xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : คนดีมีวินัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของชนชาวไทย คนไทยในสมัยนั้นยังมีความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์ของขอม อิทธิพลของราชสำนักขอมยังมีผลต่อการรวมตัวเป็นชาติไทยของคนในสมัยนั้น เหตุนี้ทำให้พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงวิริยะอุตสาหะประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเพื่อประกาศเอกราชของชาติไทย ทรงยกย่องศาสนาพุทธแบบลังกาเป็นศาสนาประจำชาติไทย พระองค์ทรงนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาสร้างธรรมเนียมประเพณีที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของคนไทยให้ปรากฏประจักษ์แก่ประเทศทั้งหลายในถิ่นนี้
พระยาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยผู้ทรงเป็นนักปราชญ์แตกฉานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ทรงนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเป็นคติธรรมสอนพสกนิกรให้ตระหนักในเรื่องบุญบาป พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระศรีศากยมุนี เพื่อประกาศถึงศิลปกรรมของคนไทยที่มีความอ่อนโยนงดงามประทับใจผู้พบเห็น
พระบรมไตรโลกนาถ ทรงรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกรุงศรีอยุธยา ด้วยความเป็นธรรมมิกราชา ทรงผนวช ณ วัดจุฬามณี เมืองพิษณุ โลก เป็นเวลา ๘ เดือน
พระเจ้าทรงธรรม ทรงโปรดให้แต่งมหาชาติคำ หลวงและพระไตรปิฎก พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ที่ เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี ตระกูลบุนนาคเดิมนับถือศาสนาอิสลาม ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนมากในสมัยของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงฟื้นฟูประเทศชาติให้กลับมาสู่ความรุ่งเรืองด้วยพระราช ปณิธานว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา” ทรงอุปถัมภ์ให้คณะสงฆ์จัดการสังคายนาพระไตรปิฎก จนสำเร็จเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง
ที่กล่าวมานี้เพื่อแสดงให้ทราบว่าพระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมาแต่ต้น คนไทยนับถือพระพุทธศาสนาด้วขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่อดีต
การบวชเรียนของชายไทยเป็นเพียงการเข้าวัดเพื่อ ศึกษาพระธรรมวินัย และศิลปวิทยาการที่จำเป็นต่อการ ดำรงชีพเท่านั้น คนไทยมีวิถีทางการดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของพระพุทธศาสนามาโดยตลอด เป็นวิถีชีวิตที่ เรียบง่าย เปี่ยมไปด้วยความสุขตามอัตภาพ นี้คือสิ่งที่ สังคมโลกรับรู้และยอมรับตลอดมา
การบวช เป็นประเพณีที่ยังมีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) ทรงพรรณนาว่า
“คำว่า บวช น่าจะแปลงคำบาลีมาเป็นไทยจากคำว่า ‘ป + วช’ ซึ่งแปลว่า ออกไป คือ ออกจากตระกูล ยอมสละโภคสมบัติ ยศศักดิ์ และความสุขส่วนตัว ไปประพฤติตนเป็นนักบวช เที่ยวสั่งสอนมหาชน ถือว่าได้ ยังประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จ ทำความเกิดของตนไม่ให้ ไร้ผลเปล่า นี้เป็นจุดมุ่งหมายของคำว่าบวช
