xs
xsm
sm
md
lg

ทางแห่งความดี : น้ำใจอันประเสริฐของมหาอุบาสิกาวิสาขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 41 ทำกุศลเหมือนรวมพวงดอกไม้ ตอนที่ 5/5

มิคารเศรษฐีคิดว่า วิสาขามีอุปการะมากต่อตน เพราะทำให้ตนได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงอยากจะให้บรรณาการอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นปฏิการะ ตรองเห็นว่าเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ที่ ธนัญชัยเศรษฐีเจ้าเมืองสาเกต บิดาของนางวิสาขามอบให้เป็นของขวัญวันแต่งงานนั้นหนักนัก สวมใส่ไม่ได้ทุกโอกาส เนื่องจากประดับประดาด้วยเพชร 4 ทะนาน แก้วมุกดา 11 ทะนาน แก้วประพาฬ 20 ทะนาน แก้วมณี 33 ทะนาน ส่วนใดที่พึงใช้ด้าย ใช้เงินแทนเครื่องประดับนี้คลุมศีรษะยาวลงมาจดหลังเท้า ลูกดุม ทำด้วยทอง ห่วงลูกดุมทำด้วยเงินนกยูงตัวหนึ่งรำแพนอยู่เหนือศีรษะทำด้วยวัตถุต่อไปนี้ ขนปีกขวา ทำด้วยทอง 500 ขนขนปีกซ้าย ทำด้วยทอง 500 ขน จงอยปาก ทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตา ทำด้วยแก้วมณี คอ และแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงินเครื่องประดับนี้ มีราคา 9 โกฏิ (90 ล้าน) ค่าจ้างทำ (ค่าแรงงาน) หนึ่งแสน(ซึ่งท่านกล่าวว่า การได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น เป็นผลแห่งการถวายจีวร ส่วนชายย่อมได้รับจีวร และบาตร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์เป็นอานิสงส์แห่งจีวรทาน) จึงเรียกช่างทองมาให้ทำเครื่องประดับเบาๆ ให้ใส่ ชื่อ "ฆนมัฏฐกะ" คงจะแปลว่า กลมๆ เกลี้ยงๆ ราคาไม่แพงนัก คือแสนหนึ่ง เมื่อเครื่องประดับเสร็จแล้ว เศรษฐีได้ทูลนิมนต์พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มาเสวยให้วิสาขาอาบด้วยน้ำหอม 16 หม้อ เป็นสำนวนนิยม (idiom) แล้วมอบเครื่องประดับใหม่ให้ ให้ยืนถวายบังคมพระศาสดาอยู่ ณ ที่อันควรแก่ตน

จำเดิมแต่นั้นมา วิสาขาทำบุญมากมีทานเป็นต้น ได้รับพร 8 ประการในสำนักพระศาสดา เธอปรากฏตนประอนึ่ง จันทเลขา (วงจันทร์) ในกลางนภากาศ สว่างรุ่งเรืองมีรัศมีอันเย็นสนิท เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้เข้าใกล้ และได้ประสบพบเห็น เธอมีบุตรธิดามากถึง 20 คน บุตรธิดาแต่ละคนมีลูกชาย 10 คน ลูกหญิง 10 คน หลานของเธอก็เหมือนกัน เธอมีอายุ 120 ปี แต่ยังสวยพริ้งเหมือนสาวๆ เมื่อเดินไปวัดกับบุตรหลาน คนที่ไม่รู้จักมาก่อนย่อมดูไม่ออกว่าคนไหนคือ วิสาขา บุตรคนหนึ่งของเธอชื่อมิคารเหมือนปู่ของเขา

เมื่อเธอเดิน คนทั้งหลายก็อยากเห็น เธอนั่ง นอน ยืน คนทั้งหลายก็อยากเห็น เพราะงามทุกอิริยาบถ

บุตรหลานของนางล้วนรูปงาม ผิวพรรณดี ไม่มีโรค ไม่มีใครตายเมื่อยังหนุ่มสาว ทั้งนี้เป็นด้วยอำนาจแห่งกุศลผลบุญของนาง

นางต้องไปงานมงคล อวมงคลในเมืองสาวัตถีมิได้ว่างเว้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องสุมนาเทวี (เรื่องที่ 13 แห่งยมกวรรค)

