xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ : รอยพระพุทธบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยพระพุทธบาทนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันที่จริง มีมาก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปไว้แทนพระพุทธองค์มาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณและยังคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างพระพุทธรูปแล้วก็ตามทว่าความหมายแห่งการบูชาได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ก่อนการสร้างพระพุทธรูป ในภายหลังที่ปรากฎพระพุทธรูปแล้วรอยพระพุทธบาทได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเพื่อแสดงถึงว่าเป็นดินแดนที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินไปถึง เป็นสิริมงคล ซึ่งตามตำนานอ้างไว้ว่า รอยพระพุทธบาทซึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับไว้ 5 แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก, เขาสุวรรณบรรพต, เขาสุมนกูฏ, เมืองโยนกบุรี และหาดทรายในลำน้ำ นัมมทานที
ตามคติการบูชารอยพระพุทธบาทนั้น เชื่อว่ารอยพระพุทธบาท ที่เขาสุมนกูฏได้แพร่หลายเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาจากลังกาเผยแผ่เข้ามายังประเทศไทย และมีการกล่าวถึงการจำลองรอยพระพุทธบาทจากลังกามาประดิษฐานไว้เช่นกัน ซึ่งปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลายหลัก เช่น ศิลาจารึกนครชุม
สำหรับหลักฐานที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทยนั้นคือ การพบรอยพระพุทธบาทคู่ที่เมืองโบราณศรีมโหสถ วัดสระมรกต อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี อันเป็นร่องรอยในอารยธรรมทวารวดี กำหนดอายุน่าจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ซึ่งสลักจากศิลาแลง ความกว้างทั้งคู่ประมาณ 3.10 เมตร ตรงกลางฝ่าพระบาทนั้นสลักนูนเป็นรูปธรรมจักรขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.10 เมตร นับว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่มีขนาด ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้
ในช่วงแรกๆของการสร้างรอยพระพุทธบาท จะมีการสลักเป็นแบบตามธรรมชาติ แต่สลักลวด ลายวงกลมเป็นรูปพระธรรมจักรซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแสดงให้ ทราบว่าเป็นรอยพระบาทของพระพุทธองค์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเสด็จมาเพื่อบำเพ็ญพุทธกิจ
จากนั้นไม่พบหลักฐานการสร้างรอยพระพุทธบาท จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 19 ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ทำให้มีการประดับลวดลายบนฝ่าพระพุทธบาทมากขึ้นตามลำดับ นอกเหนือไปจากลายวงล้อพระธรรมจักร ซึ่งได้แก่ลายมงคล 108 ประการ อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งมหาบุรุษลักษณะ
ลายมงคล 108 ประการ ประกอบขึ้นด้วย
1.สัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความเจริญและความอุดม
สมบูรณ์

2.เครื่องประกอบบารมีของพระมหากษัตริย์และพระ
เจ้าจักรพรรดิ

3.ส่วนประกอบทางรูปธรรมและนามธรรมของสุคติภพในจักรวาล
ทั้งหลายเหล่านี้รวมเป็นมงคลทั้ง 108 ประการ อันแสดงออกถึงความเป็นสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันจักคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่บูชาพระองค์
รอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยพบทั้งรอยพระพุทธบาทแบบเดี่ยว และแบบคู่ ในจารึกสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 19 ระเบียบลำดับของมงคลเป็นแบบ เดียวกันกับที่พุกาม คือเริ่มต้นที่ใต้หัว แม่เท้าเดินตามแนวนอนไปจนสุดความกว้าง ของรอยพระบาท วนลงสู่แนวส้นเท้า แล้วย้อนขึ้นตีวงแคบเข้าทุกทีจนจบลงที่ตรงกลาง ต่อมาพบพระพุทธบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการจัดมงคล 108 ประการที่รับแบบจากพุกาม พบที่รอยพระบาทจำลองสลักหินรอยหนึ่งจากวัดศรีชุม ระเบียบการจัดลายที่สืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์คือ ระเบียบอันแสดงแผนผังของสุคติภูมิแห่งจักรวาล มีพรหมโลกอยู่ด้านบนสุด เทวโลก เขาพระสุเมรุ โลกมนุษย์ เขา จักรวาล และมหาสมุทร อยู่ลดหลั่นกันลงมา และยังพบระเบียบการจัดรูปมงคล อีกระบบหนึ่งซึ่งปรากฎแล้วในสมัยสุโขทัย หลังพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นรอยพระพุทธบาทที่มีรูป ธรรมจักรขนาดใหญ่ ภายในมีสัญลักษณ์มงคล 108 ประการ ในส่วนตรงกลางแสดงรูปพรหมโลก เทวโลกอันเป็นภูมิสูงสุดในจักรวาล จักรพรรดิรัตนะ ประกอบบารมีและเครื่องสูงของพระองค์ รวมทั้งมงคลอื่นๆ เป็นส่วนประกอบของมนุษย์อยู่รอบนอก
การจัดมงคลในระบบตารางซึ่งนิยมมาก่อนแล้วใน สมัยสุโขทัยนั้น ได้กระทำสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา และเป็นที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 22-23)
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ลายมงคล 108 ประการ นั้น นิยมบรรจุลงในตารางเช่นเดียวกันกับสมัยสุโขทัย และอยุธยา วงกลมกลางฝ่าพระบาทที่เคยเป็นธรรมจักร ไม่มีสัญลักษณ์แทรกในวง และมักเป็นรูปดอกบัวบานเป็นสัญลักษณ์ของโลก
ดังจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนได้ อาทิ ที่วัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์)วัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้ สร้างวิหารพระนอนเพิ่มเติม ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปองค์นี้ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั่วทั้งองค์ ยาว 45 เมตร สูง 15 เมตร ส่วนฝ่าพระบาทปรากฏลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล108 ประการเช่นกัน

เอกสารอ่านประกอบ
นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเซียใต้ และเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2533.
บุญเลิศ เสนานนท์. ตำนานพระพุทธบาทและคัมภีร์พุทฺธปาลกฺขณ.กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์การพิมพ์, 2536.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
กำลังโหลดความคิดเห็น