การบวชในพระพุทธศาสนา ย่อมมีวิธีการอันเป็น ระเบียบที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้ เพื่อรับคน นอกเข้าอยู่ร่วมพวกเดียวกันเรียกว่า ‘วินัย’ เป็นระเบียบสำหรับฝึกหัดกาย วาจา หรือกำจัดโทษทางกาย วาจา ให้อยู่ในความเป็นผู้สงบระงับ เรียบร้อย จะได้เป็นบรรพชิต คือนักบวช ผู้ออกไป ที่น่าเคารพเลื่อม ใสศรัทธาของมหาชน การบวชตามระเบียบวินัยของพระพุทธศาสนาเรียก ‘ภิกขุ’ คือผู้ขอ หมายความว่าอาศัยปัจจัย ๔ จากมหาชนเป็นผู้บำรุง
เมื่อประเพณีการบวชเจริญแพร่หลายอยู่ในประเทศไทย การบวชคือ บรรพชาอุปสมบท คงดำรงอยู่ในเพศ บรรพชิตชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้างตามกำลังศรัทธาปสาทะ และเพื่อให้กำหนดลำดับอาวุโส คือการบวชก่อนได้ชัดเจน จึงหมายรู้ด้วยการได้บวชผ่านการอธิษฐานจำพรรษามาได้จำนวนเท่าไรเป็นเกณฑ์ ต่อมาเมื่อผู้มีศรัทธาอุตสาหะปรารถนาบรรพชาอุปสมบท แต่ยังมีภาระห่วงใยในด้านอาชีพ เช่น เป็นข้าราชการเป็นต้น ไม่สามารถปลีกตนออกบวชได้จนถึงผ่านฤดูฝน ซึ่งเป็นเวลาครบ ๑ ปี ก็นิยมเข้าขออุปสมบทแต่เพียงในฤดูฝน ๓ เดือน เรียกว่า ‘จำพรรษา’ ซึ่งทางพระวินัยกำหนดแน่นอนว่า ถึงฤดูฝนภิกษุต้องอยู่ประจำที่ จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้ จนตลอด ๓ เดือน เว้นแต่มีกิจจำเป็นก็อนุญาตให้ไปได้ไม่เกิน ๗ วัน และในการจำพรรษาอยู่ประจำที่ ท่านแนะให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา จนตลอด
ผู้ไม่มีโอกาสบวชได้ตลอดปี จึงนิยมบวชเฉพาะใน ฤดูฝน จะได้ศึกษาธรรมวินัยเต็มที่ กับมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามวินัยอีกหลายอย่าง เช่น พิธีอธิษฐานจำพรรษา พิธีปวารณาออกพรรษา พิธีรับกฐิน ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ บังคับให้ปฏิบัติเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น นอกฤดูฝนปฏิบัติไม่ได้
จึงเป็นอันว่า ในฤดูฝนพระภิกษุอยู่รวมกัน มีการศึกษาธรรมวินัยเคร่งครัดกว่า มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ระเบียบพระวินัยมากกว่าฤดูอื่น ผู้ตัดภาระกังวลห่วง ใยในอาชีพไม่ได้นานถึงตลอดปี จึงนิยมบวชเฉพาะใน ฤดูฝนเท่านั้น และนับเวลาในฤดูฝนนี้ว่า ‘พรรษา’ ซึ่งเป็นคำแปลงมาจากภาษามคธ แปลว่า ‘ฤดูฝน’ แทนที่จะนับพรรษาอย่างเดิมคือ ๑ ปี กลายมานับเพียงฤดูฝน ๓ เดือน
จุดประสงค์ของผู้บวช แทนที่จะมุ่งหวังคุณธรรมใน พระศาสนาจนตลอดชีวิตก็กลับมาเป็นเพียงหาเวลาศึกษาเล่าเรียนข้อคำสอนของพระศาสนา ให้พอทราบแนวทางว่าตรัสห้ามไว้อย่างไรบ้าง ตรัสแนะนำไว้อย่าง ไรบ้าง จะได้จดจำนำติดตัวเป็นสติปัญญา ใช้แก้ไขดัดแปลงชีวิตของตนให้เว้นห่างจากข้อห้าม หมั่นพยายามประพฤติตามข้อแนะนำสืบไป พอให้สมกับชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคือผู้เคารพนับถือตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เมื่อผู้บวชตั้งเจตนาใช้เวลาในขณะบวช ให้เกิดคุณประโยชน์ได้จริงจังเช่นนี้ ก็นับว่าได้ผลพอใช้ ใครมีเวลาบวชได้น้อยโอกาสศึกษาเล่าเรียนอบรมจิตใจย่อมได้น้อย ใครมีเวลาบวชได้มาก ก็มีโอกาสศึกษาได้มาก เพิ่มสติปัญญาได้กว้างขวาง ข้อสำคัญอย่าถือบวชตามประเพณี ไม่เกิดเลื่อมใสศรัทธาเต็มที่ ย่อมจะเสียผลประโยชน์หลายด้าน ทั้งแก่ตน และผู้อื่นอย่างน่าเสียดาย
