แม้ว่า‘ปราสาทตาพรหม’ ที่อยู่ในประเทศกัมพูชาหรือเขมร จะไม่ใช่ปราสาทที่ใหญ่โตอลังการและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีเช่นเดียวกับนครวัด นครธม แต่ปราสาทหลังนี้ก็มีความหมายและเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ
ปราสาทตาพรหม เป็นราชวิหาร หรือวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรขอมโบราณ เป็นยุคที่อาณาจักรขอมหรือเขมรรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1724 และด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา จึงทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ให้เจริญแพร่หลายเป็นอย่างมาก
หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ได้ 5 ปี ก็ได้ทรงสร้างปราสาทตาพรมขึ้นในปี พ.ศ.1729 เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชมารดาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนา คือพระนางชัยราชจุฑามณี ที่พระองค์ทรงเปรียบพระราชมารดาว่าประดุจพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นเทวีแห่งปัญญา หรือพระมารดาแห่งพระพุทธเจ้า และด้วยความเชื่อที่ว่าพระองค์เองเป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ดังนั้นพระราชมารดาของพระองค์จึงเป็นดั่งพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งปรากฏรูปปั้นพระนางปรัชญาปารมิตา ในประสาทหลังนี้ไม่น้อยกว่า 260 องค์ และมีพระแท่นที่เหลือแต่เค้าเป็นเงารางๆปรากฏอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระนางชัยราชจุฑามณี
ปราสาทตาพรหม ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐหรือเสียมเรียบ มีเนื้อที่โดยรวมราว 370 ไร่ และเฉพาะตัวปราสาท ประมาณ 6.25 ไร่ เป็นศิลปะแบบบายน ประกอบด้วยหมู่ปราสาทน้อยใหญ่ 24 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน รอบหมู่ปราสาทเป็นกำแพงดิน ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 700 เมตร ยาว 1,000 เมตร มีภาพสลักพระพุทธรูปมาก มาย แต่มีร่องรอยการถูกทำลาย และเปลี่ยนเป็นศิวลึงค์แทนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งทรงนับถือศาสนาฮินดู
มีจารึกเกี่ยวกับปราสาทหลังนี้ไว้ที่แผ่นศิลา ซึ่งปัจจุบันแผ่นจารึกนี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์เมืองพระนคร บางตอน ในจารึกระบุว่า ปราสาทหลังนี้ถูกจัดให้เป็นสถานศึกษาของภิกษุสงฆ์ และเป็นวิหารสำหรับอยู่อาศัย โดยมีผู้คนอาศัยอยู่ในปราสาทหลังนี้ถึง 12,640 คน ในจำนวนนี้เป็นพระเถระชั้นสูง 18 รูป พระสงฆ์อีกกว่า 2,500 รูป มีห้องที่กว้างขวางใหญ่โตถึง 600 ห้อง และมีคนจำนวน 79,365 คน จาก 3,140 หมู่บ้านโดยรอบ มาช่วยดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อมาทำเป็นอาหาร
ปราสาทตาพรหมถูกป่ากลืนกินจนต้องปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 600 ปี กระทั่งต้นไทรชนิดหนึ่ง ที่เขมรเรียกว่า ‘ต้นสะปง’ ขนาดมหึมา แผ่ขยายปกคลุมตั้งแต่ฐานล่างจนถึงยอดปราสาท โดยรากขนาดใหญ่ชอนไชโอบรัดไปตามตัวปราสาท ดุจดังพญานาคราชเลื้อยโอบอุ้มคุ้มครองดูแล จนกระทั่งนายเฮนรี่ โมฮอต นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้มาค้นพบปราสาทหลังนี้ท่ามกลางป่าดงดิบเมื่อ พ.ศ.2403 และแม้ว่า ต้นไม้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปราสาททรุดโทรมลง แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง รากไม้ก็เป็นตัวช่วยโอบอุ้มปราสาทนี้ไว้ได้อย่าง น่าอัศจรรย์ค่ะ จนกลายเป็นความโดดเด่นของปราสาทตาพรหมที่ชวนให้ผู้คนไปเยือน นอกเหนือจากการไปดูทับหลังที่ยังมีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นอีกแห่งหนึ่งของที่นี่
หากใครมีโอกาสไปเที่ยวเขมร ก็อย่าลืมไปแวะดูความงามจากฝีมือมนุษย์บวกกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรไว้ ซึ่งผสานกันได้อย่างลงตัวและงดงาม ณ ปราสาทตาพรหมแห่งนี้