xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องอยู่ ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อรับชมและฟัง ในรูปแบบ Photo Slide Show

ธรรมจากหลวงปู่พุทธอิสระ

หลวงปู่มีธรรมชาติเป็นเครื่องอยู่ โดยธรรมชาติเป็นเครื่องอยู่ อยู่ในธรรมชาติ และเรากับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน เราจึงกลายเป็นบุคคลที่ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นคลอน และไม่ง่อนแง่น ต่ออนิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ คือของชอบใจกับของไม่ชอบใจ ของยอมรับและของปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เราเสียสมดุลในการเป็นตัวของตัวเองแท้ๆรูปกาย ภายนอก หรือรูปร่าง การอยู่ในสังคม เราอาจจะทำตนเป็นบุคคลที่สังคมมองว่าเราคือพวกพ้อง นั่นก็คือที่เขาบอกว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตาม แต่ไม่ใช่เหล่หรือบอด ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าเราจะเจอพายุพัดกระหน่ำขนาดไหน มารร้ายผีห่า ซาตานจะฉุดกระชากลากถูมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่เราวางใจได้ก็คือ เรามีที่อยู่ คือเรามีเครื่องอยู่ของเรา

พวกเราจะสังเกตว่า ไม่ว่าหลวงปู่จะมีชีวิตเป็นพ่อครัว เป็นผู้บริหาร เป็นนักพัฒนา มาเป็นนักแสดงธรรม เป็นนักด่า เป็นนักเทศน์ นักสอน หรือเป็นนักกระทำก็ตามทีแต่ที่สุดหลวงปู่ไม่ปล่อยให้ตัวเองเล่นบทใดๆโดยไม่รู้จักเลิก เพราะหลวงปู่รู้จักตัวเองฉะนั้น ความหมายของคำว่า เครื่องอยู่ กับเครื่องอาศัย จึงเป็นความหมายที่แตกต่างกัน ความหมายของเครื่องอยู่ มันเป็นความหมายของความตั้งมั่น มันเป็นความหมายของความมั่นคง แล้วก็ซื่อตรงต่อความคิดจิตวิญญาณของตัวเอง คนที่มีเครื่องอยู่ เขาย่อมมั่นคงต่ออุดมการณ์ ต่อการใช้ชีวิต ต่อวิถีทาง และก็ต่อสภาวะ ธรรมชาติของตน จะพอใจในสิ่งที่เป็นแต่คนที่ไม่มีเครื่องอยู่ ก็จะร่อนไปวันๆหนึ่ง สิ้นไปวันๆหนึ่ง จะล่องลอยไปวันๆหนึ่ง จะแสวงหาดิ้นรนกระเสือกกระสนไปวันๆหนึ่ง โดยมีความหมายของคำว่า “เผื่อว่าจะได้...” “อาจจะได้...” “ใช่มั้ง…” “น่าจะถูกใจเรา...” ความหมายเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนที่ไม่เครื่องอยู่ ความหมายเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง ไม่มีจุดยืนที่แท้ แน่นอนของตัวเอง จึงมีคำว่า “เผื่อว่า...” “อาจจะ…” “ใช่มั้ง...” อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หลวงปู่อยากจะชี้ให้พวกเราได้เห็นประโยชน์ของความมีเครื่องอยู่ หรือสิ่งที่เป็นเครื่องของพวกเราว่า พวกเราได้แสวงหามันเจอแล้วหรือยัง แล้วทำให้ตัวเองมีเครื่องอยู่หรือจะอยู่กับคำว่าพระธรรม ธรรมะหรือธรรมชาติ ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้

อย่างที่บอกแล้วว่าพระธรรมก็คือระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา แบบแผน ธรรมเนียม ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาตที่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธะผู้เป็นเจริญเป็นผู้แสดง ซึ่งจะมีสภาวะที่เป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ เป็นเรื่องเป็นราวที่เป็นคณะใหญ่ เราอาจนำมาเป็นเครื่องอยู่อาศัยข้อใดข้อหนึ่งที่เราเห็นว่าเหมาะสม ที่จะเป็นเครื่องอยู่ของเราได้ แต่คำว่าธรรมะ มันเป็นสภาพ ที่ทรงไว้ซึ่ง ความเป็นจริงที่เป็นสัจจะแท้ ที่คงทนต่อการพิสูจน์ได้ตลอดกาล เช่นสภาวะที่เกิดจาก สติ สมาธิ ปัญญา และการรักษาดุลยภาพของสรรพสิ่ง สรรพชีวิต รวมทั้งความเที่ยงธรรมถูกต้อง ไม่บกพร่องในหน้าที่ที่เราจะนำเอามาใช้ในการดำรงชีวิตก็ได้ ส่วนคำว่า “ธรรมชาติ” คือสภาวะที่เป็นตัวตน เป็นตัวตนแท้ๆของตัวเอง รู้จักหน้าตาแท้ๆของตัวเอง และเข้าใจสิ่งที่ตัวเองจะต้องการ ต้องเป็น ต้องไป ต้องได้ ต้องเสีย และต้องมีชีวิต

