xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ปรากฎการณ์หน้าใหม่ของ Neo Buddhistism ในอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า “พุทธศาสนามีจุดกำเนิดที่ประเทศอินเดีย แต่จะไปเติบโตยังแผ่นดินอื่น” ข้อความนี้คงไม่เกินจริงเลย เพราะปัจจุบันพุทธศาสนาไปเจริญแพร่หลายในแถบตะวันตก และฝรั่งตาน้ำข้าวนั้นก็ให้ความสนใจในพุทธศาสนาไม่เพียงแต่เปลือกภายนอก แต่ยังศึกษา ค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง กระทั่งนำเอาพุทธศาสนามาปรับใช้กับศาสตร์แขนงอื่นๆ มากมาย
หันกลับมามองที่ประเทศอินเดีย ในอดีตพุทธศาสนาเคยผ่านช่วงเวลาที่เป็นทั้งยุคทอง และยุคเสื่อมในประเทศอินเดียมาแล้ว แต่กระนั้นมาในยุคปัจจุบันกระแสของพุทธศาสนาในอินเดียกำลังจะกลับคืนมาได้รับความเลื่อมใสศรัทธาอีกครั้ง
กระแส “นีโอพุทธ” หรือ “พุทธใหม่” กำลังแพร่ หลายไปทั่ว ดังที่ พระมหาประยงค์ จนฺทรตฺโต ประธานชุมนุมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ แห่งเมืองปูเณ่ รัฐมหารัชตะ ได้ให้สัมภาษณ์กับ‘ธรรมลีลา’ ว่า พุทธศาสนาในอินเดียยุคใหม่นี้ มีผู้เข้ามานับถืออย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และที่น่าภูมิ ใจอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐมหารัชตะนี้ มีชาวพุทธมากที่สุด เกือบ 4 ล้านคน แต่ละปีก็จะมีคนเข้ามานับถือศาสนา พุทธ และปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธมากขึ้น
“ทุกวันนี้พุทธศาสนาอยู่ในอันดับที่ 4 ทั่วอินเดีย จะมีประมาณ 8-10 ล้านคน นี่คือจำนวนคนที่ประกาศตัวว่าเป็นชาวพุทธ แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่หันมานับถือศาสนาพุทธแต่ไม่ประกาศตัวออกมา”
ในแต่ละปี เมืองนาคปู จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกวันที่ 14 ตุลาคม คนจำนวนเรือนแสนจะมา รวมกันที่เมืองนี้ ทั้งชาวพุทธและผู้ที่จะมาประกาศตัวเองเพื่อนับถือศาสนาพุทธ ภายในงานนอกจากจะมีการปฏิญาณตนเพื่อเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังมีการสัมนา ปาฐกถา และนิทรรศการต่างๆ เพื่อรำลึก ถึง ดร.บาบาซาฮิบ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Ambedkar) ซึ่งถือว่าท่านเป็นทั้งผู้นำนีโอพุทธ หรือชาวพุทธใหม่ในอินเดีย ทั้งยังได้รับยกย่องว่าเป็นบิดา แห่งการศึกษา ผู้ทลายกำแพงความเชื่ออันแข็งแกร่ง แห่งชนชั้นวรรณะตามระบบฮินดูลงได้ และทำให้คน วรรณะต่ำรู้จักสิทธิเสรีภาพของตัวเอง สามารถมีการ ศึกษา ประกอบอาชีพ ลืมตาอ้าปากได้ในโลกแห่งฮินดู
ดร.บาบาซาฮิบ อัมเบดการ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะนอนหลับได้อย่างไร ในเมื่อคนของข้าพ เจ้ายังไม่ตื่น” ตื่นในที่นี้ท่านหมายถึงการตื่นขึ้นจากการนอนหลับทับสิทธิ์ของตัวเอง ตื่นขึ้นจากระบบโครงสร้างที่ครอบงำความคิดและการกดขี่ ภายใต้โครงสร้างและระบบวรรณะของอินเดีย
คนไทยเราอาจจะรู้จัก ท่านมหาตมะ คานธี ผู้ที่ต่อสู้ในแนวอหิงสาฮินดูจนอินเดียได้รับเอกราชคืนมาจากอังกฤษ แต่สำหรับดร.อัมเบดการ์ นั้นก็ถือว่า เป็นผู้ที่ต่อสู้ทางชนชั้น และนำอิสรภาพมาสู่คนอินเดีย โดยใช้แนวอหิงสาพุทธ
คนไทยอาจจะไม่คุ้นชื่อ ดร.อัมเบดการ์ มากเท่าไหร่ ซึ่งท่านก็ถือว่ามีคุณูปการอย่างมากต่อประเทศอินเดีย และต่อชนชั้นล่าง และคนในระดับรากหญ้าของอินเดีย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ท่านไม่เพียงแต่นับถือศรัทธาในศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ท่าน ยังนำเอาหลักการ และคำสอนต่างๆในพุทธศาสนา มาแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และระบบชนชั้นวรรณะของอินเดีย
“ฉันเกิดมาเป็นฮินดู เพราะฉันเลือกเกิดไม่ได้ แต่ฉันจะไม่เป็นฮินดูไปจนตาย” ดร.อัมเบดการ์กล่าวคำนี้เมื่อความรู้สึกภายในเขาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนศาสนาในปี ค.ศ.1935 เขาได้สร้างสร้างความ สั่นสะเทือน และเขย่าสถาบันฮินดู และการแบ่งชนชั้นวรรณะของศาสนาฮินดูไปทั่วอินเดีย หลังจาก นั้นมาในปี ค.ศ.1956 ดร.อัมเบดการ์ก็ตัดสินใจหันมานับถือศาสนาพุทธ และนำชนชั้นล่าง วรรณะศูทร และจัณฑาล กว่าล้านคนเข้ามาสู่ชีวิตใหม่ ในการปฏิญาณตนเข้ามาสู่การเป็นพุทธศาสนิกชน
ดร.อัมเบดการ์มองว่า ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสร้างพื้นฐานและศีลธรรม ความดีงาม ความเท่าเทียม กัน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาแก้ปัญหาและเอาชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
การค้นหาความจริงแห่งชีวิต ความทุกข์ ความตาย คำถามว่าทำไมเราถึงเกิดมาบนโลกใบนี้ล้วนแล้ว แต่มีคำตอบแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของวัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อของแต่ละศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อตัวบุคคล และสังคมนั้นๆ
ดร.อัมเบดการ์เลือกศาสนาพุทธด้วยหลายเหตุ ผล ศาสนาพุทธถือเป็นหนึ่งในศาสนาเก่าแก่ของ อินเดีย และนำไปสู่สัจธรรมความจริง และศาสนาพุทธนั้นเปิดต่อ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ สีผิว
มุมมองที่สำคัญของดร.อัมเบดการ์นั้นมองพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ พูดถึงอิสรภาพ เสรีภาพ ทั้งภายในและภายนอก และท่านยังมองอีกด้านหนึ่งว่า บรรดาภิกษุสงฆ์นั้น ควรจะเป็นผู้ที่อุทิศตัวเองเพื่อรับใช้สังคม เช่นเดียว กันกับที่ท่านดายา ปรวา (Daya Pawar) กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเดินทางไปเทศนาสั่งสอนท่ามกลางคนยากไร้ เพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นได้พบแสงสว่าง ย่อมดีกว่านั่งสมาธิอยู่เพียงผู้เดียวในป่า
ในต้นศตวรรษที่ 19 มีการเคลื่อนไหวทางชนชั้นมากมายภายในประเทศอินเดีย มีกลุ่มทหารที่ปฏิเสธ การนับถือศาสนาฮินดูและการเป็นฮินดู เขาได้เห็นทางเลือกใหม่ คือ การเข้ามานับถือศาสนาพุทธ ก่อนหน้าดร.อัมเบดการ์ นั้น บัณฑิต อโยธี ธาส (Pandit Iyothee thass) ซึ่งเป็นชาวทมิฬนอกชนชั้น ได้ยืนยัน ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาดั้งเดิมที่ชาวทมิฬนับถือ อีกทั้งบัณฑิตอโยธี ยังเป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหว ของชาวพุทธในอินเดีย นอกจากนั้นก็มี พราหมนันทา (Brahmananda) ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของการต่อสู้ทางชนชั้นของรัฐอันตรประเทศ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา
พุทธศาสนาในการนำของดร.อัมเบดการ์ในอินเดีย นั้น หมายถึง โลกใหม่ของหญิงชายชาวอินเดียผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อชนชั้นวรรณะที่ความเชื่อเก่าๆ เอา มาสวมทับให้ หมายถึงการต่อสู้ต่อความเชื่อ และประเพณีเดิมที่ไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์
นอกจากที่เมืองนาคปูแล้ว ในเมืองปูเณ่ ก็มีพระสงฆ์ไทยได้รับนิมนต์ไปเป็นสักขีพยานการปฏิญาณตนเพื่อเป็นพุทธมามกะด้วย
“ตอนแรกๆ พระไทยเราไม่กล้าไป เพราะกลัวฮินดูจะทำร้าย แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร อาตมาคิดว่าพุทธศาสนาเข้ากับศาสนาอื่นได้ง่าย เพราะเราไม่มีท่าทีที่รุนแรง” พระมหาประยงค์กล่าว
หลายคนอาจจะเข้าใจไปว่า ชนชั้นล่างหรือคนวรรณต่ำในอินเดียจะมีแต่พวกขอทาน คนไร้บ้าน ไร้การศึกษา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น พระมหาประ-ยงค์อธิบายว่า “วรรณะต่ำ คือ พวกคนที่เกิดมาในวรรณะนั้นๆ ตามที่สังคมฮินดูเขากำหนด แต่คนที่อยู่ ในชนชั้นวรรณะเหล่านี้ก็มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีการงานมีอาชีพ วรรณะต่ำก็จริงแต่ขยันขันแข็งทำมาหากิน ทุกวันนี้เขาเป็นเจ้าของแฟลต เจ้าของธุรกิจ เยอะแยะไป”
“ต้องถือว่าเป็นคุณูปการของดร.อัมเบดการ์ ที่ปลุกให้คนเหล่านี้ตื่นขึ้น ไม่ให้ไปยอมจำนนอยู่กับชนชั้นที่คนอื่นเขามากำหนดให้เราแล้วก็กดขี่เรา บางคนก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ตระกูลเขาเกิดมาในชน ชั้นนั้น อีกอย่างหนึ่งก็ต้องยอมรับอังกฤษว่า เขามา ปกครองอินเดีย เขาให้โอกาสคนชั้นต่ำพัฒนาขึ้นมา อังกฤษมีตาแหลมคมในการดึงคนขึ้นมาใช้ ให้โอกาส ในการเรียน การทำงาน ไม่เช่นนั้นต่อให้ดร.อัมเบดการ์เก่งขนาดไหน แต่ถ้าสังคมไม่ยอมรับ ก็ขึ้นมาไม่ได้”
