xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปก : การ์ตูน สื่อธรรมะรูปแบบใหม่ที่ไม่เอาต์(out)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมะ วัดวา หรือการให้คุณธรรม แบบเก่าพาเข้าวัด ฟังเทศน์ หรือหนังสือธรรมะรูปแบบเก่าๆ แค่เพียงเอ่ยปาก คนรุ่นใหม่ ก็อยากวิ่งหนี ดังนั้นธรรมะจึงเข้าไม่ถึงใจวัยโจ๋ แต่เมื่อธรรมะถูกพลิก หยิบจับเอาปัญหาวัยรุ่นนำมาแต่งตัวใหม่ ในรูปแบบการ์ตูน ไม่เพียงแต่เด็กไม่วิ่งหนีเท่านั้น ผู้ใหญ่ยังวิ่งตามหามาอ่านอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็คือความไม่เอาต์ เข้าสมัย แถมเข้าใจคนรุ่นใหม่อีกด้วย
อิ๊กคิวซัง....งงงง “ใช้หมอง นั่งสมาธิ” คงเป็นวลี น่ารัก จากการ์ตูนปลอดสารพิษ ที่ไม่ว่าใครก็ยังคงจำกันได้ เรื่องราวง่ายๆแต่งดงามของ ‘อิ๊กคิวซังเณรน้อยเจ้าปัญญา’ ไม่เป็นเพียงแค่การ์ตูนดูสนุก แต่ยังสอดแทรกคุณธรรม ปรัชญา การใช้ชีวิต ความกตัญญูรู้คุณ การใช้สติปัญญา ที่บอกเล่าผ่านเรื่องราวของอิ๊กคิวซังอย่างแนบเนียน ทุกเย็นหน้าจอทีวียามนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เด็กๆที่นั่ง เฝ้าหน้าจอด้วยใจจดจ่อ แม้แต่ลุงป้าน้าอา ก็ยังมานั่งดูแอบลุ้นช่วยอิ๊กคิวซัง ยามที่ท่านโชกุน “อาซิคะงะ โยชิมะสึ” คอยหาปัญหามาให้อิ๊กคิวแก้
การ์ตูนจึงไม่ใช่สื่อที่ไร้สาระแต่อย่างใด หากทว่าผู้สร้างรู้จักที่จะสอดแทรกเรื่องราวที่มีประโยชน์ หรือสอดแทรกคุณธรรมเข้าไปอย่างแยบคาย
ในต่างประเทศ การ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้สร้างไว้เพียงเพื่อกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนเท่านั้น แต่ผู้ ใหญ่ก็สามารถดูได้ และเรียนรู้ไปพร้อมๆกับเด็กๆ ได้เช่นเดียวกับเรื่อง ‘Dharma the Cat’ การ์ตูนสร้างสรรค์ของ Simon&Schuster ที่นำเอาปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซนมาบอกเล่าในรูปแบบการ์ตูนช่อง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายน่าจะไม่ได้จำกัดไว้แต่เพียงเด็กหรือวัยรุ่น แต่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย Dharma The Cat มีตัวเดินเรื่องคือเจ้าแมวเหมียวและเณรน้อย ทั้งสองต่างก็พยายามฝึกฝนและปฏิบัติในแนวเซน เราจะได้เรียนรู้ปรัชญาเซนผ่านเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆในชีวิตประจำวันของทั้งสอง นอกจากจะให้อารมณ์ขันแล้วก็แฝงแง่คิดมากมาย ที่ผู้อ่านสามารถนำมาพัฒนาจิตวิญญาณและแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ ในเรื่อง Dharma The Cat นี้ทำให้เราได้รู้ว่า การเข้าใจธรรมะและการฝึกปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ไกลไปถึงวัดไหนเลย แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง เรื่องนี้โด่งดังมากในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และก็เป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักท่องเวบไซต์
ปัจจุบันวงการการ์ตูนของไทยเราก็ไม่ได้น้อย หน้า มีพัฒนาการเกิดขึ้นมากมาย การ์ตูนดีไม่มีพิษภัยจึงต่างทยอยหน้าออกมาสู่จอแก้ว อย่างเช่น การ์ตูนธรรมะเรื่อง‘หลวงพ่อจ๋ากับหมู่บ้านจักจั่น’ เป็นแอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กชาวบ้าน และหลวงพ่อวัยหนุ่มที่เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านและทุกคนในหมู่บ้าน