ปีหนึ่งๆ มีผู้เข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร มีจำนวนไม่น้อย เมื่อบวชแล้วย่อมได้รับการอบรมฝึก ฝนจากสำนักที่บวช ให้พอรู้จักบาปบุญคุณโทษตามหลักคำสอนของพระศาสนา พอสมหน้าที่ของคนที่นับถือ ให้งดเว้นข้อที่ศาสนาห้าม ทำตามข้อที่ศาสนาสั่งสอน ทั้งต่อหน้าและลับหลังทุกวันคืน เมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ไม่ควรทอดทิ้งความรู้ที่ได้รับการอบรมนั้นไว้เสีย ที่วัด ควรนำติดตัวมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นลูกแก้วลูก ขวัญของพ่อแม่ หมู่ญาติ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติกันบ้าง ความสงบสุข ไม่ต้องหวาดระแวงภัยก็จะบังเกิดแก่ประเทศชาติมิใช่น้อย
ในปัจจุบันนี้ ดูเป็นที่น่าเสียดาย ด้วยคงคิดบวชแต่ เพียงส่วนกายกับวาจาเท่านั้น ไม่ได้บวชถึงน้ำใจด้วย จึงมักถูกเย้ยว่าพวกคิดสึกเสียก่อนบวชแล้ว คือเตรียม หาฤกษ์ยามบวชในเดือนกรกฎาคม ลาสิกขาในเดือนตุลาคม น่าจะคิดช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนาด้วยการ นำข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามมาเป็นหลักนิสัยใจคอของตนด้วย เป็นการนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ครอบครัวและญาติมิตรด้วยเมืองสวรรค์ก็จะอยู่แค่เอื้อมมือถึงนี่เอง
ยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อลูกชายได้บวชแล้ว ชื่อว่าได้ช่วยให้บิดามารดาเป็นญาติกับพระศาสนาสนิทสนมยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลธรรมดา เมื่อลูกยัง ไม่ได้บวช บิดามารดาก็ยังไม่มีเหตุอะไรชักจูงให้เยี่ยม กรายเข้าวัด นอกจากประเพณีทั่วๆ ไปบางครั้งบางคราว ครั้นมีลูกได้บวชแล้วย่อมเป็นเหตุชักจูงให้มีเวลาเข้าเยี่ยมไปมาหาสู่บ่อยๆ นำให้ได้คุ้นเคยกับภิกษุสามเณร อื่นอีกด้วย ถึงลูกจะลาสิกขากลับมาอยู่บ้านแล้ว ก็ยังมี ภิกษุสามเณรที่คุ้นเคยชวนให้ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียน ไม่เป็นเหตุให้เก้อเขิน ด้วยวิธีการเช่นนี้ ความใกล้ชิดสนิท สนมประดุจญาติย่อมเกิดขึ้นสืบไป นัยว่าที่นำบิดามารดาให้เป็นญาติกับพระศาสนาอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็น การแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาได้อีกประการหนึ่ง”
พระใหม่เมื่อบวชแล้ว ย่อมต้องศึกษาทำความเข้า ใจถึงพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ การศึกษา พระวินัยจากพระไตรปิฎกโดยตรงย่อมต้องใช้เวลามาก เหตุนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาหนังสือวินัยมุขขึ้น เพื่อจะชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยให้พระใหม่ได้ทราบ โดยถือหลักตามพระไตรปิฎกที่แบ่งพระวินัยเป็น ๒ คือ
๑. อาทิพรหมจริยกาสิกขา ข้อศึกษาเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ว่าด้วยพระพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งไว้โดยพุทธอาณา จัดว่าเป็นกฎหมายยกเป็นสำคัญ สงฆ์สวดทุกกึ่งเดือน เรียกว่า พระปาติโมกข์
๒. อภิสมาจาริกาสิกขา ข้อศึกษาเนื่องด้วยมรรยาท อันดีที่ทรงบัญญัติหรืออนุญาตไว้ โดยฐานเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงาม ไม่ได้สงเคราะห์เข้าในพระปาติโมกข์
