xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะคือธรรมชาติ : ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลี ของนางกากี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โบราณเปรียบหญิงมากชู้หลายผัว ว่าเป็น‘นางกากี’ ซึ่งมีเค้าเรื่องมาจาก‘กากาติชาดก’ว่า พระโพธิสัตว์ครั้งเกิดเป็นพระราชาผู้ครองเมืองพาราณสี มีพระเทวีีนามว่า ‘กากาติ’ ซึ่งทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง วันหนึ่งมีพญาครุฑชื่อว่า ‘ท้าวเวนไตรย’ แปลงร่างเป็นมนุษย์มาเล่นสกา(การพนันชนิดหนึ่ง)กับพระราชา ท้าวเวนไตรยเห็นพระนางกากาติ ก็เกิดความรักใคร่ จึงแอบพาหนีไปอยู่ที่วิมานฉิมพลีซึ่งเป็นที่อยู่ของตน เมื่อพระราชาทราบเรื่องจึงมีรับสั่งให้คนธรรพ์ชื่อ ‘กุเวร’ นำพระเทวีกลับมา
กุเวรได้ไปแอบซุ่มอยู่ในดงตะไคร้ข้างสระ พอพญาครุฑบินไปจากสระก็แอบกระโดดเกาะปีกไปจนถึงวิมานฉิมพลี แล้วแอบได้เสีย กับพระเทวีที่วิมานนั้น จากนั้นก็เกาะปีกพญาครุฑกลับมาเมืองพาราณสีอีก วันหนึ่งขณะที่พญาครุฑเล่นสกากับพระราชา คนธรรพ์ก็ขับร้องเป็นเพลงว่า
“หญิงรักคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่นของนางยังหอมฟุ้ง มาที่แห่งนั้น ใจของเรายินดีในนางใด นางนั้นชื่อกากาติ อยู่ไกลจาก ที่นี้”
พญาครุฑพอได้ฟังแล้วสะดุ้งจึงถามกลับไปว่า “ท่านข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งไปได้อย่างไร แล้วขึ้นวิมานฉิมพลีได้อย่างไร” คำตอบที่ได้รับคือ “เราข้ามทะเลมหาสมุทรทั้ง ๗ แห่งได้ก็เพราะท่าน ขึ้นวิมานฉิมพลีได้ก็เพราะท่านอีกนั่นแหละ”
เมื่อพญาครุฑได้ทราบความจริงก็กล่าวติเตียนตัวเองว่า มีร่างกายใหญ่โตเสียเปล่า แต่ไม่มีความคิด จึงเป็นพาหนะให้ชายชู้ของเมีย ดังนั้นจึงได้นำพระเทวีกากาติมาคืนพระราชา และไม่กลับมาเล่นสกา กับมนุษย์อีกเลย
วิมานฉิมพลีของพญาครุฑ ก็คือ ‘ต้นงิ้ว’ ซึ่งเรียกในภาษาบาลีว่า ‘สิมพลี’ นั่นเอง!!
ต้นงิ้ว เป็นพืชในสกุล Bombax มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba Linn. เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงราว 15-20 เมตร เรือนอยดทรงกลมแผ่กว้าง ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีหนามแหลมคมทั่วทั้งลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบ ย่อย 5-7 ใบ ใบรูปรี ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ดอกมีสีส้มแดง แดงเหลือง หรือขาว มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ออกเป็นช่ออยู่ตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งๆมีดอกราว 3-5 ดอก มีกลิ่นหอมและร่วงง่าย ออกดอกราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนผลมีลักษณะกลมรี เปลือกแข็ง ภายในผลมีเมล็ดกลมสีดำมากมายซึ่งมีปุยสีขาวหุ้มห่ออยู่ เมื่อแก่จัดผลหรือฝักนี้จะแตกออก
ประโยชน์ของงิ้วมีมากมายค่ะ เช่น เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้ออ่อน จึงนำมาทำดินสอ ไม้จิ้มฟัน เยื่อกระดาษ เปลือก ใช้ทำเส้นใย เชือก น้ำมันจากเมล็ดใช้ปรุงอาหาร ทำสบู่ และปุยสีขาวใช้ยัดหมอนและที่นอนเช่นเดียวกับนุ่น ส่วนสรรพคุณทางยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรนั้นก็มีไม่น้อย อาทิ เปลือก ใช้สมานแผลแก้ท้องร่วง กระเพาะอาหารอักเสบ ดอก ใช้แก้ไข้ ท้องร่วง บิด แผลฝีหนอง ห้ามเลือด ฟกช้ำบวม อักเสบ แก้คัน แก้กระหายน้ำ ยางใช้ห้ามเลือด ราก ใช้สมานแผล แก้แผลใน กระเพาะอาหาร บำรุงกำลัง ฯลฯ
ในพระสูตรที่ว่าด้วย‘เทวทูตสูตร’ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้ เห็นถึงมหานรก ที่มีการลงโทษคนที่กระทำความชั่ว อย่างน่าสะพรึงกลัว ก็ได้กล่าวถึงต้นงิ้วไว้ในความตอนหนึ่งว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบ ด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆลงๆ ที่ ต้นงิ้วนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ”
และใน‘นารทชาดก’ ได้พูดถึงเรื่องต้นงิ้ว ดังนี้
‘...ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้หากระทำชู้ภรรยาผู้อื่น ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น...’
รู้จักต้นงิ้วกันอย่างนี้แล้ว ไม่รู้ว่ายังจะมีใครอยากปีนอีกหรือเปล่า?





กำลังโหลดความคิดเห็น