xs
xsm
sm
md
lg

ประทีปส่องธรรม : อารมณ์ของสติปัฏฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนที่ 043
การเจริญสติปัฏฐาน

2. อารมณ์ของสติปัฏฐาน
อารมณ์ในสติปัฏฐานจำแนกได้ 4 ปัฏฐานคือ กาย เวทนา จิต และธรรม และมีทั้งอารมณ์ที่เป็นบัญญัติซึ่งใช้ในการทำสมถภาวนา และอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ซึ่งใช้ในการทำวิปัสสนาภาวนา ดังนี้

2.1 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า กายหมายความถึงที่ประชุมแห่ง (1) รูปธรรมคือกัมมชรูป (2) วิบากจิต และ (2) เจตสิกที่ประกอบจิตนั้น ส่วนคำว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึงการตั้งมั่นในการตามระลึกรู้กายอยู่เนืองๆ แบ่งเป็น 14 บรรพ ได้แก่

2.1.1 อานาปานสติ ได้แก่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ใช้ทำได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือถ้ากำหนดบัญญัติคือลมหายใจ ออก/เข้า ให้เป็นที่ตั้งแห่งการเพ่ง ก็เป็นสมถะ ถ้าระลึกรู้ความร้อนเย็นของลมที่กระทบริมฝีปากบนหรือปลายจมูก เพื่อรู้รูปธรรมจนเห็นไตรลักษณ์ ก็เป็นวิปัสสนา

ข้อสังเกตของผู้เขียน
ก. การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระลึกรู้ลมหายใจออกก่อนนั้น น่าจะเป็นด้วยการหายใจออกเป็นไปตามธรรมชาติ ส่วนการหายใจเข้านั้น ง่ายต่อการตั้งท่าปฏิบัติหรือเกิดความเกร็งทางกายและจิตใจ ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งในการทำสมถะและวิปัสสนา

ข. การเพ่งลมหายใจอันเป็นการทำสมถะ หากทำไปจนเกิดฌาน ก็สามารถใช้สติตามระลึกรู้องค์ฌานที่ดับไป เป็นการทำวิปัสสนาในแนวทางของสมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือผู้ทำความสงบก่อนแล้ว เจริญปัญญาในภายหลัง) ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าพิจารณาดูคำสอนเรื่องอานาปานสติ จะเห็นได้ว่าท่านสอนถึงเรื่องการระงับกายสังขาร หรือลมหายใจไว้ด้วย ซึ่งเป็นสภาวะที่จะปรากฏเมื่อจิตดำเนินถึงรูปฌาน 4 (ตามนัยแห่งพระสูตร) และรูปฌาน 5 (ตามนัยแห่งพระอภิธรรม) อันแสดงให้เห็นว่า การเจริญอานาปานสติจริงๆ นั้น ท่านน่าจะมุ่งเน้น สำหรับสมถยานิก จึงเป็นเรื่องยากที่ผู้คนทั่วไปจะเจริญสติโดยใช้อานาปานสติได้จริง

ค. ลมหายใจมีธรรมชาติที่ละเอียด อ่อนไหว และนุ่มนวลชวนเคลิ้มง่าย ยิ่งลมละเอียดก็ยิ่งยากที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้เจริญอานาปานสติจึงมักนั่งหลงเคลิบเคลิ้มลืมตัวกันเสียมาก นอกจากนี้การจะเฝ้ารู้รูปของลมหายใจจนเห็นลักษณะความเกิดดับของรูป (การทำลักขณูปนิชฌาน อันเป็นการเจริญวิปัสสนา) ก็ยากมาก แต่สิ่งที่เป็นไปได้ง่ายก็คือการเพ่งตัวลมหายใจ (การทำอารัมมณูปนิชฌาน อันเป็นการทำสมถะ) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เจริญอานาปานสติส่วนมากที่ผู้เขียนได้พบ มักเพลินอยู่กับความสุขความสงบ หรือเพ่งจ้องนิ่งแช่อยู่กับลมหายใจอันเป็นการทำสมถะ ยิ่งกว่าจะก้าวเข้าไปถึงขั้นการเจริญวิปัสสนาได้จริง

ง. แม้การเจริญอานาปานสติจะเหมาะกับสมถยานิก แต่ถ้าผู้ปฏิบัติอาศัยการระลึกรู้ลมหายใจออก/เข้า เพื่อเป็นฐานก้าวไปเจริญ วิปัสสนาด้วยการระลึกรู้อารมณ์รูปนามในบรรพและปัฏฐานอื่น นอกเหนือจากอานาปานสติบรรพ กลับเป็นเรื่องที่พอจะกระทำได้ไม่ยากเกินไปนัก กล่าวคือ

- การระลึกรู้ลมหายใจแล้วเห็นถึงธาตุของลมหายใจ เป็นการเจริญสติปัฏฐานในธาตุมนสิการบรรพ ซึ่งตำราปริยัติธรรมมักสอนให้เจริญอานาปานสติโดยการรู้ธาตุไฟ แต่ความจริงจะรู้ธาตุอื่นด้วยก็ได้ คือถ้าระลึกรู้มวลของลมหายใจที่กระทบริมฝีปากบนหรือปลายจมูกเพื่อรู้รูปธรรมคือความอ่อนแข็งก็คือการรู้ธาตุดิน ถ้ารู้ความไหวของลมหายใจก็คือการรู้ธาตุลม หากรู้จนเห็นไตรลักษณ์ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาได้เช่นกัน

- การระลึกรู้ความไหวของลมหายใจด้วยความรู้สึกตัว ก็อาจพลิกไปเป็นการเจริญสติปัฏฐานในสัมปชัญญบรรพได้

- การระลึกรู้ลมหายใจออก/เข้าไปอย่างสบายๆ แล้วพลิกสติไประลึกรู้เวทนาทางใจแทนการรู้ลม เป็นการทำเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่นหายใจไปแล้วเกิดรู้สึกถึงความสุขสงบใจหรือความอึดอัดใจที่เกิดขึ้นเป็นต้น หรืออาจพลิกสติไประลึกรู้จิตแทนการรู้ลม เป็นการทำจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ เช่นรู้ว่าจิตเกิดราคะคือความพอใจ ในความสุขสงบที่เกิดจากการทำอานาปานสติ เป็นต้น(เชิญอ่านปริยัติธรรมต่อ)

(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอีก 3 บรรพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น