การเข้าใจความหมายและองค์ประกอบของชีวิตตัวเองนั่นแหละคือสภาวธรรมชาติ ความเข้าใจในวิถีทางของชีวิตตัวเองนั่นแหละ คือสภาวธรรมชาติ ความเข้าใจในวิถีทางของชีวิตตัวเองนั่นก็คือ ผู้มีธรรมชาติเป็นเครื่องอยู่ และความเข้าใจในสภาวะของการดำรงอยู่ ในสถานะของความเป็นมนุษย์ ความพึงพอใจในสภาวะ และในสถานะ ก็คือ ความเข้าใจในธรรมชาติ และมีธรรมชาติเป็นเครื่องอยู่ เพราะฉะนั้น พยายามแสวงหาเครื่องอยู่ของตัวเองซะ จะได้รู้ว่าเครื่องอาศัยใด ที่ตัวเองพึงพอใจ แล้วเราก็จะกระโดดโลดเต้น เล่นบทต่างๆได้ อย่างชนิดต้องไม่กลัวว่า บทนั้นมักจะทำร้าย ทำลายเรา เราจะเล่นบทคฤหัสถ์ บทพ่อ บทผัว บทเมีย บทแม่ บทลูก บทพระ บทนักบวช บทนักบริหาร บทใดๆก็ได้ ถ้าเรามีเครื่องอยู่ของเรา

ผู้ที่มีเครื่องอยู่ ใครเขาร้องไห้ เราจะไม่ร้อง ผู้ที่มีเครื่องอยู่ คนอื่นทุกข์ทรมาน เราจะรู้สึกเย็นสบาย ผู้ที่มีเครื่องอยู่ ใครเร่าร้อน เราจะรู้สึกสันติสงบ แต่คนที่ไม่มีเครื่องอยู่นั้น ไม่เหมาะที่เล่นบทใดๆ ได้เลย เพราะถ้ามันเล่นบทร้าย มันก็จะร้ายจนหยดสุดท้ายของชีวิตมันนั่นแหละ แต่ถ้าเผอิญจับพลัดจับผลู เผอิญไปเล่นบทดีเข้า ก็จะหลงดี ยึดดี ติดดี จมดี จนกลายเป็นความผยอง ทระนง ถือตน อวดดี เพราะฉะนั้น ไม่เหมาะสมที่จะเล่นบทใดๆ สำหรับบุคคลที่ไม่มีเครื่องอยู่

หลวงปู่พูดอย่างนี้ เพื่อให้พวกเราเข้าใจความหมายของการมีชีวิตของตัวเองที่แท้จริงว่า เราจะมีชีวิตอย่างไร เราจะดำเนินวิถีชีวิตของตัวเองที่แท้จริง เราจะมีชีวิตอย่างไร เราจะดำเนินวิถีชีวิตของเราอย่างไร และเราจะทำชีวิตของเราให้เป็นไท มากน้อยแค่ไหน พยายามแสวงหาเครื่องอยู่ของตัวเองให้ได้ซะก่อน ค้นหาให้เจอ เราจะได้ไม่รู้สึกเสียใจกับการมีชีวิต และชีวิตต่อไปวันหนึ่งข้างหน้าของเรา ก็จะเป็นชีวิตของเราล้วนๆซึ่งไม่ต้องเกรง และหวั่นกลัว หวาดผวาต่อคลื่นลม ทะเลร้าย หรือปลาใหญ่ ที่จะมาคอยกัดกิน ฉุดกระชาก ให้เราจมดิ่งไปอยู่ใต้ก้นมหาสมุทรของวัฏสงสาร

ติดตามธรรมจากหลวงปู่พุทธะอิสระ ตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น