xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๑๑ กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มพระชฎิล คือกลุ่มพระ ๓ รูปที่ออกบวชเป็น ชฎิลก่อนแล้วต่อมาได้ออกบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ ทั้ง ๓ รูป มีประวัติที่น่าศึกษาดังนี้

สถานะเดิม
พระชฎิล ๓ รูป เกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เมือง พาราณสี แคว้นกาสี ตระกูลกัสสปโคตร มีชื่อว่า ‘กัสสปะ’ ตามชื่อตระกูล ทั้ง ๓ รูปเป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน พระอุรุเวลกัสสปะเป็นพี่ชายคนโต พระนทีกัสสปะเป็นพี่ชายคนรอง และพระคยากัสสปะเป็นน้องชายคนเล็ก เมื่อเติบโตแล้วได้ศึกษาจบไตรเพท

ชีวิตฆราวาสและการออกบวช
พราหมณ์ ๓ พี่น้องนี้หลังจากศึกษาไตรเพทแล้ว ครองชีวิตฆราวาสอยู่ได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงพร้อมใจกันออกบวชเป็นชฎิลพร้อมด้วยบริวาร พี่ชายคนโตพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางไปยังอุรุเวลาเสนานิคม อธิษฐานจิตบวชแล้วตั้งอาศรมอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคมนั่นเอง และปรากฏชื่อว่า ‘อุรุเวลกัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมมีแม่น้ำเนรัญชราไหลผ่านจากทิศใต้ไปทิศเหนือ อาศรมของอุรุเวลกัสสปะตั้งอยู่บนฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเนรัญชรา และถัดไปทางตะวันออกของอาศรมมีแม่น้ำโมหนีไหลผ่านอีกสายหนึ่ง ซึ่งมาบรรจบกันแม่น้ำเนรัญชราตรงที่โค้งและเลยจุดที่บรรจบกันนั้นไป แม่น้ำรวมสายนั้นก็เรียกว่าแม่น้ำ คยาตามชื่อสถานที่ที่ไหลผ่าน
พี่ชายคนรองพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ คน เดินทางไป ยังที่บริเวณโค้งแม่น้ำเนรัญชรากับแม่น้ำโมหนีบรรจบ กัน ซึ่งอยู่เหนือจากนั้นไปเล็กน้อย อธิษฐานจิตบวชแล้ว ตั้งอาศรมอยู่ที่โค้งแม่น้ำนั้นเองและปรากฏชื่อว่า ‘นทีกัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่
น้องชายคนเล็กพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ คน เดินทาง ไปยังที่คยาสีสะซึ่งอยู่เหนือจากนั้นไป อธิษฐานจิตบวชแล้วตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคยา และปรากฏชื่อว่า ‘คยากัสสปะ’ ตามชื่อสถานที่
สถานที่ที่พราหมณ์ทั้ง ๓ พี่น้องไปออกบวชเป็นชฎิล แล้วตั้งอาศรมอยู่นั้น อยู่ในแคว้นมคธอันเป็นแคว้นที่มีนักบวชต่างลัทธิต่างศาสนาอยู่กันเป็นจำนวนมาก
ชฎิล ๓ พี่น้องถือลัทธิบูชาไฟ สร้างโรงบูชาไฟไว้ที่ใกล้ อาศรม ในโรงบูชาไฟนั้นมีงูใหญ่อาศัยอยู่ด้วยทำนองจะพิทักษ์สถานที่
ทั้ง ๓ ท่านได้ออกบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด หลังจากที่ทรงส่งพระสาวก ๖๐ รูปออกไปประกาศพระศาสนาแล้ว พระไตรปิฎกกล่าวถึงการออกบวชของท่านไว้ว่า
พระพุทธเข้าเสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปะ อุรุเวลกัสสปะต้อนรับพระองค์เป็นอย่างดี เมื่อพระองค์ตรัสขออนุญาตพักค้างคืนด้วย อุรุเวลกัสสปะได้อนุญาต ให้พระองค์เข้าไปพักในโรงบูชาไฟ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการจับพญานาคซึ่งอยู่ในโรงบูชาไฟนั้นใส่ ไว้ในบาตร และยังได้แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ อาทิ นำผลหว้าจากต้นหว้าใหญ่ อันเป็นไม้ประจำทวีปมาก่อนที่อุรุเวลกัสสปะกลับมาถึง เป็นเหตุให้อุรุเวลกัสสปะเริ่มเลื่อม ใส แต่ยังไม่ยอมรับพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์อยู่ดี ในขณะเดียวกันนั้นก็สำคัญอยู่ว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของอุรุเวลกัสสปะอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อทรงเห็นว่าจิตใจของท่านเริ่มอ่อนโยนพระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า
กัสสปะ เธอไม่ใช่พระอรหันต์หรอกนะ
ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ด้วย
แม้ปฏิปทาของเธอที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์
หรือพบทางแห่งความเป็นอรหันต์ก็ไม่มี

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้อุรุเวลกัสสปะได้คิดหลังจากที่หลอกตัวเองอยู่นาน เมื่อคิดตกแล้วท่านโผเข้าซบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงเตือนให้ท่านแจ้งความประสงค์ให้บริวารของท่านทราบก่อน บริวารของท่านเมื่อทราบความประสงค์แล้วก็ตกลงใจขอบวชตามด้วย หลังจากปลงผม และนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชราพร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขารและเครื่องบูชาไฟแล้ว อุรุเวลกัสสปะและบริวารทั้ง ๕๐๐ ก็พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา
นทีกัสสปะ ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตรงที่โค้งซึ่งแม่น้ำบรรจบ กัน คือแม่น้ำเนรัญชราและแม่น้ำโมหนี ครั้นเห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชาย พร้อมด้วย ของบริวารลอยน้ำมาแล้วจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ เดินทางมาหาอุรุเวลกัสสปะ เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็น พี่ชาย พร้อมด้วยบริวารบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา แล้ว จึงถามว่า
“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”
เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันปลงผมแล้วนำไปลอยลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน
คยากัสสปะ ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ตามแนวฝั่งของแม่น้ำ คยา ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก ครั้นเห็น ผม ชฎา และเครื่องบูชาไฟของชฎิลพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยของบริวารลอยน้ำ มาจำได้ จึงพร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ เดินทางมาหาที่อาศรม เพราะเกรงไปว่าพี่ชายอาจจะได้รับอันตรายจากภัยพิบัติบางอย่าง แต่ครั้นได้มาเห็นพี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวาร บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงถามด้วยคำถามเดียวกับที่นทีกัสสปะถามอุรุเวลกัสสปะว่า
“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ”
เมื่อได้รับคำตอบยืนยันว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ ท่านพร้อมด้วยบริวารจึงพร้อมใจกันทำอย่างที่พี่ชายทั้ง ๒ พร้อมด้วยบริวารทำมาแล้ว คือปลงผมแล้วนำไปลอย ลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมด้วยชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ จากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขอ บวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทุกท่านตามที่ทูลขอ ด้วยวิธีแบบเดียวกับที่ทรงประทานแก่ชฎิลผู้พี่ คือวิธีบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน
การออกบวชของชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ ส่งผลให้พระพุทธเจ้าได้พระสาวกใหม่ถึง ๑,๐๐๓ รูป ภายในวันเดียว

การบรรลุธรรม
หลังจากบวชให้พระชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารแล้ว พระพุทธเจ้าพาพระทั้งหมดนั้นไปยังคยาสีสะซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำคยา ครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ความว่า
สิ่งทั้งปวงนั้นคือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส สุข ทุกข์ หรือความไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราผัสสะต่างๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัย ต่างล้วนเป็นของร้อน เพราะถูกเผาด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘อาทิตตปริยายสูตร’ (สูตรว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน) จบพระธรรมเทศนา พระชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ
บรรดาชฎิล ๓ พี่น้อง พระอุรุเวลกัสสปะนับว่าได้ช่วย พระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง พระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
ครั้นโปรดพระชฏิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารให้ได้ บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาพระทั้งหมดเดิน ทางเข้าเมืองราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ทูล ขอไว้ตั้งแต่ครั้งยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กล่าวคือ คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชใหม่ๆ นั้น ได้เสด็จมา พบพระเจ้าพิมพิสารที่ภูเขาปัณฑวะ เขตเมืองราชคฤห์ หลังจากทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม (ความหลุดพ้นจากทุกข์) พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสอนุโมทนา และขอให้เสด็จกลับมาโปรดพระองค์หลังจากได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับคำขอ และการเสด็จไปเมืองราชคฤห์ครั้งนี้ ก็เป็นการเสด็จไปตามคำขอครั้งนั้น
เมื่อถึงเมืองราชคฤห์แล้ว พระพุทธเจ้าได้พาพระสาวก ใหม่ทั้ง ๑,๐๐๓ รูป ไปประทับในสวนตาลหนุ่ม(ลัฏฐิวัน) ข่าวคราวที่พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากประทับอยู่ที่นั้นระบือไปทั่ว พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวมคธ จำนวน ๑๒ นหุต เสด็จมาเฝ้า ครั้นถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ประทับนั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่พระองค์ ส่วนพราหมณ์และคหบดีที่ตามเสด็จมานั้นต่างแสดงกิริยา อาการต่างๆ กัน บางพวกถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกไม่ถวายบังคมเป็นแต่ ทูลสนทนาปราศรัยพอให้คุ้นเคยกันแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกเพียงแต่ประคองอัญชลีไหว้ บางพวกเพียงแต่ประกาศชื่อและสกุล(โคตร) และบางพวกได้ แต่นั่งเฉย เหตุที่พราหมณ์และคหบดีชาวมคธแสดงกิริยา อาการต่างๆ นั้นเป็นเพราะยังไม่แน่ใจว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอุรุเวลกัสสปะ ใครเป็นศาสดาของใคร
(อ่านต่อฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น