นอกจากธรรมะจะมาในรูปแบบการ์ตูนแล้ว รูปแบบของการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายยังหลากหลายตามไปด้วย เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย สามารถช่วยกระจายแพร่ หลายไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ หนังสือ โทรศัพท์มือถือ เวบไซต์ MSN หรือจะเป็น SMS อย่างที่เห็นพระพยอมที่ทำทั้งริงค์โทนธรรมะ และให้ดาวโหลดภาพพระพยอมมาเป็นวอลเปเปอร์ขึ้นหน้าจอโทรศัพท์มือถือกันอย่างโก้เก๋ แม้แต่ล่า สุดก็สร้างการ์ตูนแอนิเมชั่น ‘เณรพยอมจอมยุ่ง’

ริงค์โทนธรรมะพระพยอม สู่เณรพยอมจอมยุ่ง
เณรพยอม เป็นตัวการ์ตูนเอกในการ์ตูนเรื่อง‘เณรพยอมจอมยุ่ง’ ที่สร้างสรรค์โดยพระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว ร่วมกับบริษัทวัฏฏะ คลาสิคฟายด์ จำกัด โดยการ์ตูนนี้จัดทำในรูปแบบซีรีส์ สำหรับวัยรุ่นหญิงชาย อายุ 12-18 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น โดยมีแนวคิดว่า ‘ธรรมะดีๆ ไม่มีเอาต์ เมื่อธรรมะอินเทรนด์ พระเณรเลยต้องยุ่ง’ เพื่อสอด แทรกธรรมะเข้ากับโลกสมัยใหม่
พระพยอมมองว่า สื่อการ์ตูนนั้นเป็นเรื่องที่น่า สนใจเพราะเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่าย ไม่ใช่การบังคับ สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ตัวแทนธรรมะเป็น‘เณรพยอม’ เพราะต้องการให้ตัวนำเรื่องมีวัยใกล้เคียงกับวัยรุ่น ที่สำคัญคือ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องธรรมะวินัยของสงฆ์ทั้ง 227 ข้อ การดำเนินเรื่องเน้นความสนุกสนาน บางครั้งอาจจะต้องหลุดสำรวมบ้าง การเป็นเณรพยอมจะดูแนบเนียนกว่าการเป็นพระพยอม ส่วนคำว่า ‘จอมยุ่ง’ นั้นเป็นความหมายเชิงสร้างสรรค์ หมายถึงการเข้าไปยุ่งเกี่ยว การไปมีส่วนร่วม ไม่เพิกเฉย ไม่นิ่งเฉยต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น เรื่องเกมส์ เรื่อง ติดยา หรือปัญหาวัยรุ่นต่างๆ โดยใช้เณรพยอมเข้าไปช่วยแก้ปัญหา สำหรับเส้นสายที่ทันสมัยของลวดลายการ์ตูนนั้น ได้นักวาดการ์ตูนฝีมือดีอย่างอาจารย์ศักดา วิมลจันทร์ บรมครูด้านการ์ตูนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการนิตยสารการศึกษาวันนี้ และนิตยสาร EXIT
อาจารย์ศักดาให้สัมภาษณ์ว่า ธรรมะนั้นไม่อาจจะใช้รูปแบบเก่าๆได้แล้ว หากจะให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเราก็มีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้ว นั่นก็คือ รูปแบบการเทศน์และการสอนของพระพยอม ที่มีทั้งลีลาที่ไม่เหมือนใคร และก็เข้ากับคนรุ่นใหม่ได้ง่าย ยกตัวอย่าง พระพยอมริงค์โทนนั้นก็ได้รับการตอบรับเดือนหนึ่งมีคนดาวโหลดเป็นเรือนหมื่น นอกจากนั้นก็เป็นวอลเปเปอร์ ชุดพระพยอมชูป้าย เพราะโทรศัพท์มือถือก็คือสื่อที่ใกล้ชิดกับวัยรุ่นมากที่สุด เรียกได้ว่า มันเป็นวัฒนธรรมของเขาเลย
“ดังนั้นการ์ตูนชุดนี้นอกจากจะสอนธรรมแล้ว ก็จะเน้นเรื่องความขำขัน ซึ่งเป็นภาพพจน์ของพระพยอมอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็จะเป็น Comic คือ เป็นการ์ตูนช่อง แล้วก็มีทั้งมุกขำขันในรูปแบบของภาพ เป็นการ์ตูนที่ไม่มีความซับซ้อน เรียบง่ายแต่ก็ไม่ได้ทิ้งรายละเอียด”
การ์ตูนถือเป็นสื่อที่วัยรุ่นยอมรับมากที่สุด และเป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด อาจารย์ศักดา ให้เหตุผลว่า การ์ตูนคือการสื่อสารความคิดสร้างสรรค์ ด้วยภาพอย่างปรนัย เมื่อเป็นภาพ ผู้รับสารก็จะเข้าใจได้ง่ายเพราะไม่ต้องไปแปลความให้มากมาย และที่สำคัญการ์ตูนนั้นคือการสื่อสารเพื่อคนรับสารเป็นหลัก มุ่งให้คนอ่านเข้าใจ สิ่งที่สื่อสารออกไป ดังนั้นการ์ตูนจึงเป็นสื่อที่เข้า ใจง่าย และเข้าได้กับคนทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะแต่เด็ก
