ตอนที่ 022
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
6. การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสติ มีทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐาน อันได้แก่การเจริญอนุสติ 10 ประการ เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ฯลฯ และส่วนที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน อันได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน 4 เฉพาะในบรรพที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ สำหรับคำว่าการเจริญสติในบทความนี้ หมายความถึงการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น แต่ที่ผู้เขียนไม่ตั้งหัวข้อบทความว่า "การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน" ก็เพราะพวกเรามักคุ้นเคยกับคำว่า "การเจริญสติในชีวิตประจำวัน" มากกว่า
การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว แต่พวกเรากลับให้ความสำคัญน้อยกว่าการเจริญสติตามรูปแบบ ซึ่งมีอารมณ์กรรมฐานและมีรูปแบบการปฏิบัติที่ตายตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก่อนจะกล่าวถึงการเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะขอกล่าวถึงตัวอย่างของการเจริญสติตามรูปแบบสักเล็กน้อย เช่นผู้ที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะมีอารมณ์ของวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ (1) ลมหายใจ (2) อิริยาบถใหญ่ (3) อิริยาบถย่อย (ผู้ที่ใช้อิริยาบถใหญ่เมื่อปฏิบัติมากเข้าก็มักจะควบการรู้อิริยาบถย่อยเข้าไปด้วย) และ (4) ธาตุ 4 ส่วนรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ก็แตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละสำนัก เช่นบางท่านรู้ลมหายใจที่กระทบปลายจมูก บางท่านตามลมซึ่งกระทบฐานกายที่จมูก อก และท้อง บางท่านรู้ธาตุไฟในลมหายใจ บางท่านใช้ลมเป็นนิมิตในการทำสมถกรรมฐานแล้วไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวทางของสมถยานิก บางท่านรู้อิริยาบถใหญ่โดยหน่วงการเคลื่อนไหวให้ช้าลง บางท่านสร้างจังหวะการเคลื่อนไหวให้ละเอียดมากขึ้น บางท่านใช้อิริยาบถอย่างเดียวเป็นหลักเช่นการเดินจงกรม และบางท่านรู้อิริยาบถ 4 ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น
ผู้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือเวทนอย่างเดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่ต่างกันอีก เช่นบางท่านรู้เวทนาทางใจไปตามธรรมชาติ แต่บางท่านเฝ้ารู้เวทนาทางกายแบบยอมตายถวายชีวิต คือไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถแม้ความทุกข์จะบีบคั้นหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม
ผู้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือจิตอย่าง เดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่นบางท่านรู้จิตไปตามธรรมชาติ คือปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วเฝ้ารู้จิตที่ผันแปรไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางท่านปิดอายตนะทางกายทั้งหมด แล้วเฝ้ารู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว
ผู้เขียนเห็นว่าการเจริญสติตามรูปแบบนั้น หากทำได้ถูกต้องตรงตามหลักการและวิธีการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติไม่ควรละเลยก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเราใช้ไปกับกิจกรรมธรรมดาๆ ทั้งหลายนี่เอง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับ กิน ดื่ม ขับถ่าย ทำ พูด คิด ดู ฟัง ดม ฯลฯ ไม่ใช่ชีวิตในห้องฝึกกรรมฐานซึ่งเราเข้าฝึกกันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวันก็เท่ากับละเลยโอกาสส่วนใหญ่ในการเจริญสติทีเดียว
การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือบางครั้งตาก็เห็นรูป บางครั้งหูได้ยินเสียง บางครั้งจมูกได้กลิ่น บางครั้งลิ้นรับรส บางครั้งกายรับสัมผัส และบางครั้งใจรับธัมมารมณ์ ในชีวิตจริงเราจึงเลือกอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ เช่นจะรู้กายอย่างเดียว หรือจะรู้จิตอย่างเดียวไม่ได้ การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น หากอารมณ์รูปนามอย่างใดปรากฏทางทวารใด ก็พึงใช้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนาไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องยึดอยู่ในอารมณ์ที่แน่นอนตายตัวอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ ทั้งนี้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ใช้อารมณ์ทั้งรูปและนาม ก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง
นอกจากนี้การรู้รูปนามทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่ตายตัว คือไม่มีการตั้งท่าหรือการกำหนดจดจ้องอย่างนั้นอย่างนี้เช่นให้เดินท่านั้น ให้นั่งท่านี้ ให้กำหนดจิตตั้งไว้ที่จุดนั้นจุดนี้ เป็นต้น เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า (1) ต้องรู้รูปนามที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะ (ในความเห็นของผู้เขียนสัมมาสมาธิและโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาหรือสัมปชัญญะ) หรือ (2) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่น (มีสัมมาสมาธิ) หรือ (3) ต้องรู้รูปนามโดยมีความรู้สึกตัว หรือ (4) ต้องรู้รูปนามด้วยความไม่หลง คือไม่หลงดู หลงฟัง หลงดม หลงลิ้มรส หลงสัมผัส และหลงคิดนึกปรุงแต่งทางใจ (เช่นไม่หลงส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่ในอารมณ์ ไม่หลงตามดูอารมณ์ภายในที่เคลื่อนไหวไปจนลืมตัว และไม่หลงปรุงแต่งสมมุติบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติมลงไปในการรับรู้นั้น) หรือ (5) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ปราศจากตัณหา 6 ประการ คือปราศจากความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ หรือ (6) ต้องรู้รูปนามอย่างสักว่ารู้ คือไม่ทำสิ่งใดหลังจากการรู้ (เช่นไม่แทรกแซงจิตและอารมณ์ รู้แล้วจบอยู่แค่รู้นั้น ไม่ทำกระทั่งการพยายามละอกุศลธรรม และการพยายามสร้างและรักษากุศลธรรม แต่ปล่อยให้สภาวธรรมทั้งหลายนั้นเป็นไปตามที่เขาเป็น เพียงแต่มีสติตามรู้เขาไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางเท่านั้น)
สภาวะทั้ง 6 ประการนี้มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ถ้อยคำและแง่มุมที่มองเท่านั้น คือจิตที่มีสติสัมปชัญญะจะต้องประกอบด้วยสัมมาสมาธิเสมอ จิตที่มีสัมมาสมาธิก็ย่อมตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวหรือมีความรู้สึกตัว จิตที่รู้สึกตัวก็คือจิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ จิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ก็คือจิตที่ไม่ถูกตัณหาผลักดัน และจิตที่มีสติสัมป ชัญญะ มีสัมมาสมาธิ มีความรู้สึกตัว มีความไม่หลง หรือไม่ถูกตัณหาผลักดัน ก็ย่อมสักว่ารู้อารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง
เมื่อใดผู้ปฏิบัติสามารถรู้รูปนามด้วยจิตที่มีสภาวธรรมเหล่านี้ ก็ย่อมสามารถจำแนกรูปนามอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์กับความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติออกจากกันได้ สมมุติบัญญัติทั้งหลาย จึงไม่อาจปิดบังความจริงหรืออารมณ์ปรมัตถ์ได้ต่อไป
เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้แล้ว จะพบความจริงว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตนของตน ความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตน และความยึดถือรูปนาม ก็จะถูกทำลายไปตามลำดับ แล้วความทุกข์เพราะความยึดมั่นว่ารูปนามเป็นตนก็จะหมดไป เหลือแต่ความทุกข์ของรูปนาม/ขันธ์ 5 ไปตามธรรมชาติจนกว่าจะสิ้นวิบากขันธ์เท่านั้น
ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเพื่อนนักปฏิบัติจะชอบแนวทางการปฏิบัติที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้หรือไม่ก็ตาม หากท่านเจริญสติปัฏฐานด้วยการตามรู้รูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ท่านย่อมพัฒนาการปฏิบัติไปสู่การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เอง คือจะรู้ได้ทั้งรูปและนาม ไม่ใช่รู้ได้เฉพาะรูปบางอย่างหรือนามบางอย่างดังที่เคยทำมาเมื่อเริ่มการปฏิบัติใหม่ๆ และรู้ได้โดยไม่มีวิธีการอะไรมากมาย คือแค่ลืมตาขึ้นมาเห็นรูปก็เจริญวิปัสสนาได้แล้ว ขอเพียงมีสัมมาทิฏฐิ คือมีความรู้ถูกเข้าใจถูกเกี่ยวกับหลักการและวิธีการเจริญวิปัสสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เราก็จะสามารถเจริญสติได้แทบทั้งวัน ยกเว้นในเวลาหลับ ในเวลาเผลอ และในเวลาที่ต้องทำงานซึ่งใช้ความคิดเท่านั้น
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/
ศีล : พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษ์)
