ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กัสสปพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึง ตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ
นิโครธ เป็นชื่อภาษาบาลีของต้นไทรชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus benghalensis Linn.” อยู่ในวงศ์ Moraceae รู้จักกันดีในภาษาสันสกฤตว่า “บันยัน” (banyan) และในภาษาฮินดูว่า “บาร์คาด” (bargad)
ต้นนิโครธมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และแพร่กระจายทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาด ใหญ่ สูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านแน่นทึบ เรือนยอดแผ่กว้าง มีรากอากาศห้อยลงมาตามกิ่งก้านและลำต้น ซึ่งรากอากาศนี้สามารถเจริญเติบโต เป็นลำต้นต่อไปได้ด้วย ผิวเปลือกเรียบสีขาวปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ มีความเงามัน กว้าง 10-14 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบมน โคนใบโค้งกว้าง ออกเป็นคู่สลับกัน แขนงใบมีระหว่าง 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาว 2-5 ซม. ผลกลมโต วัดผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1-1.5 ซม. ผลจะติดแนบอยู่ กับกิ่ง แต่ละผลจะมีกาบ 2-4 กาบ เมื่อผลแก่จะมีสีแดงคล้ำๆ หรือสีเลือดหมู เป็นอาหารของพวกนกได้เป็นอย่างดี การขยายพันธุ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปเองตามธรรมชาติ โดยพวกนกมากินผลแล้วไปถ่ายมูลยังที่ต่างๆ นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีตอนกิ่งหรือปักชำก็ได้
นิโครธมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร อาทิ ใบและเปลือกใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด และช่วยห้ามเลือด (ในทางอายุรเวชใช้เปลือกแก้โรค เบาหวาน) ยาง ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร หูด ผลสุกใช้เป็นยาระบาย ส่วนราก ใช้เคี้ยว เพื่อป้องกันโรคเหงือกบวม นอกจากนี้ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหาร รับประทานด้วย
ด้วยเหตุที่ต้นนิโครธเป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งของฮินดูและพุทธ ดังนั้น จึงมักนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถาน วัดวาอารามต่างๆ เพื่อให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น แต่ไม่นิยมปลูกตามบ้านเพราะต้นมีขนาดใหญ่เกินไป