ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีกล้องถ่ายรูปคล้องพระศอไว้เสมอในทุกคราที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรทั่วแผ่นดินนั้น เป็นภาพที่พสกนิกรคุ้นตายิ่งนัก ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือ การถ่ายภาพ ซึ่งทรงสนพระทัยมาแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาและฝึกฝนในการถ่ายภาพ จนทรงเป็นนักถ่ายรูปที่มีพระปรีชาสามารถเป็นที่ยิ่ง นอกจากจะทรงถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรส พระราชธิดา และพระเจ้าหลานเธอ แล้ว ยังโปรดที่จะทรงถ่ายภาพเหตุการณ์ สถานที่ทุกแห่ง ในคราเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง เพื่อใช้ประกอบการทรงงาน ในการช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์
ภาพฝีพระหัตถ์ที่อัญเชิญมาตีพิมพ์นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหนังสือ“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งบรรยายภาพโดย ศ.พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ศิลปะภาพถ่าย)
๔ หัวใจ เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๕ คราวเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันหนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านชาวเขาบนดอยปุย ขณะที่ทรงพระดำเนินไปบนยอดเขาสักพักใหญ่ๆ ทรงเหลียวมาปรากฏว่าไม่มีใครตามเสด็จได้ทัน จึงประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถอยู่ ณ บริเวณนั้น
ขณะนั้น เป็นเวลาบ่ายมากแล้ว ลมเย็นบนยอดเขาพัดมารวยรื่น พระอาทิตย์ทอแสงมารำไร ระหว่างที่ทอดสายพระเนตรไปรอบๆบริเวณ ก็ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งใบร่วงโกร๋น แต่กิ่งหนึ่งยังมีใบเหลือค้างอยู่ ๔ ใบ แสงแดดส่องจ้ามาตรงนั้นพอดี ทอดพระเนตรแล้วเป็นที่สนพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงถ่ายภาพในมุมต่างๆไว้ได้หลายภาพ มีอยู่ภาพหนึ่งที่ พระราชทานอรรถาธิบายไว้เป็นความว่า
๑. ใบไม้กิ่งนี้มี ๔ ใบ สมมติได้ว่าเป็นหัวใจของคน ๔ คน
๒. ใบไม้ ๓ ใบแรกเรียงตรงเป็นแถวดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามดี เมื่อเปรียบไปก็จะคล้ายกับคนทำดีย่อมมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ส่วนใบที่ ๔ พลิกตะแคงไม่เหมือนใคร เมื่อดูไปจะคล้ายกับคนที่ประพฤติปฏิบัติออกนอกลู่นอกทาง จึงต้องดิ้นรนผจญชีวิตไปด้วยความไม่แน่นอน
๓. ใบไม้ ๓ ใบที่เห็นเรียบร้อยดีนั้น ถ้าลองพิจารณากันให้ใกล้ชิดอีกที ก็จะเห็นได้ว่าแต่ละใบยังมีริ้วรอยขีดข่วนด่างพร้อยอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็ย่อมเกิดได้จากสิ่งแวดล้อมบันดาลให้เป็นไป ซึ่งจะมากน้อยประการใดก็เปรียบได้ดังหัวใจคนที่มีอันต้องผันแปรไปบ้างนั้น เรื่องนี้จึงเป็นข้อคติที่ควรคิด
๔. ภาพนี้จะเห็นใบไม้ทั้ง ๔ ใบได้ชัดเจนมาก แต่พอมองไกลไปที่ฉากหลังจะพบแต่ความมัวพร่า ซึ่งพอจะเปรียบได้ว่า อนาคตย่อมเป็นอนิจจัง จะเอาความเที่ยงแท้แน่นอนอะไรไม่ได้
หัวข้อสำคัญ ๔ ประการจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นี้ เป็นพระราชอรรถาธิบายที่ทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์อันล้ำค่า สมควรที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้ดียิ่ง
