xs
xsm
sm
md
lg

ประทีปส่องธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนที่ 046
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

2.2 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้เวทนาอยู่เนืองๆ มีประเด็นที่ควรทราบดังนี้

2.2.1 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแบ่งเป็น 9 บรรพ ได้แก่ (1) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนา (2) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนา (3) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนา (4) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (สิ่งล่อใจ / กามคุณคือรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่ง สัมผัสทางกาย) (5) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิส (6) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนาที่เจือด้วยอามิส (7) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นสุขเวทนาที่เกิดจากการเจริญสมถะหรือวิปัสสนา) (8) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นทุกขเวทนาที่เกิดจากสภาพแห่งสังขาร) และ (9) ระลึกรู้เนืองๆ ซึ่งอุเบกขาเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส (เช่นอุเบกขาเวทนาที่เกิดมีความสงบจากอารมณ์ของสมถะหรือวิปัสสนา)

2.2.2 เวทนาทั้ง 9 บรรพมีองค์ธรรมอันเดียวคือ เวทนาเจตสิก เวลาปฏิบัติจึงตามรู้เวทนาทั้ง 9 บรรพไปได้เลย โดยไม่ต้องแยกย่อยตามรู้เฉพาะบรรพใดบรรพหนึ่ง หากขณะนั้นเวทนาในเวทนาอย่างใดปรากฏ ก็รู้สภาวะและลักษณะของเวทนานั้นไปเลย อนึ่งเวทนาเป็นนามปรมัตถ์ จึงใช้เจริญวิปัสสนาเท่านั้น

ข้อสังเกตของผู้เขียน
การระลึกรู้สภาวะของเวทนาที่กำลังปรากฏเป็นการเจริญวิปัสสนาจริง แต่ถ้าเกิดความปวดแล้วเพ่งความปวด อันเป็นการเพ่งใส่ตัวอารมณ์ (อารัมมณูปนิชฌาน) หรือบริกรรมถึงความปวดก็เป็นการรู้อารมณ์บัญญัติถึงปรมัตถ์ กลายเป็นการทำสมถะได้เช่นเดียวกับการเพ่งรูปหรือการบริกรรมถึงรูปต่างๆ เช่นกัน
(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)

2.2.3 คำว่า "เวทนาในเวทนา" หมายถึงการตามรู้เวทนาทีละอย่างในบรรดาเวทนาที่มีอยู่หลายอย่าง เวทนาที่เกิดกับสังขารร่างกายนี้ก็เป็น "เวทนาในเวทนาอันเป็นภายใน" เวทนาที่เกิดกับสังขารร่างกายอื่นก็เป็น "เวทนาในเวทนาอันเป็นภายนอก"

2.2.4 กล่าวโดยสรุป เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว ย่อมทำให้เห็นความเป็นจริงว่า เวทนาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่รูปและไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นนามเจตสิก เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา ต่อเมื่อมีเหตุมีปัจจัยเวทนาก็ปรากฏขึ้น จะห้ามไม่ให้เกิดก็ห้ามไม่ได้ ครั้นหมดเหตุหมดปัจจัยแล้ว เวทนาก็ดับไป ไม่ดำรงอยู่ตลอดไป จะห้ามไม่ให้ดับก็ไม่ได้ อนึ่งการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่าเวทนาเป็นสุขได้
ข้อสังเกตของผู้เขียน


การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจะทำให้พบด้วยว่ากายและจิตถูกความทุกข์เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง (ปรมัตถ์) ก็จริง แต่เกิดขึ้นเพราะความทุกข์ ในขณะนั้นเบาบางลง เช่นเมื่อนั่งนานเกิดความเมื่อย พอได้เปลี่ยนอิริยาบถความเมื่อยหายไปก็รู้สึกเป็นสุข แต่สุขไม่นานความทุกข์ก็ตามมาทันอีก กลายเป็นภาระที่ต้องขยับหนีความทุกข์เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ในทางจิตใจก็มีอารมณ์ที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง หมุนเวียนไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน เป็นภาระที่น่าเหนื่อยหน่ายยิ่งนัก การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องทำลายวิปัลลาสว่าเวทนาเป็นสุข แต่ยังทำลายวิปัลลาสที่เห็นว่ารูปนามเป็นสุขลงได้ด้วย ทำให้สามารถละความยึดถือรูปนามเสียได้ เนื่องจากรู้ความจริงแล้วว่ารูปนามเป็นทุกข์ที่ไม่น่าปรารถนาอีกต่อไป

(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
กำลังโหลดความคิดเห็น