“ที่สำคัญการสื่อสารด้วยการ์ตูนนั้นคือ การลดอัตตา หรือตัวตน นี่ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการเข้าใจร่วมกันในภาพที่สื่อ ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารนั้นก็จะถอดตัวเองวางไว้ แล้วมาเข้าใจความหมายที่ตัวการ์ตูนพยายามสื่อสาร” อาจารย์ศักดากล่าวทิ้งท้าย

หลวงพี่เอี้ยงแห่งวัดมะนาวหวาน กระแสเรียกร้องสร้างการ์ตูนหลังข่าว
นอกจากเณรพยอมจอมยุ่ง แล้ว‘หลวงพี่เอี้ยง แห่งวัดมะนาวหวาน’ ก็เป็นการ์ตูนยอดฮิตจากหน้าหนังสือพิมพ์คมชัดลึก รวมถึงเวบไซด์ www. budpage.com ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีลีลาเฉพาะตัวและมีการเล่นคำเล่นภาษาได้อย่างทันสมัย ปัจจุบันมีแฟนประจำที่ติดตามอ่านหลวงพี่เอี้ยงกันอยู่ทุกอาทิตย์ ถึงขนาดกระทั่งมีคนเรียกร้องให้ทำเป็นละครสั้น หรือการ์ตูนสั้นหลังข่าว
สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การ์ตูน ชุดนี้ ทีมงานผู้สร้างสรรค์ ได้เปิดเผยกับ‘ธรรมลีลา’ว่า ผู้เขียนบทเคยบวชเป็นพระมาหลายพรรษา ได้เห็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากมายหลายรูป เมื่อลาสิกขาออกมา จึงมีความศรัทธาอยากจะเขียนชีวิตของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบผ่านตัวละครหลวงพี่เอี้ยงและวัดมะนาวหวาน เพื่อให้คนไทยมีความศรัทธาในสถาบันสงฆ์มากขึ้น
“ส่วนไอเดียธรรมะนั้นก็มาจากประสบการณ์สมัยบวช ได้รู้ ได้เห็นแบบอย่าง และได้ปฏิบัติ โดยมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก และตำราต่างๆ” ทีมงานเล่า

ทำไมต้องเป็นหลวงพี่เอี้ยง แล้วทำไมต้องเป็นวัดมะนาวหวาน
ทีมงานเล่าต่อว่า ชื่อ “เอี้ยง” เป็นชื่อไทยๆ ดี ขอยืมชื่อนี้มาจากชื่อของอาสาสมัครหนุ่มคนหนึ่ง ที่ช่วยงานเวบไซต์ ส่วนวัดมะนาวหวานนั้นตั้งขึ้น เล่นๆ เพราะตั้งใจจะให้บรรยากาศการ์ตูนเป็นสไตล์เปรี้ยวๆ หวานๆ แนววัยรุ่น
การนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนนั้น พิมพ์ศจี นาคสกุลรัตน์ หนึ่งในทีมงาน และเป็นผู้วาดการ์ตูนหลวงพี่เอี้ยงอธิบายว่า การ์ตูนเป็นสื่อที่มีเสน่ห์ สำหรับเด็กๆและเยาวชน(ผู้ใหญ่ยังชอบ) เลยพยายามเสนอธรรมะแบบง่ายๆ ผ่านสื่อการ์ตูน ในลักษณะชวนให้ผู้อ่านคิด มากกว่าจะใช้วิธีอบรมสั่งสอนให้เชื่อแบบเดิมๆ
นอกจากการ์ตูนทั่วๆ ไปที่สอดแทรกธรรมะแล้ว พุทธประวัติของพระพุทธเจ้านั้นก็ได้รับความสนใจถูกนำมาสร้างเป็นหนังแอนิเมชั่นอย่าง ยิ่งใหญ่เช่นกัน นำโดยเพื่อนบ้านเจ้าเทคโนโลยี อย่างสิงค์โปร์ ตามมาด้วยอินเดีย มาล่าสุดไทยเรา ก็สร้างกับเขาด้วยเช่นกัน

อินเดียสร้างตำนานพระพุทธเจ้า ชิงออสการ์ปี 2005
อินเดียได้ลงมือสร้าง‘The Legend of Buddha’ เป็นแอนิเมชั่นสองมิติ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ และผู้สร้างมีความมุ่งหมายเพื่อนำเรื่องราวของพระพุทธเจ้าสู่สายตาของชาวโลก สร้างโดยสตูดิโอของบริษัทแพนตามีเดียร์ ที่มีการร่วมมือกันระหว่างสิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด และเป็นการ์ตูนสองมิติซึ่งมีตัวการ์ตูนโลดแล่นกว่าสองแสนชีวิต และมีความโดดเด่นที่ฉากหลังที่สร้างในลักษณะสามมิติ
เรื่องนี้ถูกส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ก็สร้างความผิดหวังให้กับผู้สร้างเมื่อพลาดการเข้าสู่รอบสุดท้าย ซึ่งมีแอนิเมชั่นทั้งหมด 11 เรื่องส่งเข้าชิงรางวัล แต่ถึงแม้ว่าจะพลาดรางวัลออสการ์ แต่อย่างน้อยเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าก็ได้ถูกสร้างออกมา และได้นำเสนอสู่สายตาของชาวโลก อีกทั้งยังทำรายได้ไม่น้อยในประเทศอินเดียเมื่อนำออกฉายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แอนิเมชั่นไทย ทั้งตื่นเต้น ยิ่งใหญ่ไม่แพ้อินเดีย