ในตอนแรกที่ยังมีภิกษุน้อยอยู่ การปกครองก็ไม่ สู้ต้องการเท่าไรนัก สาวกทั้งปวงได้ประพฤติตามปฏิปทาของพระศาสดา และทราบพระศาสนาทั่วถึง ครั้นภิกษุมีมากขึ้นโดยลำดับกาลและกระจายกันอยู่ ไม่ได้ รวมเป็นหมู่เดียวกัน การปกครองก็ต้องการมากขึ้นตาม กัน คนเราที่อยู่เป็นหมวดหมู่จะอยู่ตามลำพังไม่ได้ เพราะมีอัธยาศัยต่างกัน มีกำลังไม่เท่ากัน ผู้มีอัธยาศัย หยาบและมีกำลังมากก็จะข่มเหงคนอื่น คนสุภาพและ คนมีกำลังน้อยก็จะอยู่ไม่เป็นสุข เหตุนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงตั้งกฎหมายขึ้น ห้ามปรามไม่ให้คนประพฤติ ในทางผิด และวางโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้ด้วย นอกจากนี้ในหมู่หนึ่งๆ เขาก็ยังมีธรรมเนียมสำหรับประพฤติอีก เช่นในสกุลผู้ดี เขาก็มีธรรมเนียม สำหรับคนในสกุลนั้น ในหมู่ภิกษุก็จำต้องมีกฎหมาย และขนบธรรมเนียม สำหรับป้องกันความเสียหายและชักจูงให้ประพฤติดีงามเหมือนกัน พระศาสดาทรงตั้งอยู่ในที่เป็นพระธรรมราชาผู้ปกครอง และทรงตั้งอยู่ในที่เป็นพระสังฆบิดร ผู้ดูแลภิกษุสงฆ์ พระองค์จึงได้ทรงทำหน้าที่ทั้ง ๒ ประการนั้น คือทรงตั้งพระพุทธบัญญัติ เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดด้วยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง อย่างเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินตั้งพระราชบัญญัติ อีกฝ่ายหนึ่งทรง แต่งตั้งขนบธรรมเนียม ซึ่งเรียกว่า ‘อภิสมาจาร’ เพื่อชัก นำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงามดุจบิดาผู้เป็น ใหญ่ในสกุลฝึกปรือบุตรของตนในขนบธรรมเนียมของ สกุล ฉะนั้นพระพุทธบัญญัติและอภิสมาจาร ทั้ง ๒ นี้รวมเรียกว่า พระวินัย
พระวินัยนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางไว้ก่อน ต่อเมื่อมีภิกษุทำผิดจนเป็นที่ติเตียนของชาวบ้านหรือภิกษุ ด้วยกัน แล้วมีผู้นำความผิดของภิกษุนั้นไปทูลให้ทรง ทราบ เมื่อนั้นพระพุทธองค์ทรงประชุมสงฆ์ทรงสอบ ถามภิกษุต้นเรื่องจนได้ความกระจ่างแล้วทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น และทรงแสดงอานิสงส์แห่งความ สำรวม แล้วจึงทรงตั้งพระบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป วางโทษคือปรับอาบัติไว้หนักบ้าง เบาบ้าง ข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิมเช่นนี้ เรียกว่า ‘มูลบัญญัติ’ ข้อที่ทรงตั้งเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ เรียกว่า ‘อนุบัญญัติ’ รวมมูลบัญญัติและอนุบัญญัติเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘สิกขาบท’

พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาคแสดงถึงเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท ซึ่งทรงบัญญัติด้วยอาศัย
ประโยชน์ ๑๐ ประการคือ
๑.เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒.เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
๓.เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๔.เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕.เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖.เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต
๗.เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘.เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
๙.เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐.เพื่อถือตามพระวินัย
กิริยาที่ล่วงละเมิดพระบัญญัตินั้น และมีโทษเหนือ ตนอยู่ชื่อว่า ‘อาบัติ’ แปลว่า ‘ความต้อง’ เมื่อกล่าวโดย โทษ มี ๓ สถาน คือ
๑. อย่างหนัก ยังผู้ต้องให้ขาดจากความเป็นภิกษุ เช่น ปาราชิก ๔
๒. อย่างกลาง ยังผู้ต้องให้อยู่กรรม คือประพฤติวัตรอย่างหนึ่ง เพื่อทรมานตน เช่น สังฆาทิเสส
๓. อย่างเบา ยังผู้ต้องให้ประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน เช่น ปาจิตตีย์ เมื่อได้ทำดังนี้จึงจะพ้นโทษนั้นได้
อาการที่จะต้องอาบัตินั้นมี ๖ อย่างคือ
๑.ต้องด้วยความไม่ละอาย เช่นภิกษุรู้อยู่แล้ว และละเมิดพระบัญญัติ
๒.ต้องด้วยความไม่รู้ เช่นภิกษุไม่รู้ว่าทำอย่างนั้นๆ มีพระบัญญัติห้ามไว้ และทำล่วงพระบัญญัติ
๓.ต้องด้วยสงสัย แล้วขืนทำ เช่นภิกษุสงสัยอยู่ว่า ทำอย่างนั้นๆ ผิดพระบัญญัติหรือไม่ แต่ขืนทำด้วยความสะเพร่า
๔.ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของไม่ควร เช่น เนื้อสัตว์ที่เขาไม่ได้ใช้เป็นอาหาร เป็นของต้องห้ามไม่ให้ฉัน ภิกษุสำคัญว่าควรแล้วและฉัน
๕.ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร เช่น เนื้อสัตว์ที่เขาใช้เป็นอาหารเป็นของควรภิกษุสำคัญว่าเป็นเนื้อต้องห้าม แต่ขืนฉัน
๖. ต้องด้วยความลืมสติ เช่น น้ำผึ้ง จัดว่าเป็นเภสัช (ยา)อย่างหนึ่ง รับประเคนแล้ว เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน ภิกษุลืมไปปล่อยให้ล่วงกำหนดนั้น
พระสงฆ์ที่ประพฤติตนไม่ให้ล่วงละเมิดพระวินัยได้ ย่อมต้องศึกษาทำความเข้าใจในพระพุทธบัญญัติและอภิสมาจารจนเข้าใจถูกต้องตรงตามธรรม ต้องเป็นผู้มี ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปด้วยเห็นโทษแห่งการละเมิดพระวินัย
พระสงฆ์ผู้ประพฤติเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้มีสติ สำรวมในวัตรปฏิบัติตรงตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ควรแก่ การเคารพเลื่อมใสของชุมชนและเพื่อนสหธรรมิกเป็นศรีสง่าแก่พระพุทธศาสนา
พระวินัย ทำพระสงฆ์ให้เป็นผู้มีระเบียบเรียบร้อย ฉันใด กฎหมายบ้านเมืองก็ทำให้คนในสังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย ฉันนั้น กฎหมายที่ออกโดยสุจริตธรรม ย่อมทำให้เกิดความเสมอภาคขึ้นในสังคม ชักนำให้ประชาชนปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยความยินดี ความวุ่นวายสับสนในสังคมไทยขณะนี้ กล่าวว่า เป็นผลมาจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มหนึ่ง และทำลายประโยชน์ของคน อีกกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือความมีอคติของผู้ใช้กฎหมาย ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนั้นเพื่อตน เองและหมู่คณะ วันใดที่ประชาชนไม่ยอมรับปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้ วันนั้นความวุ่นวายจลาจลย่อมเกิดขึ้นในสังคม
พระสงฆ์ที่ดีย่อมต้องมีวินัยเป็นกรอบแห่งการปฏิบัติตนฉันใด คนดีก็ต้องมีวินัยในการปฏิบัติตนฉันนั้น
เหตุนี้จึงกล่าวว่า คนดีมีวินัย แล
กำลังโหลดความคิดเห็น