่สะดวก ด้วยในเมืองสมุทรสงครามนี้เขามีข้อบังคับกวดขัน ถ้าเรือหรือผู้คนแปลกประหลาดมาในท้องที่ ราษฎรบอกกำนันผู้ใหญ่บ้านๆต้องรีบลงเรือไปทักถาม เป็นธรรมเนียมบ้านเมืองอยู่ดังนี้...”


วัดพวงมาลัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ เดิมชื่อว่า “วัดพ่วงมาลัย” โดยเรียกตามชื่อของผู้ที่บริจาคที่ดินให้สร้างวัดคือสัสดีพ่วงและนางมาลัย หลังจากสร้างเสร็จก็ได้อาราธนาพระครูวินัยธรรมแก้ว หรือหลวงพ่อแก้ว จากวัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม มาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อแก้วได้สร้างเสนาสนะ กุฏิ ๗ หลัง ศาลาท่าน้ำ ๓ หลัง พระอุโบสถ และเจดีย์แบบมอญ ที่จำลองแบบมาจากพม่า เรียกว่าเจดีย์หงษาวดี ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดที่มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆในจังหวัด แม้ว่าเจดีย์จะผุพังไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีความงดงามหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ภาพวาดฝาผนังหลังพระประธานที่ เป็นต้นไทร ต่างจากวัดอื่นที่เป็นต้นโพธิ์ ปูนปั้นเรื่อง ทศชาติชาดกเรื่องนรก-สวรรค์ ซึ่งบางภาพใช้กระเบื้องลายคราม และเปลือกหอยประดับสร้างความแปลกตายิ่งนัก พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซุ้มเรือนแก้ว และมีศาลาท่าน้ำอายุเก่าแก่หลังหนึ่งที่มีภาพวาดสวยงามที่หาดูได้ยาก

ปัจจุบันวัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

พักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงษ์
ในวันที่ ๒๒ นั้นเอง หลังจากที่ทรงไปวัดพวงมาลัย
แล้ว ก็ได้ไปที่วัดดาวดึงษ์
“...เสด็จกลับจากประพาสคลองอัมพวาแล้วจึงได้ ออกเรือเลยไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงษ์ เสร็จแล้วแจวต่อไปบางน้อย ประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับทางคลองแม่กลอง มาถึงที่ประทับเวลาสองทุ่ม...”

วัดดาวดึงษ์เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นใน สมัยอยุธยาราว พ.ศ.๒๑๒๔ รัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช มีเนื้อที่ประมาณ ๓๑ ไร่ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ทำด้วยศิลาแลง บริเวณหน้าวัดซึ่งมีแม่น้ำราชบุรีไหลผ่านนั้น เป็นสถานที่ตักน้ำมูรธาภิเษก ที่ใช้ในพระราช พิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ต้นกรุง รัตนโกสินทร์เป็นต้นมา รวมทั้งใช้ในการทำน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีสำคัญๆด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ที่มีชื่อว่า “เบญจสุทธคงคา” นอกจากนี้บริเวณท่าน้ำหน้าวัดยังมีศาลที่ประดิษฐาน“หลวงพ่อโพธิ์” ที่ชาวบ้านนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบันวัดดาวดึงษ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม






กำลังโหลดความคิดเห็น