xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ปลุก “นาลันทา” คืนชีพ แปลงโฉมใหม่สู่โลกไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พระพุทธศาสนาใน ประเทศอินเดียเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราช และมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ของโลกที่นับว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาที่มีชื่อสียงมากที่สุดก็คือ “มหาวิทยาลัยนาลันทา” ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นเบงกอลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มหาวิทยาลัยนาลันทาหรือที่อินเดียเรียก ว่ามหาวิหารนาลันทานั้นตามประวัติยังไม่มีผู้ใดทราบ แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด อย่างไรก็ตาม นักประวัติ ศาสตร์อินเดียเพียงแต่สันนิษฐานว่า พระเจ้าคุปตะที่ 1 จักรพรรดิอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 956-998 คงโปรดให้สร้างนาลันทาขึ้น เพราะพระองค์ทรง เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดคนหนึ่ง มหาวิทยาลัยนาลันทาได้ถูกพวกมุสลิมเติร์กเผาทำลาย เมื่อราวปี พ.ศ.1700 ต่อมาในช่วงที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (พ.ศ.2401-2490) นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้ค้นพบนาลันทา ซึ่งจมอยู่ใต้ดินกว่า 300 ปี
และจากหลักฐานการขุดค้นซากมหาวิทยาลัย นาลันทา ประกอบกับหลักฐานเอกสารจีนที่ระบุว่า พระเจ้าเหี้ยนจัง หรือพระถังซัมจั๋ง เคยเดินทางมาศึกษาธรรมยังนาลันทาแห่งนี้ และได้บันทึกไว้ว่า “นาลันทามหาวิหาร มีอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม พร้อมทั้งมีวิชาที่สอนมากมายหลายแขนง”
ช่วงที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเจริญสูงสุดนั้น มีนักศึกษากว่า 10,000 คน อาจารย์อีกกว่า 1,500 คน ตึกเรียนบางหลังสูงถึง 6 ชั้น มีห้องเรียนและหอพักมากมาย มีห้องโถงขนาดใหญ่ไว้สำหรับประชุมธรรมได้คราวละ 1 พันที่นั่ง และมีหอสมุดใหญ่ 3 อาคาร
ด้วยกิตติศัพท์อันลือเลื่องของนาลันทา จึงมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่สนใจใฝ่รู้และต้องการศึกษาหลักพุทธธรรม จากนานานาประเทศ พากันเดินทาง มาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก โดยไม่ย่อท้อต่อหน ทางอันยาวไกล
ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทาขึ้นใหม่ อยู่ห่างจากนาลันทาเก่าเพียง 2-3 ก.ม. แต่ก็ เปิดสอนหลักสูตรเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ไม่เน้น เฉพาะด้านพุทธศาสนาเหมือนเช่นในอดีต
ประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของนาลันทาที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่เคยลบเลือน ไปจากความทรงจำของพุทธศาสนิกชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่เล่าขานกันสืบต่อมา จุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ กับนายสจ๊วต คาดูเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง คิดสร้าง เวปไซต์เพื่อให้เป็นศูนย์รวมการศึกษาพุทธศาสนาดังเช่นนาลันทา โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะทำให้ทุก คนได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก ใบนี้
มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาบนเวปไซต์ www. ashokaedu.net ที่นายสจ๊วตก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีชื่อว่า “Ashoka the eDharma University” (มหาวิทยาลัยอโศก) โดยเขาเปิดเผยว่า
“ผมเคยอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่มีครูบาอาจารย์ และศูนย์ปฎิบัติธรรม เมื่อผมมีปัญหาในการปฎิบัติธรรม ผมก็ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษากับใคร มหาวิทยาลัยอโศกแห่งนี้ จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงนักศึกษาและอาจารย์ให้มาพบกัน”
นอกจากนี้ เขาคิดว่าพระธรรมคำสอนไม่ได้มีไว้สำหรับพุทธศาสนิกชนเท่านั้น จึงตั้งใจที่จะทำให้มหาวิทยาลัยอโศกแห่งนี้เป็นศูนย์รวมการศึกษาสำหรับคนที่สนใจพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ตาม
สำหรับวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยบนเวปไซต์ แห่งนี้ มีมากมายหลากหลาย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม เช่น การเข้าใจจิตแท้และการปล่อยวาง การอยู่กับความตาย การนั่งสมาธิแบบเซน เป็นต้น
ส่วนหลักสูตรที่เปิดสอนนั้น แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตรด้วยกัน หลักสูตรแรก เป็นหลักสูตรที่เรียนด้วย ตนเอง โดยแต่ละวิชานักศึกษาจะได้อ่านบทความและหลักปฎิบัติทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องในช่วงต้น และนำความรู้ที่ได้มาปฏิบัติจริงจากการนั่งสมาธิ ซึ่งสามารถกดปุ่มฟังเสียงอาจารย์ผู้สอนสมาธิที่จะกล่าว นำและสอนวิธีการนั่งสมาธิ นอกจากนี้ นักศึกษา สามารถเลือกวิชาที่เหมาะกับระดับชั้นและความสนใจของตนเองได้ ความยาวของหลักสูตรมีตั้งแต่ 3 วัน-3 เดือนเลยทีเดียว ที่สำคัญนักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นหากเลือกเรียนหลักสูตรนี้
ส่วนอีกหลักสูตรจะเป็นการสอนแบบมีอาจารย์เป็น ผู้ชี้นำ ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนได้อีกไม่นานนี้ โดยในแต่ละห้องเรียน จะรับนักศึกษาเพียง 15 คนเท่านั้น และใช้เวลาประมาณ 8-10 สัปดาห์ตลอด หลักสูตร โดยจะเน้นการโต้ตอบซักถาม และการ อภิปรายระหว่างผู้สอนและนักศึกษาอย่างทั่วถึงในหัว ข้อต่างๆ ผ่านทางห้องพูดคุย เสียงผ่านอินเตอร์เน็ต และเทปวีดีโอ นอกจากนี้ ยังมีชั่วโมงประเมินผล ที่จะให้คำแนะนำและตรวจสอบความคืบหน้าของนักศึกษาอีกด้วย โดยผ่านการปุจฉา-วิสัชนา เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาและวิธีการปฏิบัติ จน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในเรื่อง ค่าใช้จ่ายของการเรียนการสอนนั้น นายสจ๊วตบอกว่า ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการระดมทุน ซึ่งตนกำลังเจรจาหาแหล่งทุนต่างๆ เพื่อที่จะให้ผู้เรียนเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
ด้วยเนื้อหาหลักสูตรที่มุ่งเจริญปัญญาให้กับผู้แสวงหา ทำให้มหาวิทยาลัยอโศกแห่งนี้ได้รับความนิยมจากผู้สนใจทั่วโลก นายสจ๊วตกล่าวทิ้งท้ายว่า “พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีสอนธรรมะที่แตกต่างกันไปตามระดับของผู้คน หากพระพุทธองค์ทรงมีโอกาสได้สอนผ่านทางมหาวิทยาลัยออนไลน์ โลกอาจจะดีกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้”
ในยุคปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ หนทางในการค้นคว้าศึกษาหลักธรรมคำสอน เพื่อก้าว สู่ความพ้นทุกข์นั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายวิธี การเดินทางข้ามโลกไซเบอร์สู่มหาวิทยาลัยอโศก ผ่าน www.ashokaedu.net ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกสบายเพียงแค่ชั่วพริบตาผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ เท่านั้น
แล้วท่านก็จะได้พบกับ “นาลันทาในยุคข้อมูลข่าวสาร” ที่สามารถเข้าถึงทุกคนในทุกมุมโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น