วันหนึ่งบริโภคอาหารในที่รับเชิญแล้ว ในงานนั้นนางต้องแต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ไปด้วย แต่เห็นว่าจะแต่งเครื่องประดับเช่นนี้เข้าเฝ้าพระศาสดาจะไม่เหมาะ จึงเปลื้องเครื่องประดับให้คนรับใช้ถือไว้ ส่วนตนเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยเครื่องประดับลำลองชื่อ ฆนมัฏฐกะ ที่พ่อผัวทำให้ เมื่อสดับธรรมพอสมควรแล้วก็ถวายบังคมลา แล้วไปเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุสงฆ์ กับสหายคนหนึ่งชื่อสุปปิยา เพื่อพระรูปใดต้องการอะไรจะได้ถวาย เมื่อเยี่ยมพระเสร็จแล้วออกมาถึงประตูวัดเชตวัน จึงถามหาเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ แต่ปรากฏว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ที่วิหาร พระอานนท์เก็บไว้

เมื่อคนรับใช้จะกลับมาเอาเครื่องประดับ วิสาขาสั่งว่า ถ้าพระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้ก็ไม่ต้องรับคืนมา และความจริงก็เป็นเช่นที่วิสาขาคาดหมาย พระอานนท์ได้เก็บไว้ เป็นธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่า หากผู้ที่มาฟังธรรมลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์ที่จะเก็บของนั้นไว้จนกว่าเจ้าของจะมารับคืน เมื่อหญิงรับใช้ของวิสาขามารับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ทราบว่าพระอานนท์เก็บไว้ นางจึงกราบเรียนท่านว่า นายหญิงมิให้รับคืนสิ่งของที่ท่านจับต้องแล้วนางรีบกลับไปบอกนางวิสาขา-วิสาขาบอกว่าจะไม่ประดับเครื่องนั้นอีก แต่ครั้นจะให้พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้ก็จะลำบากกับการรักษา จึงให้หญิงคนใช้ไปรับกลับมา แต่มิได้ประดับเพราะความเคารพในพระอานนท์ นางต้องการขายเครื่องประดับนั้นเพื่อนำเงินมาทำอะไรสักอย่างหนึ่งถวายสงฆ์

เมื่อกลับถึงบ้าน นางให้เรียกช่างทองมาตีราคาเครื่องประดับ พวกช่างทอง บอกว่า 9 โกฏิ (90 ล้าน) ส่วนค่าจ้างทำอีกแสนหนึ่งต่างหาก รวมเป็น 90 ล้าน 1 แสน วิสาขาให้คนเที่ยวนำเครื่องประดับนั้นไปบอกขาย แต่ไม่มีใครรับซื้อได้ เพราะไม่มีทรัพย์ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง หญิงผู้มีบุญพอที่จะประดับเครื่องประดับนี้หาได้ยาก

ท่านว่าในพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น มีผู้หญิงมีบุญอยู่ 3 คนเท่านั้นที่ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ วิสาขา 1 มัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี 1 และลูกสาวเศรษฐีเมืองพาราณสี 1

เมื่อขายคนอื่นไม่ได้ วิสาขาจึงรับซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง แล้วขนเงิน 90 ล้าน 1 แสนใส่เกวียนนำไปสู่วิหาร ถวายบังคม พระศาสดา แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงและความเห็นทั้งปวงของตนให้พระศาสดาทรงทราบและทูลถามว่า ตนจะควรทำอย่างไหนในปัจจัย 4

พระศาสดาตรัสว่า

"วิสาขา ตถาคตเห็นว่า เธอควรสร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์ใกล้ประตูทางทิศตะวันออกแห่งนคร"

วิสาขาดำเนินตามพระดำรัสแห่งพระตถาคต ได้เอาทรัพย์ 90 ล้านซื้อที่ดิน และอีก 90 ล้าน สร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์ สร้างอยู่ 9 เดือน จึงสำเร็จเรียบร้อย นางบริจาคทรัพย์อีก 90 ล้านในการฉลองวัด-วัดนั้นให้ชื่อ "บุพพาราม" เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งนครสาวัตถี การสร้างวัดครั้งนี้เป็นการบริจาคอันยิ่งใหญ่ของวิสาขา ซึ่งหญิงอื่นๆ ทำได้ยากเหลือเกิน

