xs
xsm
sm
md
lg

คนรู้ใจ : สภาพจิต 5 อย่างที่ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 117 ความสุข 5 ขั้น ตอนที่ 2 ตอนเครื่องปรุงความสุข

ความตอนจากความสุข 5 ขั้น ตอนความสุขขั้นที่ 1 ในสัปดาห์ที่แล้ว ที่มนุษย์เรามักหาความสุขจากการเสพวัตถุ หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอก ที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา
ทั้งที่ความจริงแล้ว ความสุขในชีวิต มีมากกว่าการเสพครับ นั่นคือความสุขที่อยู่เหนือความสุข ตามที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในคู่มือชีวิตว่า ความสุขมีทั้งหมด 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ความสุขจากการเสพวัตถุ ขั้นที่ 2 ความสุขจากการเจริญธรรม ขั้นที่ 3 ความสุขจากการดำเนินชีวิตถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ขั้นที่ 4 ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง และขั้นที่ 5 ความสุขเหนือการปรุงแต่ง

ขั้นที่ 2 ความสุขจากการเจริญธรรม ด้วยการมีเมตตากรุณา มีศรัทธา เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพต้องได้ ต้องเอา เมื่อได้จึงจะมีความสุข ถ้าคือเสียก็ไม่มีความสุข แต่คราวนี้ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป เหมือนพ่อแม่ ที่มีความสุขเมื่อให้แก่ลูก เพราะรักลูก ความรักคือเมตตา ทำให้อยากให้ลูกมีความสุขพอให้แก่ลูกแล้วเห็นลูกมีความสุข ตัวเองก็มีความสุข
ความสุขขั้นนี้เมื่อพัฒนาเมตตากรุณา ขยายออกไปถึงใคร ให้แก่คนนั้น ก็ทำให้ตัวเองมีความสุขศรัทธาในพระศาสนาในการทำความดี และในการบำเพ็ญประโยชน์เป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน เมื่อให้ด้วยศรัทธา ก็มีความสุขจากการให้นั้น จึงทำให้เรามีความสุขจากการให้ การให้กลายเป็นความสุข

ขั้นที่ 3 ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ ที่ผ่านมานั้น เราอยู่ในโลกของสมมติมาก และบางทีเราก็หลงไปกับความสุขในโลกของสมมตินั้น แล้วก็ถูกสมมติ ล่อหลอกเอา อยู่ด้วยความหวังสุขจากสมมติที่ไม่จริงจังยั่งยืน และพาให้ตัวแปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติ และขาดความสุขที่พึงได้จากความเป็นจริงในธรรมชาติ
คนที่ปรับชีวิตได้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ จึงสามารถหาความสุขจากการดำเนินชีวิต ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ได้เสมอ พอปัญญามาบรรจบให้วางใจถูก ชีวิตและความสุขก็ถึงความสมบูรณ์

ขั้นที่ 4 ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง เรามักจะใช้ความสามารถในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง แทนที่จะปรุงแต่งความสุข เรามักจะปรุงแต่งทุกข์ คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดใจ ขัดหู ขัดตา เอามาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักใช้ความสามารถในการปรุงแต่ง แทนที่จะปรุงทุกข์ ก็ปรุงสุข เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย แม้แต่หายใจ ยังให้ปรุงแต่งความสุขไปด้วย หายใจเข้า ก็ทำใจให้เบิกบาน เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โปร่งเบา
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าสภาพจิต 5 อย่างอย่างนี้ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ 1. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกปานใจ 2. ปีติ ความอิ่มใจ 3. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด 4. ความสุข ความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง และ 5. สมาธิ ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามาต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน จิตอยู่ตัวของมัน
แต่คนเรามักจะปรุงแต่งจิตสวนทางกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ชอบที่จะปรุงทุกข์มากกว่าปรุงสุข หายใจเข้าเป็นโกรธ หายใจออกเป็นหงุดหงิด อะไรมากระทบล้วนแล้วแต่เกิดจิตขวางหูขวางตา พร้อมเพิ่มดีกรีจิตให้พุ่งสูง
ไม่เชื่อลองสำรวจจิตตัวเองดูในขณะนี้สิครับว่า จิตของคุณกำลังปรุงรสชาติไหน คิดให้ง่ายๆ ครับ เวลาคุณรับประทานก๋วยเตี๋ยว คุณใส่น้ำตาล รสชาติออกมาหวาน คุณใส่น้ำส้มสายชู รสชาติออกมาเปรี้ยว คุณใส่น้ำปลา รสชาติออกมาเค็ม หากคุณต้องการความเผ็ดร้อน คุณต้องใส่พริกป่น
คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่คุณใส่พริกป่น แล้วก๋วยเตี๋ยวของคุณจะหวาน เช่นกันครับ คุณปรุงจิตให้สุข ใจก็เป็นสุขครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ขั้นที่ 5 ความสุขเหนือการปรุงแต่ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น