การ์ตูนเรื่อง ‘The legend of the Great Buddha’ เล่าตำนานมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ตอนกำเนิดพระพุทธเจ้านั้นก็ได้พระครูสังฆสิทธิการ (อีริค สิริภทฺโท) ประธานที่ปรึกษามูลนิธิละครธรรมะ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการจัดสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ขึ้น โดยนำเนื้อ หาจากหนังสือ 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้มาเป็นเค้าโครงเรื่อง
พระครูอีริคให้สัมภาษณ์ว่า ถือว่าเป็นการ์ตูนแนวพระพุทธศาสนาเรื่องแรกที่สร้างจากฝีมือคนไทย สำหรับเรื่องราวจะกล่าวถึงประวัติของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่ และมีการนำมาสอดแทรก ความสนุกสนาน ด้วยการสร้างตัวการ์ตูนเด็กขึ้น มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง มีการผูกปมให้ตัวละครต้องแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ โดยนำสัตว์ในตำนาน อาทิ พญานาค 3 เศียรมาเป็นตัวชูโรง ซึ่งจะช่วย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชมที่เป็นเด็กและเยาวชน
“สำหรับกระบวนการผลิตนั้น อาตมาและทีมงานใช้ระบบการสร้างแบบ 3 มิติ หรือ 3D ซึ่งจะทำให้ภาพออกมามีมิติสวยสมจริง และมีบางช่วงเป็นภาพ 2 มิติ แต่ก็ผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยภาพยนตร์นี้มีความยาว 60 นาที มีการ์ตูนตัวหลักๆ อยู่ห้าตัว คือ แป้ง, แป๋ง, คุณพ่อ, คุณปู่ และ พญานาคบวรนาคินทร์ ซึ่งตัวการ์ตูนทั้งหมดถูกสร้างให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันจนจบเรื่อง” พระครูอีริคกล่าว
นอกจากนั้นพระครูอีริคยังได้นำเอาหลักจิตวิทยาเด็กมาใช้ในการสร้างแอนิเมชั่นเรื่องนี้ เนื่องจากเด็กนั้นจะมีการจินตนาการสูงอยู่แล้ว ดังนั้น สัตว์ในตำนานจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกความสนใจจากเด็กๆ
“พญานาคในเรื่องนี้เน้นความแปลกใหม่ แต่ละเศียรจะมีบุคลิกที่ต่างกันออกไป เช่น เศียรแรกใส่แว่นเป็นนักวิชาการ เศียรที่สองหน้าดุ และเศียรสุดท้ายหน้าตาใจดียิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อให้ภาพที่ออกมาติดตลก และสนุกสนาน นอกจากนั้นก็จำลองบรรยากาศทุ่งนา วิถีชีวิตชนบทแบบง่ายๆ มีพระบิณฑบาต ชาวบ้านออกมาตักบาตร ซึ่งเป็นภาพที่มีให้เห็นกันน้อยลงจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป” พระครูอีริคเล่า
สำหรับการ์ตูนเรื่องนี้ ไมได้จำกัดผู้ชมแต่เฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ปกครองก็สามารถที่จะดูร่วมกัน และก็สามารถที่จะได้รับความสนุกสนาน ไปพร้อมๆกันกับเด็กๆ ได้
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คุณธรรมการดำเนินชีวิต อย่างถูกต้อง หรือธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ หรือเข้าใจยากแต่อย่างใด หากผู้สร้างสรรค์สามารถนำมาปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอเสียใหม่ ก็จะได้รับการตอบรับจากผู้ชมไม่แพ้การ์ตูน ใส่สารพิษ หรือสื่อไร้สาระ เพียงทว่าผู้ผลิตมีใจ ใส่ใจ และมีความละเอียดอ่อนพอไหม เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีดีๆ ก็มีมากมายให้เลือกหาไปรับใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ในบ้านเราเอาจริงเอาจังกันแค่ไหนเท่านั้นเอง







กำลังโหลดความคิดเห็น