๑. วงล้อโพงน้ำตามแบบชนบทอีกแบบหนึ่ง ตามโครงการพระราชดำริ ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน (ทรงถ่ายเมื่อ ๒๑ ก.พ.๒๕๒๔)
๒. ทรงถ่ายภาพทางอากาศ เมื่อคราวเสด็จฯทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วมทุ่งลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อ ๘ ต.ค.๒๕๒๖
๓. เมื่อวันที่ ๕ ก.พ.๒๕๒๗ เสด็จฯทอดพระเนตรเขื่อนบ้านวัน ซึ่งเป็นเขื่อนที่ชาวบ้านร่วมมือก่อสร้างขึ้นเอง
หลวงปู่ยังอยู่กับเรา
๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๕ เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ เวลาที่มีพระราชปฏิสันถารอยู่กับหลวงปู่อยู่นั้น มักทรงเตรียมกล้องถ่ายภาพกับไฟแฟลชพร้อมไว้เสมอ พอทรงเห็นหลวงปู่ทำท่าทีได้เหมาะดี จะทรงถ่ายภาพไว้โดยมิต้องทรงนิมนต์หลวงปู่ให้รู้ตัว
การถ่ายภาพผู้ใดโดยมิต้องบอกให้ผู้ถูกถ่ายเตรียมตัวหรือจัดท่าทางไว้ก่อนนั้น เรียกกันว่า การถ่ายภาพทีเผลอ (Candid Photography) การถ่ายภาพแบบนี้ทรงถนัดจัดเจนมานักต่อนักแล้ว ด้วยเหตุนี้ภาพที่ทรงถ่ายไว้จึงดูคล้ายมีชีวิต รู้สึกเหมือนเคลื่อนไหวได้ ทั้งสวยงามและถูกต้องตามหลักศิลปะด้วย
ภาพหลวงปู่แหวนประพรมน้ำพระพุทธมนต์และสวดมนต์ถวายพระพร ทั้งสองภาพนี้ดูไปแล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่าหลวงปู่ยังมีชีวิต “หลวงปู่ยังอยู่กับเรา” ดูภาพหลวงปู่เมื่อใดก็เท่ากับได้กราบขอพรและรับน้ำมนต์จากหลวงปู่เมื่อนั้น
สุขสงบ
๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘ ขณะที่ประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการสมเด็จพระญาณสังวร ที่สำนักสงฆ์ทักษิณราชนิเวศน์ ระหว่างที่มีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จอยู่นั้น ทรงเห็นว่ากุฏิที่ท่านอยู่เป็นสถานที่ให้ความหมายอธิบายเรื่องราวและแสดงอารมณ์ของภาพได้เป็นอย่างดี
ดูภาพทีไร เหมือนได้นมัสการองค์จริงของสมเด็จพระญาณสังวร ทำให้เกิดแต่ความศรัทธาเลื่อมใส จิตใจมีแต่ความสุขสงบ...สาธุ
ยิ้มรับเสด็จ
เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวไทยมุสลิม ณ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ระหว่างทางที่ทรงพระดำเนินกลับ ผ่านชาวบ้านผู้หนึ่งในระยะใกล้ๆ แสดงความดีใจที่ได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด จึงกระหยิ่มยิ้มย่องอย่างเต็มที่ การยิ้มแย้มแจ่มใสนี้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก
ในทันทีทันใด ทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์เตรียมถ่ายภาพไว้ แต่เนื่องด้วยขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำมากแล้ว ตรงที่ชาวบ้านคนนี้ยืนอยู่จึงมีแสงสว่างอ่อนสลัว ทำให้ลำบากที่จะทรงถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้วิธีพิเศษด้วยการทรงตั้งชัตเตอร์ที่ B และขณะที่ทรงกดชัตเตอร์ค้างไว้ก็โปรดให้ช่างภาพส่วนพระองค์ที่ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด กดไฟแฟลชช่วย พอแสงแฟลชสว่างแวบก็เป็นอันเรียบร้อย ทรงได้ภาพอย่างแจ่มชัดสดใสและเป็นภาพรอยยิ้มอย่างมีชีวิตเหมือนที่เห็นอยู่นี้