นับวัน สังคมโลกยิ่งเต็มไปด้วยความก้าวหน้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ความรู้ความคิดแห่งยุคสมัยถูกค้นขึ้นมาเพื่อไขปัญหาแห่งโลกมนุษย์อย่างไม่หยุดยั้ง
น่าแปลกที่ดูเหมือนว่า ยิ่งมนุษย์ก้าวเข้าไปหาเทคโนโลยีและความสะดวกสบายเท่าไร กลับดูเหมือนมนุษย์ยิ่งกำลังถอยห่างจาก "ความสงบ" มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งโลกหมุนวนเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่ความเจริญ สังคมกลับยิ่งจมกับความซับซ้อนวุ่นวายอย่างไม่รู้จบ
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ไม่เคยแปรเปลี่ยนตามยุคสมัย สิ่งที่เป็นเหมือนน้ำใสเย็นคอยลูบประโลมจิตใจอันร้อนรุ่มของมนุษย์ให้คลายลง สิ่งนั้นคือ "ธรรมะ"
ธรรมะในพระพุทธศาสนาถูกสืบทอดต่อกันมานับพันปี แต่แก่นแท้ของธรรมะไม่เคยล้าสมัย และไม่เคยตกยุค พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสังคมได้เสมอ
หนังสือธรรมนูญชีวิต หนังสือธรรมะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ย้อนยุค มีมาแต่ครั้งที่อะไร ๆ ยังเป็นไปตามธรรมดาสามัญกว่านี้อย่างมากมายนั้น จะเป็นเสมือนกระแสอากาศสดชื่นบริสุทธิ์ที่ผ่านเข้ามาในห้องที่มีผู้คนแออัด"
คำสอนจำนวนมากมายในพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนมรดกธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ได้ถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือเพื่อเผยแผ่ออกไปผ่านทางสื่อที่เรียกกันว่า "หนังสือธรรมะ"
ธรรมะ..ความรู้สากลอันไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา
"พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ ตามที่วาง ไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ย มองเห็นไหม อะไรตายฯ"
(พุทธทาสจักไม่ตาย:พุทธทาสภิกขุ)
ด้วยคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ยึดตามแก่นแท้หรือหัวใจของหลักธรรม ไม่ได้ยึดถือจากตัวบุคคลผู้สอน ดังนั้นถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานแค่ไหน ถึงแม้ผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนจะดับสูญไปตามสัจธรรมโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ หลักธรรม ที่ไม่เคยถูกจำกัดให้หล่นหายตามกาลเวลา แต่จะอยู่เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ตลอดไป เหมือนดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เขียนคำกลอนไว้ข้างต้น
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเคยบันทึกไว้ว่า พระศาสนาเป็นของชีวิตสากล มิใช่ของชาติใด ภาษาใดทั้งสิ้น เมื่อใดที่ความถูกต้องมาถึง เมื่อนั้นศาสนาจะกลายมาเป็นศาสนาเดียวกันทั้งโลก ถึงแม้ว่าหลักศาสนาจะต่างกันโดยวิธีปฏิบัติบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเนื้อแท้ศาสนาต้องเป็นศาสนาแห่งความไม่เห็นแก่ตัว การเผยแผ่พุทธศาสนาคือการรวมมนุษย์ทั้งโลกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์สากลของธรรมชาติอย่างแท้จริง
การเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา จะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ลดความซับซ้อนวุ่นวายของสังคมโลกให้เบาบางลง ด้วยทางสายกลางที่พุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ก้าวเดิน มนุษย์ย่อมพบวิถีทางเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์
หนังสือธรรมะได้เผยแผ่หลักธรรมของศาสนาพุทธ โดยคำสอนจะมุ่งให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายกลางระหว่างการเพิกเฉยละเลย กับ การเคร่งครัด ตึงแน่น หลักธรรมของชาวพุทธมีตั้งแต่เรื่องการใช้ปัญญาในการอยู่บนโลกมนุษย์ไปจนถึงเป้าหมายแห่งความสงบสุขในชีวิต
หนังสือธรรมะ...ใคร ๆ ก็อ่านได้
หลายคนมองว่าหนังสือธรรมะเป็นหนังสือที่ล้าสมัย ตกยุค เหมาะกับคนแก่เฒ่าที่ละทางโลกไปแล้วเท่านั้น แต่แท้จริง ธรรมะ คือสิ่งที่อยู่เคียงข้างทุกคน ธรรมะคือธรรมชาติที่ไม่ต้องสร้างขึ้น ไม่ต้องวิ่งหา เพียงแต่ทำให้ปรากฏขึ้นภายในจิตใจของตัวเองเท่านั้น
สุทธิรักษ์ สุขธรรม ผู้บริหารสำนักพิมพ์ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ผู้จัดพิมพ์หนังสือธรรมะมา กว่าสิบปีให้ความเห็นว่า หนังสือธรรมะเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชนจนถึงคนสูงอายุ ล้วนแล้วแต่นำพระธรรมคำสอนมาปรับใช้กับช่วงวัยของตนเองได้ทั้งนั้น โดยหากเป็นหนังสือธรรมะสำหรับเด็กก็จะอยู่ในรูปแบบของการ์ตูนหรือรูปภาพที่อ่านง่าย โดยจะเน้นเรื่อง ความกตัญญู ซื่อสัตย์ อดทน ถ้าอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็จะมีหนังสือธรรมะที่เสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการครองชีวิตในวัยรุ่น อยู่อย่างไรไม่ให้ตกไปในทางเสื่อม ตลอดจนการคบหาเพื่อน ส่วนวัยชรา หนังสือธรรมะก็จะเน้นเรื่องการรักษาตัว รักษาใจ วิธีการคิดและปฏิบัติตนไม่ให้จู้จี้ขี้บ่น และสุดท้ายสอนให้พิจารณาเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพื่อไม่ให้กังวลถึงสิ่งเหล่านี้
นอกจากนั้นมนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีหน้าที่ของตัวเอง การที่จะทำให้โลกไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย มนุษย์ต้องพึงรักษาหน้าที่ของตัวเองไว้ นักเรียนมีหน้าที่คือเรียนหนังสือ ธรรมะก็สนับสนุนให้ใช้หลัก อิทธิบาท 4 ซึ่งประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือต้องมีความรักในการเรียน มีความพากเพียร จิตใจต้องฝักใฝ่สนใจสิ่งที่กำลังเล่าเรียน และสุดท้ายต้องใคร่ครวญความรู้และการศึกษา หากนักเรียนไม่มีหลักนี้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นธรรมะจึงเข้าถึงคนได้ทุกระดับชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยพระพุทธเจ้าท่านได้ให้หลักคำสอนไว้สำหรับมนุษย์แล้วในทุกช่วงชีวิต
"ทุกวันนี้รูปแบบของหนังสือธรรมะเปิดกว้างทันสมัยมากขึ้น เรามีสื่ออย่างเทป วีซีดี หนังสือการ์ตูน ทำให้หนังสือธรรมะน่าอ่านมากขึ้น เนื้อหาของหนังสือธรรมะก็จะปรับให้เข้าตามยุคสมัย แต่ยังยึดแก่นแท้ของพุทธศาสนาไว้ โดยสมัยก่อนจะสอนพื้นฐานเบื้องต้นแห่งการครองชีวิต จะทำอย่างไร จะเป็นลูก เป็นพ่อแม่ เป็นพลเมืองที่ดีได้อย่างไร แต่ตอนนี้สังคมเปลี่ยนไป ก็จะมีการนำธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมาประยุกต์ให้เข้ากับสังคมและยุคสมัยมากขึ้น อย่างตอนนี้เรื่องหน้าที่การงานเป็นเรื่องที่สำคัญและคนสนใจ หนังสือธรรมะก็จะแนะนำให้ใช้หลักธรรมะประยุกต์เข้ากับการงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่นหนังสือ หัวใจเศรษฐี หัวใจนักปราชญ์ วิธีบริหารงาน วิธีบริหารคน หลักการครองชีวิต ไปจนถึงเรื่อง การบริหารธุรกิจแบบพุทธ " สุทธิรักษ์กล่าว
พระธรรมคำสอน
คำสอนของ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ , หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ , พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) , พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโน) , หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ,หลวงปู่พุทธะอิสระ และพระเถระรูปอื่น ๆ อีกหลายท่าน ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ผ่านตัวอักษรเล็ก ๆ ทว่ามีค่ามหาศาล เพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้อ่านและศึกษาหาความรู้ โดยพระแต่ละรูปก็จะมีรายละเอียด และอุบายวิธีนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป เช่นธรรมะของหลวงพ่อปัญญาจะเน้นสอนไม่ให้งมงายกับเรื่องไร้สาระและอบายมุขทั้งปวง ส่วนธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสจะเน้นไปที่ตัวปัญญาในการพิจารณา มีสมาธิ มีสติ เพื่อให้ใจสงบ ยุติการยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู โดยที่ธรรมะของหลวงพ่อปัญญาจะเป็นธรรมะพื้นฐานเพื่อส่งคนให้เข้าไปถึงธรรมะระดับสูงของหลวงพ่อพุทธทาส เปรียบดังว่าสององค์ท่านสืบต่อการเผยแผ่ธรรมะกันมา เริ่มต้นด้วยขั้นพื้นฐานแล้วต่อด้วยขั้นลึกโดยมีจุดหมายให้คนเราหลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์
บัญชา เฉลิมชัยกิจ ประธานกรรมการบริหารสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือธรรมะรายใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ได้แสดงความเห็นว่า แม้พระเถระแต่ละรูปจะมีรายละเอียดในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนแตกต่างกัน แต่ลึกลงไปแล้วจุดหมายของหลักธรรมคือการหลุดพ้นจากความทุกข์
"การหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็คือการเข้าถึงนิพพาน คำว่านิพพานไม่ได้หมายถึงว่า ตายแล้วต้องไปเกิดในแดนสุขาวดี แต่นิพพานคือสิ่งที่อยู่ในใจเรา นิพพานคือการที่ใจเราสงบเย็น ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน นิพพานคือความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ฟูไม่แฟบ วันหนึ่ง 24 ชั่วโมง เราอยู่ที่อารมณ์เฉย ๆ มากที่สุด อาจมีบ้างที่เราเผลอโกรธ เผลอดีใจไปกับคำชม เผลอเอาสิ่งเหล่านั้นมายึดมั่นถือมั่น แต่อีกไม่นานสิ่งที่ว่าก็หายไปเพราะมันเป็นสิ่งที่มาชั่วคราว มีแต่นิพพานเท่านั้นที่อยู่กับเรามากที่สุด ซึ่งนิพพานนี่แหละที่จะช่วยเหลือชีวิตเราให้อยู่บนโลกนี้ได้อย่างสงบ"
สิ่งที่พระธรรมคำสอนในหนังสือธรรมะมอบให้กับคนอ่านนั้นซ่อนอยู่ในทุกบรรทัด ทุกตัวอักษร รอคอยการค้นพบของผู้สนใจ โดยผู้อ่านจะได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ และได้กระจ่างในสิ่งที่ยังคงสงสัย
ยุคใหม่ของหนังสือธรรมะ
จากรูปแบบหนังสือที่ตีพิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟสีเหลืองเก่า ๆ มีแต่ตัวหนังสือสีดำเล็ก ๆ เต็มพรืดไปทั้งหน้า แต่ในปัจจุบัน หนังสือธรรมะได้ก้าวเข้ามาสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง ด้วยบรรดาสำนักพิมพ์หนังสือธรรมะทั้งหลายเล็งเห็นว่า หนังสือที่ดีและน่าอ่านจะมีแต่เนื้อหาที่ดีอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ แต่ควรจะประกอบด้วยรูปเล่มที่สวยงาม น่าหยิบจับขึ้นมาอ่านอีกด้วย
"สมัยก่อนที่ผมทำหนังสือธรรมะช่วงแรก ๆ ก็จะมีปัญหาคือ เวลานำไปฝากขายตามร้านหนังสือ เขาก็ไม่อยากรับ หรือไม่ก็เอาวางไว้ข้างล่าง เพราะมันไม่สวย มันดูเก่าไม่น่าอ่าน ทำให้ผมเกิดความคิดว่า ความจริงหนังสือธรรมะเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว แต่มีปัญหาคือยังไม่มีการนำมาพัฒนาปรับปรุงให้น่าสนใจ ผมจึงได้ทำหนังสือธรรมะขึ้นมาสองชุด คือแบบปกแข็งดีไปเลย เย็บกี่ เข้าเล่มสวยงาม ซึ่งแบบนี้จะมีราคาที่สูงกว่า แต่คงทนเก็บได้นานเป็นร้อยปี และอีกแบบจะเป็นหนังสือที่ราคาย่อมเยา สิบบาทยี่สิบบาท เอาไว้สำหรับคนที่พอจะหาซื้อได้ โดยที่เนื้อหาข้างในของหนังสือทั้งสองเล่มจะเหมือนกัน เวลาสิบปีของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสือ ทำให้ตอนนี้หากพูดถึงหนังสือธรรมะ คนก็จะไม่นึกภาพหนังสือเก่า ๆ ล้าสมัยอีกต่อไปแล้ว" สุทธิรักษ์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
ด้วยความที่หนังสือธรรมะเป็นหนังสือที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา ดังนั้น ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น หนังสือธรรมะก็ยิ่งทวีความสำคัญ แม้สายตาคนภายนอกที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือธรรมะอาจมองแล้วรู้สึกว่าหนังสือประเภทนี้ค่อนข้างเงียบ คนสนใจน้อยไม่หวือวาโด่งดังเท่าหนังสือประเภทอื่น แต่จริง ๆ แล้ว ตลาดหนังสือธรรมะมีการเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ทว่าสม่ำเสมอ
รัฐพล เย็นใจมา ผช. ผจก. ฝ่ายจัดซื้อจัดขาย แห่งมหาจุฬาบรรณาคาร ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนาแห่งใหญ่บนถนนท่าพระจันทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหนังสือธรรมะโตขึ้น คนให้ความสนใจมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการเติบโตที่รวดเร็ว หนังสือธรรมะจะค่อย ๆ โตขึ้นช้า ๆ เหมือนการไต่ขึ้นภูเขา และที่น่าสนใจก็คือ ตลาดหนังสือธรรมะไม่เคยตกหรือลดความนิยม คนมองเข้ามาอาจเห็นว่าตลาดหนังสือธรรมะนิ่งเงียบ แต่จริง ๆ แล้วหนังสือประเภทนี้จะขายดีขึ้นในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป
พุทธศาสนากับการประชาสัมพันธ์
"เราเชื่อว่า...พุทธธรรมไม่ใช่สินค้า ก็เลยไม่จำเป็นต้องโฆษณา"
หลวงปู่พุทธะอิสระได้แสดงความเห็นข้างต้นไว้ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์เกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์พระพุทธศาสนา
ช่วงเวลานี้ ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจในหมู่ชาวพุทธว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่สำหรับศาสนาพุทธ
มีคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสบันทึกไว้ว่า "พุทธศาสนา จะไม่มีการโฆษณาตัวเอง เพราะพุทธศาสนามีความงามเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อีกทั้งให้ความถูกต้องระดับ มนุษย์ สวรรค์ นิพพาน ดังนั้นเมื่อรู้จักความจริงข้อนี้ ผลดีก็จะเกิดแก่โลกเอง"
สุทธิรักษ์ สุขธรรม ผู้บริหารสำนักพิมพ์ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า โดยแท้จริงแล้ว ธรรมะจะประชาสัมพันธ์ตัวของมันเอง
"หลวงพ่อพุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมเกิดความวุ่นวาย สับสน เมื่อนั้นธรรมะจะเปิดเผยตัวเอง ธรรมะจะประชาสัมพันธ์ตัวเอง คนจะวิ่งเข้ามาหาธรรมะ โดยที่ ธรรมะไม่ต้องวิ่งไปบอกใคร การประชาสัมพันธ์อยู่แค่การทำตัวของตัวเองให้ดีเสียก่อน ต่างคนต่างทำให้ดี เมื่อคนอื่นมองเห็นว่า คนคนนี้ปฏิบัติธรรมแล้วได้ผล เคยโกรธมากก็กลายเป็นโกรธน้อย เคยโลภมากเปลี่ยนเป็นโลภน้อย คนอื่นก็ย่อมเลื่อมใสที่จะทำตาม การประชาสัมพันธ์ทางด้านหนังสือธรรมะไม่ต้องถึงขนาดไปลงโฆษณา ไม่ต้องมีของแจกของแถม ธรรมะจะไปด้วยตัวของมันเอง แต่การประชาสัมพันธ์ก็จำเป็นสำหรับหน่วยงานหรือกิจกรรม เพราะทำให้คนรู้จักว่าสถานที่แห่งนี้ทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น การเชิญชวนคนมาฟังธรรมะ มาวิปัสสนา กล่าวคือเราต้องแยกให้ออกว่าสิ่งที่ประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงาน เป็นกิจกรรม หรือว่าเป็นธรรมะ เพราะหากเป็นธรรมะก็ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ เพราะธรรมะจะเผยแผ่ตัวของเขาเองอยู่แล้ว"
ตลอดเวลาอันยาวนานจากอดีตจนถึงวันนี้ หนังสือธรรมะได้ทำหน้าที่บันทึกพระธรรมคำสอนที่ชี้นำมนุษย์ให้ "ถึงธรรม" ธรรมะเปรียบเป็นเหมือนแสงสว่างที่ส่องทางให้ชีวิตมนุษย์หลีกหนีกิเลส เพื่อมุ่งเดินทางไปให้ถึงจุดหมายคือความสงบภายในจิตใจของเราทุกคน นี่คือความยิ่งใหญ่ของหนังสือที่อยู่เหนือกาลเวลาและมีค่าโดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์
ห้าอันดับหนังสือธรรมะยอดนิยม จากร้านหนังสือมหาจุฬาบรรณาคาร
1. ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม (ป.อ. ปยุตฺโต)
2. ประมวลศัพท์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
3. ประมวลธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต)
4. พุทธธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต)
5. วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม (ป.อ. ปยุตฺโต)
ห้าอันดับหนังสือธรรมะยอดนิยมจากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ
1. พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (พุทธทาสภิกขุ)
2. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ (พุทธทาสภิกขุ)
3. ตัวกู-ของกู (พุทธทาสภิกขุ)
4. ฟ้าสางระหว่าง 80 ปี (พุทธทาสภิกขุ)
5. คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์ (พุทธทาสภิกขุ)