จากอดีตถึงปัจจุบันในรัฐมหารัชตะนั้นถือว่าพระไทยมีส่วนอย่างมากในการเผยแผ่พุทธศาสนาในอินเดีย ในเมืองปูเณ่ รัฐมหารัชตะนี้ มีพระสงฆ์ไทยมาศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นระยะเวลา 35 ปีมาแล้วที่พระผู้ใหญ่ของเราได้มาเผยแผ่พุทธศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีแบบไทยๆไว้ และในอดีตนั้นเคยเจริญรุ่งเรืองถึงขั้นมีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งไม่แปลกเลยว่า ชาวพุทธอินเดียนั้นรู้จักการกราบไหว้พระแบบไทย การประกอบพิธีกรรม และคำไหว้พระสวดมนต์แบบไทย
“พุทธศาสนาแบบไทยได้มาหยั่งรากลึกไว้นานแล้ว ศาสนาพุทธแนวพุทธใหม่ของอินเดียจะไม่มีพิธีกรรมอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะได้พิธีกรรมมาจากไทยมากกว่า” พระมหาประยงค์กล่าว
สำหรับเรื่องพระสงฆ์ หรือการเคารพนับถือ พระสงฆ์ของชาวพุทธอินเดียนั้น พระมหาประยงค์ เล่าจากประสบการณ์ของท่านว่า “พระไทยเป็นที่เคารพมากกว่าพระสงฆ์อินเดีย เพราะถ้าใครเคยไปร่วมงานต่างๆของชาวอินเดียจะรู้เลยว่าเขาให้เกียรติ พระไทยมาก เขาจะให้พระไทยนั่งเก้าอี้แรกเลย ถึงแม้พระอินเดียเขาจะบวชมาก่อน แต่สำหรับคนทั่วไปนั้น ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน เขาก็ไม่รู้ว่าควร วางตัวกับพระสงฆ์อย่างไร คนอินเดียบางคนเห็นพระปลงผมมาใหม่ๆ ก็เอามือลูบศีรษะพระเล่นก็มี อันนี้อาตมาก็เคยเจอ แต่เราก็ต้องค่อยๆบอกเขา ทั้งเรื่องการกราบไหว้ การนั่ง หรือการให้ความเคารพ พระสงฆ์
แต่สำหรับพระสงฆ์อินเดียนั้นมีจำนวนน้อยมาก บวชมานานแค่ไหนก็ยังเป็นเณรอยู่ เพราะการบวชทำได้ยากกว่า โดยเฉพาะการบวชแบบเถรวาท ส่วนใหญ่ก็ไปบวชแบบทิเบต ส่วนเณรนั้นส่วนใหญ่ก็บวชแบบไทย ซึ่งทางเรามีการจัดโครงการอุปสมบทให้ทุกปีิ ผู้ที่มาบวชนั้นคือ ลูกหลานของชาวพุทธในรัชมหารัชตะ”
พระมหาประยงค์เล่าต่อว่า “ครอบครัวเขาจะภูมิ ใจมากที่ได้มีลูกมาบวชเณร และตัวเณรเองก็ภูมิใจและพอใจ สังเกตได้จากเณรที่สึกไปแล้ว บางทีเราก็ จำไม่ได้ แต่เขาเข้ามาทักทายเรา “อาจารย์ฉันเคยบวช เป็นสามเณร” แล้วเขาก็จะบอกชื่อบาลีที่เราตั้งให้ เช่นชื่อ กัสสปะ เขาจะพอใจมากกับชื่อที่เขาใช้ในการบวช เณร พอสึกออกไปแล้วเขาก็จะไม่ใช้ชื่อเดิมของเขา แต่จะใช้ชื่อที่เคยใช้ในการบวชเณรแทน เพราะเขาถือว่าเป็นชื่อที่ได้จากพุทธ ส่วนทางเราก็ภูมิใจลึกๆ ว่าเขาได้หลายอย่างมาจากเรา เช่นการไหว้ การกราบ ท่าที ท่าทาง เรียกได้ว่า ลอกแบบมาจากพระไทยเลย การสวดมนต์ อาราธนาศีล การห่มผ้าต่างๆ
ทางด้านการประกอบพิธีกรรมก็จะมีความแตกต่างชัดเจน ถ้าบ้านเราก็จะมีแต่พระพุทธรูป แต่ของอินเดียนั้นจะต้องมีรูป ดร.อัมเบดการ์ ประกอบด้วย และนอกจากการถวายดอกไม้ต่อพระพุทธรูปแล้ว ก็จะมีพวงมาลัยมาคล้องที่รูป ดร.อัมเบดการ์ด้วย ขาดรูป ดร.อัมเบดการ์ไม่ได้ จะถือว่าไม่ครบสมบูรณ์
