xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : รหัสกรรม (ตอนที่ ๑)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนอื่นใดควรทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “กรรม” ก่อน คำว่ากรรมนี้มาจากภาษาบาลีว่า “กลุ่ม” แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” แม้จะแปลว่าการกระทำ แต่กลับมิได้หมายถึงกิริยาที่กระทำ หากแต่หมายถึง เจตนามุ่งหมายอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำนั้นๆ ทั้งนี้เพราะเหตุว่ากายและวาจาที่เคลื่อนไหว ไปนั้นเป็นแต่เพียงรูปธรรม ในรูปธรรมย่อมไม่มีบุญไม่มี บาป ดังนั้นคำว่ากรรมนี้ องค์ธรรมจึงได้แก่ เจตนาที่มุ่งจะพูด หรือทำ หรือคิด ในสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศล ในคัมภีร์พระอภิธรรมท่านให้คำจำกัดความเป็นคำนิยามไว้ ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำโดยอาศัยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นเหตุให้สำเร็จการกระทำเหล่านั้นชื่อว่ากรรม องค์ธรรมได้แก่ เจตนาที่อยู่ในกุศลจิตและอกุศลจิต
เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อใดพูดถึงเจตนาเมื่อนั้นก็หมายถึง “กรรม” เมื่อใดพูดถึงกรรมเมื่อนั้นก็หมายถึง “เจตนา” สองคำนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เมื่อกรรมหมายถึงเจตนาเช่นนี้แล้ว การกระทำทางกายและวาจาจึงเป็นแต่เพียงช่องทางไหลออกของกรรมหรือเป็นเพียงอุปกรณ์ให้ เจตนาทำกรรมได้สำเร็จเท่านั้น และเมื่อทำกรรมสำเร็จ ลง ย่อมต้องมีผลของกรรมตามสนองแก่ผู้กระทำตามสมควรแก่กรณี ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จึงมีผู้นิยมเรียกว่า “กฎแห่งกรรม” กฎแห่งแห่งกรรมมีส่วนสำคัญของกฎอยู่ ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวกรรมและส่วนที่เป็นผลแห่งกรรม เชื่อหรือไม่ว่าทั้งส่วนที่เป็นกรรมและส่วนที่เป็นผลแห่งกรรมนั้นเวลาทำก็ทำอย่างเป็นรหัส เวลารับผล ก็รับผลอย่างเป็นรหัส ดังนั้นจึงขอตั้งชื่อเรียกว่า “รหัสกรรม”
ในขณะที่ทำกรรมเราทำอย่างเป็นรหัสนั้นหมายความ ว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น กิจวัตรประจำวันตั้งแต่เช้าจนถึง เวลาเข้านอน สมมติว่าเราตื่นขึ้นมาเวลา ๖.๐๐ น. เข้าครัว
หุงข้าวไปใส่บาตรเวลา ๖.๓๐ น. กลับมาหาอาหารให้พ่อ แม่รับประทานเวลา ๖.๔๕ น. อาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน เปิดประตูบ้านออกไปเห็นสุนัขนอนขวางทางแถมกัดรองเท้าของเราด้วย เลยเตะหมาไปตอนเวลา ๗.๐๐ น. เดินไปขึ้นรถเมล์เวลา ๗.๑๐ น. นั่งไปสักพักมีคนแก่ขึ้นรถมา ลุกให้คนแก่นั่งเวลา ๗.๒๐ น. ยืนไปสักพักมีคนมาเหยียบ เท้า เลยด่าเขาไปเวลา ๗.๓๐ น. พอไปถึงที่ทำงานมีคนเอาผลประโยชน์มาล่อให้คอรัปชั่น ผลประโยชน์นั้นยั่วยวนใจ เลยร่วมมือคอรัปชั่นกับเขาเวลา ๘.๔๐ น. และอะไรต่อมิอะไรอีก ตลอดทั้งวันจนกว่าจะเข้านอน เหล่านี้ล้วนเป็นรหัสกรรมที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละวัน
ทีนี้เราลองมาทำในรูปของกราฟแสดงการเกิดขึ้นของบุญและบาปในระยะเวลาต่างๆ ดังกล่าวของคนคน นี้ดู

ตัวเลขแต่ละตัวแสดงค่าของบุญและบาป ตั้งแต่เลข ๖ ลงมาเป็นฝ่ายบาป (อกุศลกรรม) โดยมีความเข้มของ บาปมากน้อยไปตามตัวเลข คือถ้าบาปมากสุดก็เป็นเลข ๑ บาปรองลงมาก็เป็น ๒-๓-๔ ตามลำดับ ฝ่ายบุญก็เช่นกันจากเลข ๖ ขึ้นไปก็เป็นบุญน้อยหน่อยแล้วก็เป็นบุญมากขึ้นเข้มขึ้นไปตามลำดับตัวเลข ๗-๘-๙ จนถึงเลข ๑๒ ก็บุญมากที่สุด เราจะสมมติค่าให้การทำบุญใส่บาตร มีค่า ของบุญมาก ในระดับเลข ๘ แล้วเราก็ PORT จุดไปที่เลข ๘ สมมติค่าให้การหาอาหารให้พ่อแม่ทานเป็นเลข ๑๐ (เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของบุตรย่อมมีกุศลบุญแรงกว่าให้กับพระภิกษุ ปุถุชน) ดังนั้นจึง PORT จุดไป ที่เลข ๑๐ ส่วนการเตะสุนัขนั้นเป็นอกุศลกรรมอย่างอ่อน จึงสมมติค่าไปที่เลข ๕ ลุกให้คนแก่นั่งสมมติค่าไปที่เลข ๗ ด่าคนอื่นเพราะเขาเหยียบเท้า สมมติค่าไปที่เลข ๔ ไปทำงานคอรัปชั่น สมมติค่าไปที่เลข ๒ แล้วลองลากเส้นกราฟดูก็จะได้หน้าตาของกราฟแสดงคุณสมบัติของพฤติกรรมดังที่ปรากฏอยู่ในรูปภาพตัวอย่างนี้ ดังนั้นถ้าถอดออกมาเป็นโค้ดของกรรมในเวลาดังกล่าวก็จะได้ตัวเลขดังนี้
a ๖ , ๘ , ๑๐ , ๕ , ๗ , ๓ , ๔ , ๒ a

ซึ่งก่อนหน้าและหลังโค้ดตัวเลขชุดนี้ จะเป็นเครื่องหมายอินฟินิตี้ คือไม่มีที่สิ้นสุด หาที่สุดมิได้ จนกว่าจะนิพพาน ถ้านิพพานเมื่อใดรหัสตัวเลขเหล่านี้จึงจะหยุด ลง และถ้าเราลองทำในรูปของบาร์โค้ดเราก็จะได้รหัสบาร์โค้ดที่มีรูปร่างหน้าตาดังนี้

แท่งยิ่งหนาบุญยิ่งมาก แท่งยิ่งผอมบางบาปยิ่งมาก รหัสบาร์โค้ดนี้ใช้เป็นสัญญลักษณ์ประจำสินค้าแต่ละชนิด ฉันใด รหัสกรรมก็เป็นสิ่งประทับตราประจำชีวิตของคนแต่ละคนฉันนั้น
โดยการยกตัวอย่างนั้น ใช้เวลาห่างกันเป็นครึ่งชั่วโมงหรือ ๑๕ นาที แต่โดยความเป็นจริงแล้วกรรมเกิดขึ้นอยู่ ทุกวินาที ทุกๆ ๑ วินาทีกรรมใหม่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ รหัสกรรมจะวิจิตรแค่ไหนก็ลองคิดดู โลกนี้มีประชากรมนุษย์ ๖,๐๐๐ ล้านคน ในแต่ละวันจะมีรหัสกรรมเกิดขึ้น ๖,๐๐๐ ล้านรหัสต่อวัน กรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่วิจิตรพิสดารตั้งแต่ดีสุดไปจนถึงเลวสุด หลากหลายพฤติกรรมจนสุดจะพรรณนา ในกรณีที่กรรมบางชนิดใช้เวลานานกว่าจะทำสำเร็จ เช่นหนังสือพิมพ์ลงข่าว ว่ามีโจรคนหนึ่งใช้เวลาขุดอุโมงค์ ๓ วัน ไปโผล่ที่ตู้เซฟของธนาคาร จากนั้นก็ลักทรัพย์ไปได้สำเร็จ ในกรณีอย่าง นี้โปรดทราบว่าตลอดระยะเวลาที่มีการกระทำทุกปโยค (ทุกความเคลื่อนไหว ในขณะลงมือทำ) อันเกี่ยวแก่การขุดอยู่ก็ดี เปิดตู้เซฟอยู่ก็ดี เอามือสัมผัสถูกเงินอยู่ก็ดี ล้วนเป็นกรรมทุกปโยค แต่เป็นกรรมบทไม่ครบองค์ ต่อเมื่อใดหยิบเงินของเขาเคลื่อนจากฐาน(ที่ตั้ง) ก็เป็นอันสำเร็จเป็นกรรมบทครบองค์ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จเป็น กรรมบทหนึ่งๆ ก็สำเร็จกันแค่วินาทีเดียวเท่านั้น
ครั้นเมื่อยามรับผลกรมก็จะรับผลอย่างเป็นรหัสด้วย ความวิจิตรพิสดารเช่นกัน ปกติการรับผลของกรรมนั้นจะรับกันหลายนัยหลายหลากแง่มุม ซึ่งจะขอนำมาพูด พอเป็นตัวอย่างสัก ๒-๓ นัย ดังนี้
นัยที่ ๑ ได้แก่ผลกรรมในเชิงทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ (รหัส ผัสสะ)
หมายความว่าที่ปัญจทวารของเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นจะมีการรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ที่มากระทบอยู่เสมอๆ
รูป (รูปารมณ์) มากระทบตาแต่ละครั้งก็จะเกิดการเห็น ภาษาบาลีเรียกการเห็นนี้ว่า “จักขุวิญญาณจิต” ก็จักขุวิญญาณจิตนี้แหละ คือผลของกรรม
เสียงมากระทบหูแต่ละครั้งก็จะเกิดการได้ยิน ภาษาบาลีเรียกการได้ยินนี้ว่า “โสตวิญญาณจิต” ก็โสตวิญญาณ จิตนี้แหละคือผลของกรรม
กลิ่นมากระทบจมูกแต่ละครั้งก็จะเกิดการ(ดมกลิ่น) รู้กลิ่น ภาษาบาลีเรียกธรรมชาติที่รู้กลิ่นดมกลิ่นว่า“ฆานวิญญาณจิต” ก็ฆานวิญญาณจิตนี้แหละ คือผลของกรรม
รสมากระทบลิ้นแต่ละครั้งก็จะเกิดการรู้รส (ลิ้มรส) ภาษาบาลีเรียกการรู้รสลิ้มรสนี้ว่า “ชิวหาวิญญาณจิต” ก็ชิวหาวิญญาณจิตนี้แหละคือผลของกรรม
โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว มากระทบผิวกายแต่ละครั้งก็จะเกิดการรู้สัมผัสนั้น ภาษาบาลีเรียกการรู้สัมผัสนั้นว่า “กายวิญญาณจิต” ก็กายวิญญาณจิตนี้แหละคือผลของกรรม
บรรดาอารมณ์ที่มากระทบทวารทั้ง ๕ นั้นบางอารมณ์ ก็เป็นอารมณ์ดี (อิฏฐารมณ์) บางอารมณ์ก็เป็นอารมณ์ที่ ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) ดังนั้น ถ้าจักขุวิญญาณจิตเห็นรูปารมณ์ที่ไม่ดีก็ถือว่าเป็นจิตดวงหนึ่ง ถ้าจักขุวิญญาณจิตเห็นรูปารมณ์ที่ดีก็ถือว่าเป็นจิตดวงหนึ่ง ถ้าโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ก็โดยทำนองเดียวกัน เมื่อนับรวมวิญญาณ จิตทั้ง ๕ ทวาร ทวารละ ๒ รวมแล้วก็ได้ ๑๐ พอดี จึงตั้งชื่อเรียกว่า “ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง”(คำว่า “ดวง” ใช้แทนในความหมายว่าขณะหรือชนิดแห่งนามธรรม มิได้หมายความว่าจิตมีลักษณะเป็นดวง)
(อ่านต่อฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น