xs
xsm
sm
md
lg

ทางแห่งความดี : เวลาจะช้าหรือเร็ว หนทางจะใกล้หรือไกล อยู่ที่ใจจดจ่ออยู่กับอะไรและอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 45 สังสารวัฏของคนพาล ตอนที่ 1/6

พระพุทธภาษิต
ฑีฆา ชาครโต รตฺติฑีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ฑีโฆ พาลาน สํสาโรสทฺธมฺมํ อวิชานตํ
คำแปล
ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยาวนาน ระยะทางหนึ่งโยชน์สำหรับผู้เมื่อยล้าแล้ว เป็นทางไกล สังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดของคนพาล ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม เป็นของยาวนานอธิบายความ
พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้ "ราตรีหนึ่งมีอยู่ 3 ยามเท่านั้น (คือยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย แบ่งเป็นยามละ 4 ชั่วโมง) แต่ราตรีนั้นย่อมปรากฏเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกินสำหรับผู้ที่มิได้หลับ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นพระผู้ทำความเพียร ตลอดคืนยังรุ่งเพื่อบรรลุธรรม พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม, ผู้ที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนเช่น ปวดศีรษะตลอดคืน เป็นต้น ผู้ถูกจองจำทำโทษมีการถูกตัดเท้า เป็นต้น ผู้เดินทางไกลต้องเดินทางตลอดคืน เหล่านี้ล้วนรู้สึกว่าคืนหนึ่งยาวนานเหลือเกินเหมือน 3-4 คืน
"ส่วนผู้หลับนอนอย่างเกียจคร้าน ทำตนให้เป็นเหยื่อของเรือด นอนกลิ้งเกลือกอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี, ผู้เสพกาม บริโภคอาหารชนิดดี ตอนเย็นแล้ว เข้านอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม (ด้วยบุตรและภรรยา) ก็ดี ย่อมรู้สึกว่าคืนหนึ่งน้อยนิดเดียว นอนยังไม่ทันเต็มอิ่ม
"โยชน์หนึ่งมี 4 คาวุตเท่านั้น แต่สำหรับผู้เดินทางจนเหนื่อย แล้วย่อมรู้สึกว่าไกลเหลือเกิน เมื่อยังไม่เหนื่อย โยชน์หนึ่งดูไม่มากนัก เมื่อเหนื่อยแล้วโยชน์หนึ่งย่อมปรากฏเหมือน 3-4 โยชน์
"ส่วนสังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมยาวนาน โดยปกติสงสารนั้นยาวนาน อยู่โดยธรรมดาของมันแล้ว สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! สงสารนี้ยาวนาน รู้เบื้องต้นเบื้องปลายได้ยาก" ยิ่งสงสารของคนพาลย่อมยาวนานหนักขึ้นไปอีก
มองความจริงอีกด้านหนึ่ง โดยถือเอาพระพุทธภาษิตนี่เองเป็นนัยว่า วันคืนจะนานหรือไม่นาน ระยะทางจะยาวหรือสั้นนั้น ความรู้สึกของบุคคลมีส่วนสำคัญอยู่มาก เวลาเท่ากัน แต่คนหนึ่งรู้สึกว่านานเพราะกำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์ อีกคนหนึ่งกำลังหรรษาอยู่ด้วยความสุขความเพลิดเพลิน ย่อมรู้สึกว่า ประเดี๋ยวประด๋าวเหลือเกิน เดือนปีก็มีเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะอึดอัดคับแค้น เดือนหนึ่งเหมือน 6 เดือน ปีหนึ่งเหมือน 7-8 ปี ถ้าใครสามารถชื่นชมต่อวันเวลาได้ วันหนึ่งคืนหนึ่งก็จะล่วงไปอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง วันเวลาของผู้รอคอย ย่อมปรากฏเหมือนนานเหลือเกิน ทั้งนี้เพราะใจมัวไปจดจ่ออยู่ที่เวลาอย่างเดียว เวลานั้นถ้าเรายิ่งเอาใจใส่มันมากก็ยิ่งรู้สึกว่านาน ถ้าเราทำลืมๆ เสียก็ไม่นาน
ระยะทางก็ทำนองเดียวกัน ยิ่งเมื่อยมาก ระยะทางสั้นก็เหมือนยาว ถ้ากำลังยังดีอยู่เดินไปได้อย่างสบายๆ ระยะทางก็ไม่ยาว ความรู้สึกของคนมีความสำคัญอยู่เป็นอันมาก แต่เวลาและระยะทางนั้นคงเดิม
ความจริงอีกแง่หนึ่ง (ในทางปรัชญา) เวลาและระยะทางนั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง เวลาเป็นกระแสอันหนึ่งที่ไหลอยู่ไม่ขาดสาย ไม่มีขีดขั้นกำหนด แต่เราไปกำหนดมันขึ้นมาเองว่าเวลาเท่านั้นเท่านี้ ระยะทางก็เหมือนกันเราไปกำหนดมันขึ้นว่าเท่านั้นเท่านี้ รวมความว่าเป็นเรื่องการสมมติ เมื่อสมมตินั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วก็กลายเป็นสัจจะอย่างหนึ่งขึ้นมา ท่านเรียกว่า "สมมติสัจจะ" ส่วนความจริงอันแท้จริง (ultimate truth) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติ หรือความเข้าใจของคน ตัวอย่างเดิม เช่น ระยะเวลาเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ใครจะว่านานหรือเร็วก็เป็นเรื่องของคนนั้น มันไม่รับรู้ด้วย ระยะทางเท่านั้น มันอยู่ของมันอย่างนั้น ใครจะว่าไกลหรือใกล้ก็เป็นเรื่องของคนนั้นๆ ที่จะทะเลาะกัน แต่มันไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความเข้าใจของคน เมื่อคนใดเข้าถึงความจริงได้ คนนั้นก็ได้รู้จริงเห็นจริง คนที่เข้าไม่ถึงก็จะเข้ามาทะเลาะกับเขาอีกจนกว่าจะรู้แจ้งขึ้นมาจึงพูดเหมือนกัน
นักปรัชญาได้แสวงหาสิ่งนี้ (ultimate truth) อยู่เป็นอันมาก แม้นักวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันก็พากันแสวงหาว่าอะไรคือความจริงอันสูงสุดของสิ่งนั้นๆ ค้นคว้าไป ทำบันทึกไป นานๆ ก็ยุติกันเสียทีหนึ่งว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ล่วงไป 200-300 ปี ก็มีคนยืนขึ้นค้านว่า ไม่ใช่ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งเสนอข้อพิสูจน์ของเขา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเห็นด้วย ยอมรับทฤษฎีนั้น ก็เชื่อกันไปทั่วโลกเสียคราวหนึ่ง คนธรรมดาสามัญที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วย เพราะเชื่อเสียแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร สิ่งนั้นเป็นสัจจะ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำเครดิตไว้ดีมาก
พูดถึงเรื่องสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ของตน พาลยาวนาน เพราะคนพาลยิ่งอยู่นานยิ่งทำชั่ว เหมือนคนติดคุกเพราะความชั่วบางอย่างแล้วไปทำชั่วในคุกอีก ทำอยู่เรื่อยๆ การเพิ่มโทษก็มีมากขึ้นตามเวลาที่ล่วงไป ไม่มีโอกาสออกจากคุกจนตลอดชีวิต
ท่านว่าความชั่วนั้นยิ่งทำยิ่งมาก ส่วนความดียิ่งทำยิ่งหมด คือหมดความดีที่จะทำก็เป็นพระอรหันต์ แปลว่า ที่สุดของคนดีนั้นมีอยู่ แต่ที่สุดของคนชั่วไม่มี สงสารของคนพาลจึงยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ในระยะทางนั้นก็ต้องได้รับทุกข์นานาประการเหมือนคนติดคุกต้องถูกจองจำทำโทษ
พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่วัดเชตวนาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลและบุรุษคนหนึ่ง มีเรื่องย่อดังจะอ่านต่อได้ในวันจันทร์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น