xs
xsm
sm
md
lg

โพธิญาณพฤกษา : ต้นโพธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โคตมพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระโคตมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ 6 ปี จึงตรัสรูุ้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา
ไม้อัสสัตถพฤกษ์นั้น รู้จักกันดีในชื่อของต้นโพ หรือต้นโพธิ์ ซึ่งปัจจุบันต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ว่าไม่ใช่ต้นเดิมแต่ครั้งพุทธกาล เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นเดิมโดยใน ‘พจนานุกรมพุทธศาสน์’ ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายเรื่องของต้นโพนี้ว่า “ต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่ เป็นหน่อของต้นเดิมที่คยา ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล(ปลูกจากเมล็ด) ที่ประตูวัดพระเชตวัน โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐีและเรียกชื่อว่าอานันทโพธิ หลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระนางสังฆมิตตาเถรี ได้นำกิ่งด้านขวาของต้นมหาโพธิที่คยานั้นไปมอบแด่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ทรงปลูกไว้ ณ เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้เก่า แก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน...”
ต้นโพมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus religiosa L.” อยู่ในวงศ์Moraceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว สูงประมาณ 20-30 เมตร มีเรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มกลม ลำต้นเป็น พูพอนเกลี้ยงเกลา มีรากอากาศ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจปลายใบเป็นติ่งแหลม ใบอ่อนสีเขียวอ่อนๆ พอแก่จัดใกล้ร่วงจะกลายเป็นสีเหลืองทอง ผิวใบเกลี้ยงและเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเล็ก ดอกเล็กจำนวนมากอยู่บนฐานรองดอก ผลมีรูปร่างกลม สีชมพูอมม่วง พอแก่สีแดงคล้ำ ติดอยู่ตอนปลายๆ กิ่ง ขยายพันธุ์โดยเมล็ด และปักชำ
สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรของต้นโพมีมากมาย อาทิ เปลือก ใช้แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน และรากฟันเป็นหนอง สมานแผล ห้ามเลือด แก้โรคหนองใน แผลเปื่อย กล้ามเนื้อช้ำบวม โรคผิวหนัง และใช้เป็นยา ระบาย ราก ใช้รักษาโรคเหงือกและโรคเก๊าต์ ผล ใช้เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร แก้กระหาย แก้โรคหัวใจ โรคหืด และช่วยขับพิษ เมล็ด ช่วยลดไข้ และแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักสบ ใบ ใช้รักษาโรคคางทูม โรคท้องผูก ท้องร่วง ส่วน ยาง ใช้รักษาโรคหูด ริดสีดวงทวาร
ปัจจุบัน ต้นโพศรีมหาโพธิ์ เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี



กำลังโหลดความคิดเห็น