xs
xsm
sm
md
lg

ประทีปส่องธรรม : แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนที่ 036
แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม

8. แม่บทหลักของการปฏิบัติธรรม
หลักธรรมเรื่อง กิจในอริยสัจจ์ คือแม่บทหลักหรือหลักการสำคัญของการปฏิบัติธรรม ถ้าพวกเราปฏิบัติผิดพลาดจากกิจในอริยสัจจ์ เราจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมไม่ได้เลย กิจในอริยสัจจ์มี 4 ประการดังนี้คือ
1. ทุกข์ควรรู้ กิจต่อทุกขสัจจ์คือการรู้หรือปริญญากิจ มีประเด็นสำคัญที่ควรสนใจ 4 ประการคือ (1) ทุกข์คืออะไร (คือรูปนาม) (2) ทำไมจึงต้องรู้ทุกข์ (เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์) (3) การรู้ทุกข์นั้นต้องทำอย่างไร (ต้องเจริญสติปัฏฐาน 4) และ (4) พัฒนาการของการรู้ทุกข์ เป็นอย่างไร (ปริญญา 3 วิสุทธิ 7 โสฬสญาณ) มีสาระสำคัญดังนี้คือ
1.1 ทุกข์คืออะไร ตามนัยแห่งพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ แล้วท่านทรงขมวดท้ายว่า "ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือทุกข์"
ความหมายของทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความลึกซึ้งมาก คือท่านไม่ได้สอนว่า คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนอกหัก หรือคนล้มละลายคือทุกข์ แต่ท่านชี้ขาดเอาไว้แล้วว่า อุปาทานขันธ์คือ ทุกข์ หมายความว่า ความทุกข์มีอยู่จริง แต่ไม่มีผู้ทุกข์ อธิบายได้ว่า ความเกิดมีอยู่จริง เป็นทุกข์จริง แต่ไม่มีผู้เกิด มีแต่กลุ่มของรูปธรรมและนามธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น แต่ผู้ไม่รู้ความจริง (อริยสัจจ์) ไปหลงยึดถือกลุ่มของรูปนามนั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือ เป็นคนอื่นสัตว์อื่น เมื่อรูปนามเกิดจึงคิดว่าเราเกิด หรือคนอื่นสัตว์อื่นเกิด และความตายก็มีอยู่จริง เป็นทุกข์จริง แต่ไม่มีผู้ตาย มีเพียงความดับของรูปนามที่รวมกันขึ้นมาชั่วคราวแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ผู้ไม่รู้ความจริง (อริยสัจจ์) ไปหลงยึดถือกลุ่มของรูปนามนั้นว่าเป็นคนหรือสัตว์ เมื่อรูปนามดับจึงคิดว่าเราตาย หรือคนอื่นสัตว์อื่นตาย เท่านั้นเอง
สำหรับองค์ธรรมของทุกขสัจจ์ (อุปาทานขันธ์) ตามนัยแห่งพระอภิธรรมระบุว่า อุปาทานขันธ์ประกอบด้วยสภาวธรรม 160 ชนิด ได้แก่ โลกียจิต 81 ดวง (จิตมี 89 ดวง แบ่งเป็นโลกียจิต 81 ดวง กับโลกุตรจิตอีก 8 ดวง) เจตสิก 51 ชนิด (เจตสิกมี 52 ชนิด แบ่งเป็นเจตสิกที่เป็นอุปาทานขันธ์อันจัดอยู่ในกองทุกข์ 51 ชนิด และเป็นเจตสิกที่เป็นตัวสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์อีก 1 ชนิด ได้แก่โลภเจตสิกหรือตัณหา) และรูป 28 รูป ดังนั้นการรู้ทุกข์จึงได้แก่การตามรู้สภาวธรรม 160 นี้เอง
(ในเวลาปฏิบัติจริงเราไม่จำเป็นต้องรู้สภาวธรรมมากมายถึงขนาดนี้ แค่รู้รูปและนามเพียงบางชนิดก็พอจะเริ่มต้นปฏิบัติได้แล้ว โดยอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง "รูปนามที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องทราบ" นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าในเวลาปฏิบัติจริง เมื่อโลภเจตสิกเกิดขึ้นก็ต้องตามรู้ด้วย สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า "จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ" คือเมื่อรู้จิตที่มีราคะแล้วก็ย่อมจำแนกได้ว่า อันนี้จิต อันนี้ราคะหรือโลภเจตสิกและในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นิวรณบรรพ ทรงแสดงว่า "เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่ากามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต" แสดงว่าทรงให้ตามรู้กามฉันท์อันเป็นโลภเจตสิกด้วย ดังนั้นตัวโลภ เจตสิกจึงมี 2 สถานะ สถานะแรกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสังขารขันธ์ จึงเป็นตัวทุกข์ที่ต้องตามรู้ อีกสถานะหนึ่งในฐานะที่เป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ และทุกข์ จึงเป็นตัวสมุทัยที่จะต้องละ แต่วิธีละสมุทัยก็ทำด้วยการรู้ทุกข์นั่นเอง ดังจะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป)
1.2 ทำไมจึงต้องรู้ทุกข์ เพราะไม่รู้อริยสัจจ์คือความจริงของพระอริยเจ้า เราจึงไปหลงยึดถือรูปนาม หรือขันธ์ 5 หรือกายใจนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา เมื่อรูปนามนั้นต้องแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย หรือไม่เป็นไปอย่างที่อยาก ก็เกิดความทุกข์ เกิดความกระสับกระส่ายในจิตใจขึ้นมาเผาผลาญตนเอง
การรู้ทุกข์เป็นการป้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปนามให้จิตดู จนจิตยอมรับด้วยปัญญาว่าตัวเราไม่มี มีแต่รูปนามที่มาประชุมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเหตุเมื่อปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป รูปนามก็เปลี่ยนแปลงหรือดับไป ไม่สามารถคงทนอยู่ได้ตามใจปรารถนา หากเกิดความปรารถนาหรือความอยาก (ตัณหา) แล้วเกิดความยึดถือรูปนาม ขึ้น (ความยึดถือหรืออุปาทานนั้น แท้จริงก็คือตัณหาที่มีกำลังกล้านั่นเอง) จิตใจก็จะเกิดความทุกข์เพราะความปรารถนานั้น การรู้ทุกข์ซึ่งเป็นการเรียนรู้ความจริงของรูปนาม จะส่งผลให้จิตหมดตัณหาหรือความทะยานอยาก (สอุปาทิเสสนิพพาน/กิเลสนิพพาน) และหมดทุกข์ อันเกิดจากความยึดถือในรูปนามและสิ่งต่างๆ เหลือแต่ความทุกข์ของขันธ์อย่างเดียว เมื่อถึงวันดับขันธ์ (อนุปาทิเสสนิพพาน/ขันธนิพพาน) ก็เท่ากับไม่มีทั้งกิเลสและขันธ์เหลืออยู่ จัดเป็นนิพพานที่ดับรอบหมดจด (สำหรับพระพุทธเจ้าเราเรียกกันว่าปรินิพพาน) ทั้งขันธ์ใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีอวิชชาตัณหาอุปาทานอันเป็นเหตุให้เกิดรูปนามหรือขันธ์ใน ภพใหม่ต่อไปอีก

(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/วิธีรู้ทุกข์)
กำลังโหลดความคิดเห็น