พระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้มีพระคุณประมาณมิได้ ยากที่จะเทียมถึง ทรงเพิกภพทั้งปวง ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ณ ควงไม้ซึก หลังจากทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม
ต้นซึก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Albizia lebbeck(L.) Benth.” อยู่ในวงศ์ “Leguminosae” ในอินเดียเรียกต้นซึกว่า “สิริสะ(Siris หรือ Sirisha)” ส่วนบ้านเรามีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันมากมาย ได้แก่ พฤกษ์,มะรุมป่า,ถ่อนนา,ก้านฮุง, กะเซ,มะขามโคก,จามจุรี เป็นต้น บางครั้งเรามักเรียกต้นก้ามปู หรือต้นจามจุรีแดง (Samanea saman Jacq Merr.) ซึ่งเป็นไม้ต่างชนิดกันว่า ต้นจามจุรี
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า และหมู่เกาะอันดามัน เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่ม เปลือกสีเทาขรุขระแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ บนแขนงมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 2-10 คู่ คู่ที่อยู่ตอนบนมีขนาดใหญ่สุดและลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างที่มีขนาดเล็กสุด ใบย่อยไม่มีก้าน หลังใบเกลี้ยง เป็นรูปวงรี ดอกออกรวมเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านช่อ กลีบดอกเล็กมาก เกสรสีเขียวและขาวเป็นฝอย เมื่อดอกแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแสด ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลเป็นฝักแบนยาวกว้าง เมื่อฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีรส เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม มีจำนวน 4-12 เมล็ด ในฝักหนึ่งๆ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ของต้นซึกมีมากมาย อาทิ เนื้อไม้ใช้สำหรับงานแกะสลัก ใบใช้หมักทำปุ๋ยเพราะมีธาตุไนโตรเจนสูง เปลือกมีรสฝาด ใช้ฟอกหนังได้ดี ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนรับประทานได้ มีรสมัน
นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรอีกมาก ได้แก่ เปลือก ใช้เป็นยาสมุนไพร สมานแผลในปาก ลำคอและเหงือกได้ และแก้ปวดฟัน เปลือกและเมล็ด ใช้รักษาอาการโรคบิด ท้องเสีย เมล็ด รสฝาดเมา แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน แก้เยื่อตาอักเสบ ใบ มีสรรพคุณเย็น ใช้ต้านพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน ผงเปลือกและผงรากใช้ทาทำให้เหงือกแข็งแรง และทาแผลที่เหงือก รากใช้แก้ท้องเสียและใช้ใส่แผล
**ข้อควรระวัง เมื่อรับประทานเมล็ด หรือน้ำยางเข้าไป จะทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการอาเจียนและถ่ายอย่างรุนแรง
ปัจจุบันต้นซึกหรือต้นพฤกษ์เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดมหาสารคาม