ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สิทธัตถพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระสิทธัตถพุทธเจ้า(มิใช่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงทรงตรัสรู้ ณ ควงไม้กรรณิการ์
ต้นกรรณิการ์ในบ้านเราที่รู้จักกันดีนั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes arbortristis(Linn.)อยู่ในวงศ์ Verbenaceae ซึ่งเอกสารเกี่ยวกับพรรณไม้หลายแห่งระบุว่า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร
แต่เมื่อพิจารณาจากต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะพบว่าเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ให้ร่มเงาแผ่กว้าง ดังนั้น ต้นกรรณิการ์อินเดีย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterospermum acerifolium(Linn.)Willd. อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง 30 เมตร น่าจะเป็น ไม้ตรัสรู้มากกว่า
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมิอาจระบุชัดเจนลงไปว่าเป็นต้นใดแน่ เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น เพราะเวลาผ่านมาหลายกัปกัล ต้นไม้ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ สิ่งที่นำมาเสนอก็หวังเพียงให้ความรู้เล็กๆน้อยๆ เท่าที่พอจะค้นคว้ามาได้เท่านั้น
ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำภาพและข้อมูลย่อๆของต้นกรรณิการ์ทั้งสองประเภทมาบอกเล่ากัน
กรรณิการ์ (Nyctanthes arbortristis) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาว ลำต้นจะมีรอยคาดรอบลำต้นเป็นช่วงๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ใบแข็งหนาและสากคาย ใบรูปไข่ โคนใบโตปลายใบแหลม ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อๆ ช่อหนึ่งจะมีดอกราว 5-8 ดอก แต่ละดอกจะผลัดกันบาน มีสีขาว มี 6 กลีบ หมุนไปทางขวา ลักษณะคล้ายกังหัน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีแสด มีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืนและจะร่วงตอนเช้า ผลแบน รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายผลมีติ่งแหลมเล็กน้อย แต่ละผลมีเมล็ด ๒ เมล็ด
สรรพคุณทางด้านพืชสมุนไพร เปลือกต้นใช้แก้ปวดศีรษะ ใบใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ดอกใช้แก้ไข้และลมวิงเวียน รากใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องผูก แก้ผมงอก ช่วยบำรุงผิวให้สดชื่น ส่วนก้านดอกสีแสด นำมาใช้เป็นสีทำขนมและย้อมผ้า นอกจากนี้ยังสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกนำไปใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย
ส่วนกรรณิการ์อินเดีย (Pterospermum acerifolium) เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ใบมีลักษณะคล้ายใบบัว มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางใบ ราว 35 ซม. ดอกมีสีขาวแกมเหลือง กลิ่นหอมมากขณะอยู่ บนต้น ผลกลมรีเป็นสีแดงเรื่อๆ เนื้อไม้นำมาใช้ทำกระดาน ใบนำมาใช้แทนจาน และดอกนำไปสกัดเป็นน้ำหอม ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา