ในพระไตรปิฎก เล่ม 22 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะจริยาปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ติสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระติสสพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ครึ่งเดือนเต็ม จึงตรัสรู้ ณ ควงไม้้ประดู่
ประดู่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จัดอยู่ในวงศ์ Leguminosae(วงศ์พืชในตระกูลฝักถั่ว ซึ่งมีมากมายหลายร้อยชนิด) ประดู่ในวงศ์นี้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีในบ้านเราได้แก่
ประดู่บ้าน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd.ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งมักทอดย้อย เปลือกสีเทา มีน้ำยางน้อย ปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามถนน
ประดู่ป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งชูขึ้นเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีน้ำยางมาก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป เนื้อไม้สีแดง
ประดู่แขก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. เปลือกสีเทา ดอกสีเหลืองอ่อนๆ
ประดู่ชิงชัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia oliveri Gamble มีเนื้อไม้แข็ง แก่นสีแดงเข้มถึงม่วงแก่
ประดู่แดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocarpus septentrionalis Donn.Smith เปลือกสีน้ำตาลดำ ดอกสีแดง
ประดู่ลาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia errans Craib ดอกสีม่วงอ่อน
ในที่นี้ไม่สามารถระบุได้ว่า ไม้ประดู่ชนิดใดเป็นไม้โพธิญาณพฤกษาของพระติสสพุทธเจ้า ดังนั้น จึงขอพูดในภาพรวมกว้างๆของไม้ประดู่ ดังนี้
ประดู่เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงราว 10-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่ออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง เมื่อออกดอกใบจะร่วงหมด ประโยชน์ของประดู่มีมากมาย ได้แก่ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งก่อสร้าง และเครื่องเรือนต่างๆ ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง และแก่นให้สีแดงคล้ำ สำหรับย้อมผ้า สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นก็มีมากเช่นเดียวกันคือ ราก ใช้แก้ไข้ บำรุงโลหิต คุมธาตุ แก้เสมหะ แก่น ใช้บำรุงโลหิต แก้พิษเบื่อเมา แก้คุดทะราด แก้ผื่นคัน แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย เปลือก ใช้สมานบาดแผล แก้ท้องเสียใบ ใช้พอกแผล พอกฝีให้สุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน ยาง แก้โรคท้องเสีย โรคปากเปื่อย ปากแห้งแตกระแหง
ปัจจุบัน ต้นประดู่ป่า เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชลบุรี และประดู่บ้าน เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภูเก็ต