xs
xsm
sm
md
lg

ทางแห่งความดี : แก่นสารของชีวิตคือความดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องที่ 41 ทำกุศลเหมือนรวมพวงดอกไม้

พระพุทธภาษิต
ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหากยิรา มาลาคุเณ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจนกตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
คำแปล
บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ควรทำกุศลให้มาก เหมือนช่างทำดอกไม้ ทำพวงดอกไม้ได้มาก จากกองดอกไม้อันมากฉะนั้น
อธิบายความ
พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า
"ถ้าดอกไม้มีน้อย! แม้ช่างดอกไม้ฉลาด ก็ไม่สามารถทำดอกไม้ให้มากได้ หากช่างดอกไม้ไม่ฉลาด เมื่อดอกไม้มีน้อยหรือมากก็ตาม, ย่อมไม่อาจทำพวกดอกไม้ได้ ฉันใด บุคคลบางคนมีศรัทธาน้อย แม้สมบัติจะมีมาก ก็ไม่อาจทำกุศลมากได้ บางคนมีศรัทธามาก แต่โภคะมีน้อยก็ไม่อาจทำมากเหมือนกัน บางคนศรัทธาก็น้อยโภคะก็น้อย ก็ไม่อาจทำได้ ส่วนบางคนมีศรัทธามากด้วย มีโภคะมากด้วย เขาย่อมทำกุศลให้โอฬารได้ นางวิสาขามหาอุบาสิกเป็นผู้เช่นนั้น คือมีมากทั้งศรัทธาและโภคะ พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ หมายเอานางวิสาขานั่นเอง"
ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนอกจากความดี, เมื่อความแก่ ความเจ็บและความตาย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันต่างๆ ห้อมล้อมชีวิตอยู่ เสมือนภูเขาใหญ่ ศิลาล้วนกลิ้งบดมาทั้ง 4 ทิศ มนุษย์ควรจะทำอะไรยิ่งกว่า กุศลจริยา (ประพฤติธรรมที่เป็นกุศล) สมจริยา (ประพฤติธรรมที่สุจริต) ชีวิตมนุษย์น้อยเกินไป ไม่ควรประมาท พอถึงวัย 60 ก็ใกล้ตายเต็มที และเป็นไปได้เสมอที่จะตายก่อนนั้น มีอะไรเล่าเป็นทุนสำหรับโลกหน้า นอกจากบุญกุศลอันตนได้ทำเองในเมื่อมีเรี่ยวแรงกำลังอยู่ สัตว์ผู้เกิดมา จึงควรรีบเร่งขวนขวาย ทำบุญกุศลไว้ให้มาก ชีวิตจริงๆ ของคือชีวิตในโลกหน้า เสมือนเรือนอยู่ประจำของเรา ส่วนชีวิตในโลกนี้เป็นเสมือนศาลาพักในระหว่างทางเท่านั้น ชีวิตมนุษย์เราไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย แต่ชีวิตของเทพ แม้เพียงเทพชั้นดาวดึงส์ก็มีระยะอายุถึง 36 ล้านปีมนุษย์ ลองคิดดูเถิดว่าห่างกันเพียงใด และชีวิตในโลกทิพย์นั้นมิได้ทุกข์ทรมานอย่างชีวิตในโลกมนุษย์
พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภนางวิสาขามหาอุบาสิกา
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/ประวัติของนางวิสาขามหาอุบาสิกา)
กำลังโหลดความคิดเห็น