ถ้าพูดถึงเมืองจีน สุดยอดปรมัตถ์วิชาก็ต้องมาจากเส้าหลินหรือตั๊กม้อ แต่ถ้าพูดถึงอินเดีย สุดยอดวิชาและวิทยายุทธ์ทั้งหลายก็ต้องมาจากเมือง‘ตักสิลา’
เมืองตักสิลาถือว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของโลกที่มีมาก่อนพุทธกาล และเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพราหมณ์ และในยุคที่พุทธศาสนาเจริญ เมืองนี้ก็กลายเป็นแหล่งศึกษาที่สำคัญของพุทธศาสนา มีนักศึกษาจากทั่วทุกทิศ ทั้งในอินเดีย และเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งเปอร์เซีย และประเทศทางแถบเอเชียกลางมาเล่าเรียน
ยุคนั้นไม่ว่าใครจะศึกษาศิลปวิทยาการ หรือศาสตร์แขนงใดก็ตาม ก็จะต้องไปศึกษากันที่ตักสิลา รวมทั้งแพทยศาสตร์ และเป็นที่กล่าวขานกันว่าใครสำเร็จสรรพวิทยาไม่ว่าศาสตร์ใดจากตักสิลาแห่งนี้ ก็จะได้รับการยกย่องและเป็นที่เชื่อถือกันอย่างมากในสังคม ดังเช่นหมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็สำเร็จวิชา การแพทย์จากมหาวิทยาลัยตักสิลาแห่งนี้
ในอดีตเรื่องการร่ำเรียนของอินเดียนั้นไม่ใช่ใครมีสตางค์ก็ไปเรียนกันได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์ หรือคุรุนั้นจะรับเป็นศิษย์หรือไม่ บางคนต้องไปอาสาทำงานในบ้านอาจารย์กันเป็นปีๆ เมื่อเห็นว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม อาจารย์จึงจะยอมถ่ายทอดวิชาให้ ส่วนค่าเรียนนั้น คุรุผู้มีอุดมการณ์ก็ไม่เรียกเก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด แต่พอร่ำเรียนจบ ว่ากันตามประเพณีลูกศิษย์ก็ต้องนำวัวมามอบให้อาจารย์เพื่อเป็นของกำนัล
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตักศิลาเป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา ซึ่งเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับศาสนา เชน และฮินดู ต่อมาในสมัยหลวงจีนเหี้ยนจังหรือพระถังซัมจั๋งมาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดียเมื่อพ.ศ.1186 ท่านได้บันทึกว่า เมืองตักศิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และเป็นเพียงเมืองหนึ่งในแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตราวัลปินดี ประเทศปากีสถาน) โบสถ์และวิหาร สถานศึกษาก็ถูกทำลายจนหมดสิ้น จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักสิลาอีกเลย
ผู้อ่านอย่าเพิ่งเสียดายนะคะ เพราะทุกวันนี้ยังพอมีเค้าโครงของตักสิลาหลงเหลือให้เราเห็นค่ะ และ ตักสิลาก็ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวหลักของปากีสถาน ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับเมืองตักสิลา จึงมีการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไว้ ไม่ว่าจะเป็น ‘นครศรีกัล์ป’ นครแห่งที่สอง ที่สร้างโดยพวกอินโด-กรีก หรือบักเตรีย เป็นอาณาจักรเก่าแก่อันยิ่งใหญ่ มีการวางผังเมืองอย่างดี เป็นศูนย์กลางทั้งการค้า การศึกษา และศาสนา มีอายุช่วง 200 ปีก่อนและหลังคริสตกาล ซึ่งในอดีตมีการค้นพบเครื่องทองและเครื่องประดับมากมายที่กลายมาเป็นรูปแบบและรากฐานการทำเครื่องทองที่สืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นก็ยังมี‘เมืองโบราณศรีสุข’เป็นนครแห่งที่ 3 สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ ‘ธรรมราชสถูป’ ที่เข้าใจว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอโศก และเป็นสถูปแห่งแรกในปากีสถาน เป็นสถูปทรงบาตรคว่ำ และมีเสาหินประดับซุ้มหัวเสา เป็นศิลปะแบบคันธาระ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุมากมายทั้งพระพุทธรูป เหรียญกษาปณ์ และผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สามารถเข้าไปชมได้ในพิพิธภัณฑ์
หลังพุทธกาล เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมายึดครองตักสิลา และแคว้นคันธาระ ซึ่งมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ชาวเมืองตักสิลาก็ใช้ภาษากรีกในการสื่อสาร ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังมีหลายต่อหลาย คำที่คล้ายกับภาษากรีก
นอกจากนั้นหลักฐานเล่มอื่นยังเล่าว่า อเล็กซานเดอร์ใช้วิธีกลืนวัฒนธรรม โดยการให้เหล่าทหารแต่งงานกันชาวพื้นเมือง เพื่อสร้างอาณาจักรของตน เราจึงเห็นได้ว่าชาวแคชเมียร์หรือชาวอินเดียตอนเหนือมีหน้าตาเหมือนพวกเปอร์เซียและกรีก หรือแม้แต่พระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกก็โดยช่าง ชาวกรีก ดังนั้นพุทธศิลป์ในสมัยคันธาระจึงมีความละม้ายคล้ายชาวกรีก
ระบบการศึกษาแบบคุรุและศิษย์ที่ใช้ในตักสิลานั้นถือเป็นรากฐานการศึกษา ของอินเดียมาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งจะยังพอเห็นได้ในปัจจุบันจากการเรียนดนตรี นาฏศิลป์ และการร้องเพลง การศึกษาแบบนี้ค่อยๆ เลือนหายไปหลังจากที่อินเดียรับการศึกษาแบบสมัยใหม่มาจากอังกฤษ แต่ปัจจุบันนี้มีนัก วิชาการหลายท่านกำลังต่อสู้เพื่อนำเอาข้อดีของระบบการศึกษาในแบบตักศิลา และนาลันทา กลับมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง