xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปก : พม่าเร่งทุกฝ่ายพร้อมรับประชุม สุดยอดผู้นำชาวพุทธโลก ครั้งที่ 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการศาสนาแห่งสหภาพภาพพม่า เตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ 4 (The 4th World Buddhist Summit) ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม พ.ศ.2547 ที่จะถึงนี้ ณ คูหามหาปัสสนา เมืองย่างกุ้ง โดยได้รับความ ร่วมมือและสนับสนุนจากพุทธศาสนา นิกายเนนบุตซูชุ แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน พระ ดร.ชินไก โกริ ประมุขสงฆ์พุทธศาสนานิกายเนนบุตซูชุ ได้เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพภาพพม่าเพื่อติดต่อให้เป็น เจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าสหภาพพม่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพุทธศาสนาแบบเถรวาทของโลก
อนึ่ง การประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธ เพื่อการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2541 ครั้งที่สองจัดขึ้น ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย ในปีพ.ศ.2543 และครั้งที่สามจัดขึ้นที่เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในปี 2545 ตามลำดับ ซึ่งกำหนดจัด 2 ปีต่อครั้ง
โฆษกรัฐบาลพม่าได้กล่าวแสดงความยินดีที่มีการจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น เนื่องจากเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระสงฆ์ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกทั้งยังตรงกับงานเฉลิมฉลองครบรอบ 6 ปีของ มหาวิทยาลัยธรรมทูตพุทธศาสนาเถรวาทระดับนานาชาติ ของพม่าซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.2541ด้วย การประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีตัวแทนจากองค์กรพุทธศาสนากว่า 1,700 คน จาก 21 ประเทศทั่วโลก อาทิ ลาว กัมพูชา เนปาล ศรี-ลังกา มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม มองโกเลีย บังคลาเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย เม็กซิโก ภูฐาน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศไทย เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ซึ่งถือว่าเป็น การจัดการประชุมที่ยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติของรัฐบาลพม่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการศาสนาของพม่าได้รับมอบหมายให้ จัดเตรียมความพร้อมอย่างรัดกุมในทุกๆ ด้าน เพื่อความ สมบูรณ์แบบของการประชุมครั้งนี้ โดยเริ่มจากแต่งตั้งคณะกรรมการในการจัดงาน เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และกฎเกณฑ์ในการจัดการประชุมให้มีรูปแบบและเนื้อ หาที่เหมาะสม กล่าวคือ
1.เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี และส่งเสริมความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนา
2.เพื่อดำรงรักษาพระธรรมคำสั่งสอนและวิธีการ ปฏิบัติในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา
3.เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาในทุกประเทศทั่วโลก โดยให้มีรากฐานที่ถูกต้องตามพระธรรม วินัยจากพระไตรปิฎก
4.เพื่อส่งเสริมและสร้างสังคมที่สงบสุขโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา
5.เพื่อเผยแพร่คำสั่งสอนดั้งเดิมของพระพุทธองค์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก
นอกจากนี้ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ด้วยว่า รัฐบาลพม่าจะจัดการประชุมครั้งนี้โดยยึดหลักคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นสำคัญ และมีการสอดแทรกวัฒนธรรมประเพณีของพม่าเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักเห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางจิตวิญญาณของประเทศพม่าจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทั้งนี้ ตนได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยซึ่งคัดเลือกจากตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งหมดรวม 9 คณะ ให้ดูแลความพร้อมในด้านต่างๆ และจัดให้มีการประชุมสรุปความคืบหน้าและปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยทุกครั้งก่อนเริ่มการประชุม คณะทำงาน ทุกคนในที่ประชุมต้องสวดมนต์ 3 จบ เพื่อเป็นการรำลึก ถึงพระพุทธคุณและขอให้ผลของการประชุมมีประสิทธิ- ภาพยิ่งขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการประชุมครั้งนี้ แบ่งออกเป็น
1.การตกแต่งสถานที่ ทำความสะอาดและตกแต่ง ถ้ำมหาปัสสนาและบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างบรรยากาศ ที่ร่มรื่นงามตาให้กับผู้แทนจากทั่วโลก
2.การจัดเตรียมหัวข้อสำหรับการประชุม โดยประสานงานกับผู้แทนต่างๆ ถึงหลักธรรมที่จะนำมาอภิปราย ประเพณีวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาท และปัญหาที่เกิดขึ้น ในการศึกษาและส่งเสริมพุทธศาสนาของแต่ละประเทศ
3.การจัดเตรียมบริการที่พัก อาหาร ขนส่ง อนามัย และสวัสดิการอื่นๆ สำหรับตัวแทนที่เข้าร่วมการประชุม
4.การจัดทำของที่ระลึก เอกสารที่ใช้ในการประชุม เช่น กระเป๋าใส่เอกสาร และสูจิบัตร
5.ด้านเทคโนโลยีข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อที่จะควบคุมการปฏิบัติงานในที่ประชุม และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทางคณะทำงานได้ เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์ของนายอูถิ่น เมียว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทั่วไป กระทรวงการศาสนาเมื่อเร็วๆนี้ว่า การจัดเตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกใกล้ที่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยพิธีเปิดจะจัดขึ้นที่คูหามหาปัสสนา คาดว่า จะมีพระสงฆ์ของประเทศพม่าเข้าร่วมในพิธีกว่า 300 รูป ร่วมกับตัวแทนจากประเทศต่างๆ และยังได้จัดเตรียมที่นั่งเสริมภายนอกพร้อมจอโทรทัศน์ถ่ายทอดสดให้แก่ผู้ติดตามและประชาชนที่สนใจอีกด้วย หลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้แทนได้เดินทางชม เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น มันดาเลย์ บากัน ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2547
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ นายอูถิ่น กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะนิกายเถรวาทเป็นที่นับถือกันอย่างแพร่หลายในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ไทย และศรีลังกา และยังได้ยอมรับกันว่าเป็นหลักธรรมที่ใกล้เคียงกับคำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่านิกายอื่นๆ ในพุทธศาสนา นอก จากนี้ ทางคณะกรรมการได้อนุมัติผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการเผยแพร่หลักธรรมและข้อปฏิบัติของนิกายเถรวาทในประเทศพม่า เพื่อนำมาเสนอเป็นครั้งแรกให้กับการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลก เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับผู้แทนทางศาสนาถึงสถานการณ์ปัจจุบันของพุทธศาสนาในประเทศพม่า และได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่ได้รากฐานสำคัญจากพุทธศาสนา นิกายเถรวาท
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการเตรียมพร้อมการจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลก เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนา พุทธและอิสลามยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจาก รัฐบาลพม่า ในทางตรงกันข้าม จำนวนผู้ต่อต้านชาวมุสลิม มีแนวโน้มสูงมากขึ้น สังเกตได้จากข่าวความขัดแย้งที่ทวี ความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่นรวมทั้งพระภิกษุจำนวนหนึ่ง เผาบ้านเรือนของชุมชนชาวมุสลิมทางตอนใต้ของมัณฑะเลย์ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตถึง 11 คนเมื่อ วันที่ 15 ตุลาคม 2546 และพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งในเมืองย่างกุ้งได้ทำลายข้าวของและบ้านเรือนของชาวมุสลิมกลางดึกของวันที่ 25 ตุลาคม 2546 เป็นต้น รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ นายไมค์ โอ เบรน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนรู้สึกเสียใจที่รัฐบาลพม่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ในขณะที่กำลังจัดเตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกครั้งที่ 4 นี้ ชาวพม่าส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลจะใช้การประชุมครั้งนี้ เบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาความสั่นคลอนทางการเมืองที่ยังไม่จบสิ้น และสร้างภาพสังคมพุทธที่สงบสุขให้กับชาวโลกได้เห็น
อนึ่ง พม่าเริ่มรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาในพ.ศ.1599 และจากผลสำรวจทางสถิติล่าสุดพบว่า ประชากรประมาณ 89% นับถือศาสนาพุทธ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม 4% นับถือศาสนาคริสต์ 4% นับถือภูติผี 1% และอื่นๆ 2%
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 กระทรวงการศาสนาของพม่าได้ออกมายืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พม่าพร้อมแล้วในการจัดการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 19 ตุลาคม ก็ได้เกิด เหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารในพม่า มีการจับพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรี และปลดออกจากตำแหน่ง โดย ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่า คือ พล.ท.โซ วิน ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเปลี่ยนผู้นำของพม่าในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกครั้งที่ 4 มากน้อยเพียงใด

พุทธศาสนาเบ่งบานในรัฐบาล(ทหาร)ของพม่า?
ประเทศพม่ามีจำนวนพระสงฆ์ประมาณ 400,000 รูป ซึ่งเกือบเท่ากับจำนวนทหารในกองทัพเลยทีเดียว เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลทหารของพม่าต้องจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มพระสงฆ์เพราะอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า และยังมีแรงศรัทธาทางศาสนาเข้ามาหนุนเสริม
กลุ่มพระสงฆ์ในประเทศพม่าสามารถแบ่งประเภทง่ายๆ ตามความสัมพันธ์กับรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย เช่น พระสงฆ์ประจำรัฐ พระสงฆ์ อาวุโส พระสงฆ์ธรรมดาทั่วไป โดยทั่วไปรัฐบาลที่ปกครองโดยกลุ่มทหารมักจะเอาใจใส่เป็นพิเศษแก่พระสงฆ์อาวุโสที่มีอำนาจปกครองในแวดวงศาสนา โดยใช้วิธีมอบเงินบริจาคก้อนโตเป็นสินน้ำใจในการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ในขณะที่พระสงฆ์ธรรมดาผู้รักความยุติธรรม จะถูกนำตัวไปขังไว้ในคุกกับนักศึกษาผู้แสวงหาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นบ่อยครั้งในช่วงปี พ.ศ.2503-2523 หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มใช้วิธีการทางการเมืองผสมการ ทูตเข้าแทรกแซง โดยมีการจัดตั้งสภาพระสงฆ์แห่งชาติ ขึ้น นำโดยพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับเงินบริจาคจากรัฐบาลนั่นเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลจะสนับสนุนองค์กรพุทธศาสนานิกายเถรวาทเพียงอย่างเดียว และต่อต้านนิกายอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น จับเปลื้องผ้าเหลืองพระสงฆ์นิกายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ.2531 รัฐบาลได้ออกกฎห้ามฟังเทปบันทึกเสียงการอภิปรายเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยในสังคมพุทธศาสนาของพระภัททันตะ อชิน ญาณิสสระ (ประธานสถาบันพระพุทธศาสนานานาชาติ สีตคู ประเทศพม่า) เหตุการณ์เริ่มปะทุรุนแรงในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2533 เมื่อมีการรวมตัวกันของพระสงฆ์จำนวน 700 รูป ต่อต้านการปกครองของทหาร โดยการไม่รับบิณฑบาต และไม่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับครอบครัวของทหาร รัฐบาลในขณะนั้นใช้อำนาจรัฐ บุกจับกุมพระสงฆ์หลายร้อยรูป และยึดอำนาจขององค์กรศาสนาทั้งหมดกลับเข้าสู่ศูนย์กลาง
ในปัจจุบันสถานการณ์แวดวงพุทธศาสนาของพม่า ยังคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพียงแต่ความขัดแย้ง ระหว่างศาสนากลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ในขณะที่พระสงฆ์ผู้รักความยุติธรรมจำนวนมากไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนั่งพิจารณาความเป็นไปของสังคมไร้อธิปไตยในเรือนจำนั่นเอง

(ที่มา : นิตยสารอิรวดี The Irrawaddy Magazine)

รู้จักกับคูหามหาปัสสนา
คูหามหาปัสสนา(Maha Pasana Guha) เป็นส่วนหนึ่งของเจดีย์กาบาเอ(Kaba Aye Pagoda) ซึ่งสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2495 ตั้งอยู่เหนือทะเลสาบ อินยา ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่ที่อยู่กลางเมืองระหว่างสนามบินกับดาวน์ทาวน์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ระลึกถึงถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการสังคายนา ชำระพระไตรปิฎกครั้งแรก
คูหามหาปัสสนาเป็นห้องโถงกว้างมีความยาวประมาณ 140 เมตร กว้าง 112 เมตร มีอาสนะสำหรับพระสงฆ์ 2,500 ที่นั่ง และสามารถบรรจุผู้เข้าร่วมประชุมได้ราว 7,500 คน
เหตุผลสำคัญที่ทางคณะกรรมการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลก ครั้งที่ 4 เลือกคูหา มหาปัสสนาเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ ก็คือ คูหาแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่ใช้ในการสังคายนาชำระพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ของโลก ในงานครบรอบ 2,500 ปีแห่งวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ใน พ.ศ.2500
กำลังโหลดความคิดเห็น