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้วิสาขาปิติภาคภูมิเหลือเกิน เพราะความปรารถนาหลายอย่างที่ฝังใจอยู่นานได้สำเร็จลง ดังนั้นเมื่อเลี้ยงพระเพลเสร็จแล้ว ตกบ่าย วิสาขาพร้อมด้วยบุตรและหลานเดินเวียนรอบปราสาทในปุพพารามนั่นเอง เปล่งอุทานด้วยความชื่นบานว่า

"ความดำริของเราในการจะสร้างวิหารทานถวายสงฆ์ 1 สร้างเตียงตั่ง ฟูกหมอน และเสนาสนภัณฑ์ต่างๆ 1 ถวายโภชนทานอันประณีตแก่สงฆ์ 1 ถวายจีวรทานด้วยผ้าชนิดต่างๆ 1 ถวายเภสัชทานมีเนยใส เนยข้นเป็นต้น 1 บัดนี้ความดำริทั้งปวงของเราได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว..."

ภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงของนางแล้ว เข้าใจว่านางขับร้องเพราะมีจิตวิปลาสไป จึงกราบทูลพระศาสดา, พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! ธิดาของเราหาขับเพลง ร้องรำแต่ประการใดไม่ แต่เธอกระทำเช่นนั้นเพราะรู้สึกว่าอัชฌาสัยและความปรารถนาต่างๆ ของเธอได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว เธอดีใจว่า ความปรารถนาดีที่ตั้งไว้ได้บรรลุถึงที่สุดแล้ว จึงเดินเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ"

ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า เธอตั้งความปรารถนาไว้แต่กาลไร? พระศาสดาจึงตรัสเล่าความปรารถนาในอดีตของวิสาขาให้ภิกษุทั้งหลายทราบดังนี้

ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระวิสาขาเป็นเพื่อนของหญิงยอดอุปัฏฐายิกาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก พูดกับพระศาสดาด้วยความคุ้นเคย เธอปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงทูลถามพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า หญิงนั้นได้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา พระศาสดาตรัสตอบว่า เธอได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแสนกัลป์มาแล้ว

"หากหม่อมฉันปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้างจะได้หรือไม่?"

พระศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่านางสามารถได้ตำแหน่งนั้น จึงทรงรับรองว่านางจะได้ตำแหน่งยอดแห่งอุปัฏฐายิกาในศาสนาแห่งพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้่าเป็นประมุข ฉันอาหารที่บ้านของตนเป็นเวลา 7 วัน ในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฏกแก่พระสงฆ์เพื่อให้ทำจีวร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วหมอบลงแทบพระบาทตั้งความปรารถนาว่า

"ข้าแต่พระองค์! ด้วยอำนาจผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันมิได้ปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลก เป็นต้น อย่างใดอย่างใดหนึ่งเลย แต่ขอให้หม่อมฉันพึงได้รับพร 8 ประการในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับพระองค์ ตั้งอยู่ในฐานะดุจมารดา เป็นยอดแห่งอุบาสิกผู้สามารถบำรุงด้วยปัจจัย 4

พระศาสดาทรงรับรองว่า นางจักสำเร็จความปรารถนานั้นในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางทำบุญอยู่จนตลอดอายุ เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกเป็นเวลานาน ต่อมาในศาสนาแห่งพระกัสสปทศพล นางมาเกิดเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้องพระนามว่า สังฆทาสีของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกิ นางได้ตั้งความปรารถนาไว้เหมือนเดิม แม้ในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้านั้น ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกอีกนาน มาในศาสนานี้ กาลบัดนี้นางมาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐี

ครั้นนำเรื่องอดีตมาเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายจบแล้ว พระศาสดาจึงตรัสต่อไปว่า

"นี่แหละภิกษุทั้งหลาย! ธิดาของเราหาร้องรำทำเพลงแต่ประการใดไม่ แต่เธออุทานด้วยความเบิกบานใจ ที่ความปรารถนาในบุญกุศลทุกอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ภิกษุทั้งหลาย! จิตของวิสาขาธิดาแห่งเราย่อมน้อมไปในกุศลอยู่เสมอ ประหนึ่งช่างดอกไม้ผู้ฉลาด รวบรวมดอกไม้ทำให้เป็นกองโตแล้วเลือกทำพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น" ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธภาษิตว่า

"ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น