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
6. การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
การเจริญสติ มีทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐาน อันได้แก่การเจริญอนุสติ 10 ประการ เช่นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ฯลฯ และส่วนที่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน อันได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน 4 เฉพาะในบรรพที่มีรูปนามเป็นอารมณ์ สำหรับคำว่าการเจริญสติในบทความนี้ หมายความถึงการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น แต่ที่ผู้เขียนไม่ตั้งหัวข้อบทความว่า "การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน" ก็เพราะพวกเรามักคุ้นเคยกับคำว่า "การเจริญสติในชีวิตประจำวัน" มากกว่า
การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนาทีเดียว แต่พวกเรากลับให้ความสำคัญน้อยกว่าการเจริญสติตามรูปแบบ ซึ่งมีอารมณ์กรรมฐานและมีรูปแบบการปฏิบัติที่ตายตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก่อนจะกล่าวถึงการเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะขอกล่าวถึงตัวอย่างของการเจริญสติตามรูปแบบสักเล็กน้อย เช่นผู้ที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะมีอารมณ์ของวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ (1) ลมหายใจ (2) อิริยาบถใหญ่ (3) อิริยาบถย่อย (ผู้ที่ใช้อิริยาบถใหญ่เมื่อปฏิบัติมากเข้าก็มักจะควบการรู้อิริยาบถย่อยเข้าไปด้วย) และ (4) ธาตุ 4 ส่วนรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ก็แตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละสำนัก เช่นบางท่านรู้ลมหายใจที่กระทบปลายจมูก บางท่านตามลมซึ่งกระทบฐานกายที่จมูก อก และท้อง บางท่านรู้ธาตุไฟในลมหายใจ บางท่านใช้ลมเป็นนิมิตในการทำสมถกรรมฐานแล้วไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานในแนวทางของสมถยานิก บางท่านรู้อิริยาบถใหญ่โดยหน่วงการเคลื่อนไหวให้ช้าลง บางท่านสร้างจังหวะการเคลื่อนไหวให้ละเอียดมากขึ้น บางท่านใช้อิริยาบถอย่างเดียวเป็นหลักเช่นการเดินจงกรม และบางท่านรู้อิริยาบถ 4 ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น
ผู้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือเวทนอย่างเดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่ต่างกันอีก เช่นบางท่านรู้เวทนาทางใจไปตามธรรมชาติ แต่บางท่านเฝ้ารู้เวทนาทางกายแบบยอมตายถวายชีวิต คือไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถแม้ความทุกข์จะบีบคั้นหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม
ผู้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้จะมีอารมณ์คือจิตอย่าง เดียว แต่ก็มีรูปแบบหรือวิธีการรู้อารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่นบางท่านรู้จิตไปตามธรรมชาติ คือปล่อยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจทำงานไปตามธรรมชาติ แล้วเฝ้ารู้จิตที่ผันแปรไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางท่านปิดอายตนะทางกายทั้งหมด แล้วเฝ้ารู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว
ผู้เขียนเห็นว่าการเจริญสติตามรูปแบบนั้น หากทำได้ถูกต้องตรงตามหลักการและวิธีการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติไม่ควรละเลยก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเราใช้ไปกับกิจกรรมธรรมดาๆ ทั้งหลายนี่เอง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับ กิน ดื่ม ขับถ่าย ทำ พูด คิด ดู ฟัง ดม ฯลฯ ไม่ใช่ชีวิตในห้องฝึกกรรมฐานซึ่งเราเข้าฝึกกันเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวันก็เท่ากับละเลยโอกาสส่วนใหญ่ในการเจริญสติทีเดียว
การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือบางครั้งตาก็เห็นรูป บางครั้งหูได้ยินเสียง บางครั้งจมูกได้กลิ่น บางครั้งลิ้นรับรส บางครั้งกายรับสัมผัส และบางครั้งใจรับธัมมารมณ์ ในชีวิตจริงเราจึงเลือกอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ เช่นจะรู้กายอย่างเดียว หรือจะรู้จิตอย่างเดียวไม่ได้ การเจริญสติในชีวิตประจำวันนั้น หากอารมณ์รูปนามอย่างใดปรากฏทางทวารใด ก็พึงใช้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์เจริญวิปัสสนาไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องยึดอยู่ในอารมณ์ที่แน่นอนตายตัวอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ ทั้งนี้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ใช้อารมณ์ทั้งรูปและนาม ก็คือการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง
นอกจากนี้การรู้รูปนามทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่ตายตัว คือไม่มีการตั้งท่าหรือการกำหนดจดจ้องอย่างนั้นอย่างนี้เช่นให้เดินท่านั้น ให้นั่งท่านี้ ให้กำหนดจิตตั้งไว้ที่จุดนั้นจุดนี้ เป็นต้น เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า (1) ต้องรู้รูปนามที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะ (ในความเห็นของผู้เขียนสัมมาสมาธิและโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญาหรือสัมปชัญญะ) หรือ (2) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่น (มีสัมมาสมาธิ) หรือ (3) ต้องรู้รูปนามโดยมีความรู้สึกตัว หรือ (4) ต้องรู้รูปนามด้วยความไม่หลง คือไม่หลงดู หลงฟัง หลงดม หลงลิ้มรส หลงสัมผัส และหลงคิดนึกปรุงแต่งทางใจ (เช่นไม่หลงส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่ในอารมณ์ ไม่หลงตามดูอารมณ์ภายในที่เคลื่อนไหวไปจนลืมตัว และไม่หลงปรุงแต่งสมมุติบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติมลงไปในการรับรู้นั้น) หรือ (5) ต้องรู้รูปนามด้วยจิตที่ปราศจากตัณหา 6 ประการ คือปราศจากความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ หรือ (6) ต้องรู้รูปนามอย่างสักว่ารู้ คือไม่ทำสิ่งใดหลังจากการรู้ (เช่นไม่แทรกแซงจิตและอารมณ์ รู้แล้วจบอยู่แค่รู้นั้น ไม่ทำกระทั่งการพยายามละอกุศลธรรม และการพยายามสร้างและรักษากุศลธรรม แต่ปล่อยให้สภาวธรรมทั้งหลายนั้นเป็นไปตามที่เขาเป็น เพียงแต่มีสติตามรู้เขาไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางเท่านั้น)
สภาวะทั้ง 6 ประการนี้มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ถ้อยคำและแง่มุมที่มองเท่านั้น คือจิตที่มีสติสัมปชัญญะจะต้องประกอบด้วยสัมมาสมาธิเสมอ จิตที่มีสัมมาสมาธิก็ย่อมตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวหรือมีความรู้สึกตัว จิตที่รู้สึกตัวก็คือจิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ จิตที่ไม่หลงตามอารมณ์ก็คือจิตที่ไม่ถูกตัณหาผลักดัน และจิตที่มีสติสัมป ชัญญะ มีสัมมาสมาธิ มีความรู้สึกตัว มีความไม่หลง หรือไม่ถูกตัณหาผลักดัน ก็ย่อมสักว่ารู้อารมณ์ได้ตรงตามความเป็นจริง
เมื่อใดผู้ปฏิบัติสามารถรู้รูปนามด้วยจิตที่มีสภาวธรรมเหล่านี้ ก็ย่อมสามารถจำแนกรูปนามอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์กับความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติออกจากกันได้ สมมุติบัญญัติทั้งหลาย จึงไม่อาจปิดบังความจริงหรืออารมณ์ปรมัตถ์ได้ต่อไป
เมื่อรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้แล้ว จะพบความจริงว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตนของตน ความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตน และความยึดถือรูปนาม ก็จะถูกทำลายไปตามลำดับ แล้วความทุกข์เพราะความยึดมั่นว่ารูปนามเป็นตนก็จะหมดไป เหลือแต่ความทุกข์ของรูปนาม/ขันธ์ 5 ไปตามธรรมชาติจนกว่าจะสิ้นวิบากขันธ์เท่านั้น
ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเพื่อนนักปฏิบัติจะชอบแนวทางการปฏิบัติที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้หรือไม่ก็ตาม หากท่านเจริญสติปัฏฐานด้วยการตามรู้รูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ท่านย่อมพัฒนาการปฏิบัติไปสู่การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เอง คือจะรู้ได้ทั้งรูปและนาม ไม่ใช่รู้ได้เฉพาะรูปบางอย่างหรือนามบางอย่างดังที่เคยทำมาเมื่อเริ่มการปฏิบัติใหม่ๆ และรู้ได้โดยไม่มีวิธีการอะไรมากมาย คือแค่ลืมตาขึ้นมาเห็นรูปก็เจริญวิปัสสนาได้แล้ว ขอเพียงมีสัมมาทิฏฐิ คือมีความรู้ถูกเข้าใจถูกเกี่ยวกับหลักการและวิธีการเจริญวิปัสสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เราก็จะสามารถเจริญสติได้แทบทั้งวัน ยกเว้นในเวลาหลับ ในเวลาเผลอ และในเวลาที่ต้องทำงานซึ่งใช้ความคิดเท่านั้น
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/
ศีล : พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษ์)