xs
xsm
sm
md
lg

คนรู้ใจ : บุญกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 83 ตีสนิทกับความตาย ตอน4/6 บุญกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร

วันนี้ขอทักทายท่านผู้อ่านด้วยคำอนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่มาเยี่ยมเยือน และปฏิบัติธรรมเป็นประจำ เย็นวันพุธที่เรือนธรรมครับ อบอุ่นจนกระทั่งรู้สึกเสมือนว่าที่นี่คือเรือนบุญของญาติสนิทมิตรสหาย และนอกจากการปฏิบัติธรรม ฟังธรรมร่วมกันทุกวันพุธแล้ว เรายังมีการร่วมกันปล่อยชีวิตสัตว์กันทุกเช้าตรู่วันอาทิตย์อีกด้วย ท่านที่สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้นะครับที่ ชมรมคนรู้ใจ โทร.0-2658-6444
คราวนี้มาถึงบทถอดความจากธรรมบรรยายของพระอาจารย์มานพ อุปสโม กันต่อ ตอบประเด็นที่สงสัยกันว่า บุญกุศลเป็นเสบียงในการเดินทางเกิดขึ้นได้อย่างไร
เสบียงในการเดินทางนั้นคือบุญและกุศล บุญกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร บุญกุศลนั้น เกิดขึ้นได้ 3 สถานะ
บุญเกิดขึ้นจากการให้เรียกว่าทาน บุญเกิดขึ้นจากการสำรวมระวังรักษาเรียกว่าศีล บุญเกิดขึ้นจากการอบรมจิตให้ตั้งมั่นให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมท่านเรียกว่าภาวนา

ลักษณะของการให้ทาน
การจะกระทำบุญให้เกิดขึ้น แล้วเป็นเสบียงในการเดินทางนั้น กระทำได้หลายทางด้วยกัน ทำบุญด้วยการให้ทานก็ได้ การให้ทาน ให้วัตถุเป็นทาน ให้เสื้อผ้า ให้ข้าวให้น้ำ ให้เครื่องอุปโภค
บริโภคแก่ผู้ทรงศีล แก่ยากจกวณิพกคนเข็ญใจ ให้แก่บุคคลทั่วๆ ไปเรียกว่าทาน
วัตถุทานเท่านั้นที่ต้องสูญเสียสตางค์ แต่การให้ทานไม่เสียสตางค์ก็มีให้อภัยทาน เขาด่า เราให้อภัยเขา ไม่โกรธเขา เขากลั่นแกล้งเราๆ ให้อภัยเขา ไม่โกรธเขา ให้อภัย
ถึงเวลาปล่อยนกปล่อยปลา ปล่อยเต่าอะไรต่างๆ เป็นการให้อภัยให้ชีวิต เรียกว่าอภัยทาน
ทานที่สูงสุดที่ทรงสรรเสริญนั้นคือ พระธรรมทาน บอกให้ธรรมะเป็นทานเป็นการให้ประเสริฐที่สุด สฺพพะทานํง ธฺมมํทานํง ชิมาติ การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง
การให้ธรรมะเป็นทานก็คือการให้แนวความคิดที่จะทำให้จิตไม่เศร้าหมอง ทำให้จิตผ่องใสคือแนะประโยชน์ให้บุคคลกระทำความดี ให้คนสร้างที่พึ่งในเวลาใกล้ตายจุติจะได้ผ่องใส จิตจะไม่ขุ่นมัวและตายแล้วจะไม่ไปสู่ทุกข์คติ แบบนี้เรียกว่าให้ธรรมะเป็นทาน

การรักษาศีลสำรวม 2 ประการ
คือ การสำรวมกายกับวาจา 2 ประการ สำรวมกายไม่กระทำความผิดทางกาย ไม่เอากายไปฆ่าสัตว์ ไม่เอากายไปลักทรัพย์ไปประพฤติผิดในบุตรภรรยาของบุคคลอื่นทางวาจาก็ไม่พูดโกหกหลอกลวง ไม่พูดเท็จพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ระวัง สำรวม สังวร อันนั้นเป็นศีล

แนวทางการภาวนา คือการสำรวมใจ 2 ประการ
ประการแรก ระวังใจ ไม่ให้ใจของเรานั้นหวั่นไหวทำใจให้ตั้งมั่น การอบรมจิตท่านแสดงแนวทางวิธี 2 ประการด้วยกัน คือ ทำจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในอารมณ์ต่างๆ ทำจิตให้เป็นสมาธิ การทำจิตให้ตั้งมั่น
การทำจิตให้เป็นสมาธิทำอย่างไร คือฝึกจิตของเราให้รับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว เอาไปจิตไปคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว คิดเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกจิตก็ตั้งมั่น ท่านยกตัวอย่างให้เราใช้ลมหายใจของเราที่มีอยู่เป็นอุปกรณ์ ให้สังเกตรู้อยู่แก่เราว่าลมหายใจของเรามีอยู่ เพียงแต่ให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก จิตก็จะตั้งมั่นจิตก็จะไม่หวั่นไหว เมื่อจิตตั้งมั่นจิต
ไม่หวั่นไหว จิตก็เป็นสมาธิ

การกำหนดลมหายใจให้้ทัน วางใจให้ถูก วางใจให้เป็น ให้ตั้งมั่น
การกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกนั้น เพียรพยายามรู้สึกในลมหายใจเข้าหายใจออกให้ทัน หากเพียงท่านทั้งหลายสามารถกำหนดลมหายใจเข้าออกได้แล้ว แม้ตายก็ไม่ไปทุกข์คติแล้ว เพราะขณะ
จิตอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออกตอนนั้นจิตผ่องใส และจิตรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกตอนนั้นราคะไม่มี โทสะไม่มี โมหะไม่มี จิตกำลังรอบรู้อยู่ จิตของเรากำลังตั้งมั่น จิตของเรากำลังไม่หวั่นไหว ในขณะนั้นจิตผ่องใสถ้าตายลงในขณะนั้นไปสู่สุขคติทันที
ทีนี้ทำอย่างไรเราจะกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกได้ ทำอย่างไรจึงจะกำหนดลมหายใจเข้าออกทัน ลมหายใจเป็นของละเอียด บางครั้งเรากำหนดลมหายใจไม่ถูก หายใจเข้ากำหนดไม่ถูก หายใจออกกำหนดไม่ถูก หาลมหายใจไม่เจอก็มี
ถ้าเรากำหนดไม่ได้ กำหนดไม่ถูก กำหนดไม่ทัน ท่านลองสังเกตขณะนี้ว่า เรามีลมหายใจหรือเปล่า มีโดยคิดว่ามี หรือมีจริงๆ มีเพราะเรารู้ว่ามีหรือเราคิดว่ามี
ถ้ามีเพราะเรารู้ว่ามี รู้ลมหายใจ รู้ขนาดนั้นเท่านั้นเอง รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ขนาดนี้ไม่ได้รู้มากเกินนี้ เพียงแต่เรารู้ว่ามีลมเข้ามีลมออก รู้เท่านั้นพอ และถ้าเรารู้ลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ หายใจเข้ารู้หายใจออกรู้ เข้ารู้ออกรู้ จิตของเราจะไม่หวั่นไหว จิตจะเริ่มตั้งมั่น
จิตจะไม่หวั่นไหว แต่ต้องระวังใจให้เป็น

เวลากำหนดลมหายใจอย่าไปหวังผลอะไร ส่วนมากเราจะหวังผลให้ใจสงบ เราหวังผลอยากจะให้เกิดความสุข เราหวังผลอยากจะให้เกิดความเบาความสบาย อยากได้ความสุข
การหวังผลการอยากได้ผลแบบนั้นเป็นกามฉันทะ จะสกัดกั้นไม่ให้ใจของเราเข้าถึงความสงบ
เราจะต้องกระทำความรู้สึกเพียงสักแต่ว่าลมหายใจมีอยู่ เราต้องการจะรับรู้เท่านั้น รู้ลมหายใจ เข้าครั้งหนึ่งรู้ลมหายใจออกครั้งหนึ่ง นั้นคือความรู้สึกเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ขณะรู้ลมหายใจเข้า
หายใจออก ขณะนั้นกำลังมีความรู้สึก เมื่อมีความรู้สึกอยู่ ความไม่รู้คืออวิชาไม่เกิด เมื่อความไม่รู้คืออวิชาไม่ปกปิด จิตจะไม่รู้สึกยินดี หรือยินร้าย ความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจก็จะไม่เกิด

ฉะนั้น เอาการรู้ลมหายใจเข้าออกไปเป็นอุปกรณ์เตรียมตัวก่อนตาย ลองไปสังเกตดูว่าตอนที่เราจะหลับลงนั้น หลับในขณะหายใจเข้าหรือหลับในขณะหายใจออก ให้ไปสังเกตให้ทันว่า ลมหายใจ
เข้าหรือลมหายใจออกในขณะหลับ

และให้สังเกตอีกด้วยว่า ตอนตื่นขึ้นมา เราตื่นด้วยลมหายใจชนิดไหน ในขณะตื่นสังเกตให้ทันว่า เป็นลมหายใจเข้าหรือหายใจออก เพียงแต่เราสังเกตทันเท่านั้น จิตก็รู้เท่าทัน
ลมหายใจเข้าออก เราไม่หวังผลความสงบความสุขความเบาความสบาย แต่ผลที่จะบังเกิดขึ้นแก่ตัวเราคือความรู้สึก

ต้องการความรู้สึกแบบนี้ท่านเรียกว่าสมถะภาวนา การทำใจให้สงบทำใจให้ตั้งมั่น ทำใจไม่ให้หวั่นไหว
ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะครับ พระอาจารย์มานพ อุปสโม ท่านยังได้เมตตาขยายให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้ประโยชน์อย่างไรอีกด้วย แต่หมดโควต้าหน้ากระดาษแล้ว เตรียมใจไว้อ่านต่อวันจันทร์หน้านะครับ

(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/การทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้ประโยชน์อย่างไร)
กำลังโหลดความคิดเห็น