นอกจากนี้คำทักทายปราศรัยเวลาพบปะกันของชาวพุทธอินเดียนั้น เขาจะกล่าว คำว่า “ใจบีม” หรือ “ใจภารัต” ใจบีมนี้ คำว่า“บีม”มาจาก ชื่อเล่นของดร.อัมเบดการ์ คือ ภีมราว, บีมราว หรือ ภีมะ ซึ่งแปลว่า ผู้กล้า อย่างใจบีม ใจภีม ก็คือ ดร.อัมเบดการ์ จงเจริญ หรือ หมายถึง พุทธศาสนาจงเจริญ คือยุคใหม่นี้ในมหารัชตะหรือในอินเดีย ถ้ากล่าวคำนี้ หรือทักกันด้วยคำนี้เขาจะรู้เลยว่าเราเป็นพุทธ แล้วชาวพุทธอินเดียก็พอใจด้วยถ้าเราทักทายกันด้วยคำนี้ แล้วก็ดีใจถ้าได้ยินเราพูด เช่นเดียวกับชาวฮินดูที่เจอกันก็จะทักว่า หริโอม หรือหริราม นั่นคือ ขอพระเจ้าคุ้มครองท่าน คือคำอวยพรซึ่งกันและกัน
ในเรื่องประเพณีนั้น ชาวพุทธอินเดียจะมีพิธีกรรม และวันสำคัญแตกต่างจากเรา วันที่สำคัญๆ ของเขาคือ วันพุทธปูรนิมา หรือวันวิสาขบูชา ซึ่งก็จะนับเดือน ต่างกับเรา รวมถึงไม่มีเวียนเทียนอย่างของไทย พระพุทธรูปในเมืองปูเณ่นั้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากเมืองไทย ซึ่งคนอินเดียเขาจะชื่นชมศิลปะความงดงามของพระพุทธรูปไทย และวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ในเมืองปูเณ่นั้นก็ใช้พระพุทธรูปไทยในการแห่ไปรอบเมือง”
พระมหาประยงค์เล่าประสบการณ์ของท่านให้ฟังอีกว่า “เคยมีชาวพุทธอินเดียที่มาร่วมงานวิสาขบูชา กับคนไทยก็จะถามพระไทยว่า ทำไมต้องถือเทียน เดินวนรอบๆ ด้วย เพราะวันวิสาขบูชาของชาวพุทธที่นี่จะเป็นการรวมพลังกันออกมาเดิน มาแสดงพลังความเป็นพุทธศาสนิกชนของเขามากกว่า ตากแดดร้อนขนาดไหนเขาก็เดินกันได้ เขาไม่มีวันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชาอย่างเรา เท่าที่สอบถาม เขามีวันเดียว คือ วันพุทธปูรนิมา ก็คือวันวิสาขบูชา วันที่เหลือเขาไม่รู้จัก ส่วนใหญ่ก็รู้จักมาจากพระไทยเรานี่เอง
มีข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งของพิธีกรรมในอินเดีย คือ พระสงฆ์ไทยนั้นจะได้รับนิมนต์มากในงาน แต่งงานของชาวอินเดีย และชาวอินเดียก็จะภูมิใจมากที่มีพระสงฆ์ไทยมาร่วมงาน และจะต้องให้พระไทยมาก่อนใครในงาน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันของพระสงฆ์ไทยว่า ถ้าไปงานแต่งงานอินเดีย นั้นจะต้องนั่งรอกันทีละหลายๆ ชั่วโมง และบางงานแม้แต่น้ำก็ไม่มีให้พระฉัน”
พระมหาประยงค์บอกว่า “ไปงานแบบนี้เราก็ไปด้วยใจ เขานิมนต์มาอาตมาก็ไป ให้ศีลให้พร ในพีธีกรรมก็จะไม่มีอะไรมาก พระก็จะให้ศีลคู่บ่าวสาว สวดพาหุงฯ จากนั้นก็คล้องพวงมาลัยให้ทั้งคู่ก็เป็นอันเสร็จ พิธี ส่วนงานศพจะไม่นิยมนิมนต์พระ จะทำกันเองใน หมู่ญาติ และต้องเผาภายใน 24 ชั่วโมง แต่สำหรับงานอุทิศส่วนกุศลนั้นก็จะนิมนต์พระไป ซึ่งก็ไม่ได้มี การจำกัดจำนวนเฉพาะอย่างบ้านเรา แต่เขาจะมองว่า ยิ่งนิมนต์พระมากยิ่งดี”
แม้ว่าปัจจุบันกระแสการหันมานับถือศาสนาพุทธ หรือการเข้ามาเป็นชาวพุทธใหม่ในอินเดียจะมีมากขึ้น แต่พระมหาประยงค์ให้ข้อสังเกตว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เข้ามาเป็นพุทธแบบเล่นการเมือง ซึ่งพระมหาประยงค์ใช้คำว่า “เทคนิคอลพุทธ” หรือ เป็นพุทธโดยการเมือง
“ตรงนี้คงไม่ต่างไปจากบ้านเราที่เป็นพุทธศาสนิก ชนตามทะเบียนบ้าน คือ เป็นโดยไม่รู้ ไม่ศึกษาอะไรเลย ส่วนในอินเดีย คือ เป็นเพื่อที่จะได้มีที่นั่งทาง การเมือง หรือเป็นเพื่อจะได้โควตาเข้าทำงาน เข้ารับราชการ เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แบบนี้ก็มีมาก
แต่พวกที่รู้ และเข้าถึงพุทธศาสนานั้นก็มีมากเช่น กัน และคนพวกนี้รู้ลึกและเคร่งครัดมาก เขาจะเรียก ตัวเขาเองว่า อุบาสก อุบาสิกา มีสมาทานศีล และรักษาศีลอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้เขาก็ยังเป็นนักฟังที่ดี เวลาฟังพระเทศน์นั้นเขาจะตั้งใจฟังมาก แต่ถ้า บ้านเราเวลาพระเทศน์ ก็จะเหลือแต่เฉพาะคนแก่อยู่บนศาลาวัด และที่น่าสังเกตจากคนรุ่นใหม่คือ คนรุ่น เดิมเขาจะสอนลูกหลานให้เคร่งครัด รู้จักพุทธศาสนา ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเราพอใจมากที่เขาปลูกฝังลูกหลานให้ มั่นคงในศาสนา และเห็นเด็กรุ่นใหม่สวดมนต์ได้ สวดภาษาบาลีได้ปร๋อ ซึ่งเด็กไทยไม่มีทางสวดได้”
แต่กระนั้นพระมหาประยงค์ก็ทิ้งท้ายไว้ถึงความ น่าเป็นห่วงว่า ชาวพุทธอินเดียรุ่นใหม่นั้นยังต้องการ ผู้นำที่เข้มแข็ง แข็งแกร่ง อย่างดร.อัมเบดการ์ ที่จะเป็นศูนย์รวมและนำชาวพุทธใหม่ให้มีเอกภาพได้ เพราะในสมัยดร.อัมเบดการ์นั้น จะเน้นในการใช้ศาสนาพุทธเพื่อต่อสู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ แต่ขาดการใช้พุทธศาสนาเพื่อนำพาคนให้หลุดพ้นอย่างบ้านเรา
“เห็นได้จากชาวพุทธในปูเณ่นั้นยังไม่มีเอกภาพ ยังขาดผู้นำทางจิตวิญญาณ นอกจากนั้นก็หลากหลาย มาก และยังไม่มีคณะสงฆ์เป็นของตัวเองอย่างบ้านเรา เพราะองค์กรคณะสงฆ์นั้นก็ต้องถือว่าสำคัญเพื่อที่จะจัดระบบการดูแลพระสงฆ์ และเผยแผ่พัฒนาพุทธศาสนาในอินเดียให้เข้มแข็งขึ้นด้วยตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ของชาวพุทธใหม่ใน อินเดียนั้นคงสะท้อนภาพบางด้านให้สังคมไทยได้เห็น เช่นการผสานพุทธศาสนากับการเมือง เศรษฐ กิจ และสังคม เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยากและการปลดแอกทางชนชั้นวรรณะ ในทางกลับกัน หากย้อน มาดูสังคมไทย ที่พุทธศาสนาได้เจริญเติบโตมายาว นาน แต่กระนั้นเราก็ยังขาดการนำเอาหลักการทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง และทุกข์ของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น