xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ผู้ทรงศีล : พุทธวิธีคลายโศก ตอนที่ 14/17 ฐานะที่ไม่มีใครพึงได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัยหนึ่ง พระนางภัททาราชเทวี ผู้เป็นที่รักแห่งพระราชาพระนามว่ามุณฑะ ได้ทิวงคต พระราชาไม่ทรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทรงซบเซาอยู่ที่พระศพพระราชเทวีตลอดคืนตลอดวัน

ครั้งนั้น พระราชาได้ตรัสสั่งมหาอำมาตย์ให้ยกพระศพลงในรางเหล็กที่เต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดด้วยรางเหล็กอื่น เพื่อให้ได้เห็นพระศพนานๆ มหาอำมาตย์ก็ทำตามรับสั่ง แล้วคิดว่า ท่านพระนารทะอยู่ที่กุกกุฎาราม ใกล้นครปาตลีบุตร ท่านเป็นบัณฑิต มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม และเป็นพระอรหันต์ ควรที่พระราชาจะเสด็จไปหา หลังจากได้ทรงสดับธรรมแล้ว อาจจะทรงละความโศกได้ ดำริแล้วก็ไปเฝ้าและกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ

พระราชาทรงเห็นด้วยเมื่อได้เวลาอันควรก็เสด็จไปพร้อมด้วยมหาอำมาตย์และข้าราชบริพาร เข้าไปหาท่านพระนารทะถึงพระอาราม ทรงอภิวาท แล้วประทับ ณ ที่อันสมควร

ท่านพระนารทะได้ทูลพระเจ้ามุณฑะว่า ขอถวายพระพร ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม เมื่อประสบกับความแก่ ความเจ็บไข้ ต้องพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก ย่อมไม่พิจารณาดังนี้ว่า ไม่ใช่เราผู้เดียวที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่พิจารณาโดยแยบคาย เขาย่อมเศร้าโศก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็เศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็พึงหยุดชะงัก แม้พวกศัตรูก็พึงดีใจ แม้พวกมิตรก็พึงเสียใจ นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม ถูกลูกศรคือความโศกที่มีพิษเสียบแทงแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน

ส่วนอริยสาวกผู้ได้ฟังธรรม เมื่อประสบกับความแก่ ความเจ็บไข้ ต้องพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ไม่ใช่เราผู้เดียวเท่านั้น ที่ประสบกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้ฟังธรรม ถอนลูกศรคือความโศกที่มีพิษเสียบแทง ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมทำตนให้เดือดร้อน อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง

ท่านพระนารทะได้กล่าวต่ออีกว่า ประโยชน์แม้เล็กน้อยอันใครๆ ย่อมไม่ได้เพราะการเศร้าโศก การคร่ำครวญ พวกศัตรูทราบว่าเขาเศร้าโศกเป็นทุกข์ ย่อมดีใจ

ก็คราวใดบัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้นพวกศัตรูย่อมเป็นทุกข์เมื่อเห็นหน้าอันยิ้มแย้มของบัณฑิตนั้น

บัณฑิตพึงได้ประโยชน์เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะกล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณีของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้นๆ ด้วยประการนั้นๆ

ถ้าพึงทราบว่า ความต้องการอย่างนี้ อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระเจ้ามุณฑะทรงละความโศกได้ แล้วตรัสสั่งมหาอำมาตย์ว่า ท่านถวายพระเพลิงพระศพพระนางภัททาราชเทวีแล้วจงทำเป็นสถูปไว้ ตั้งแต่นี้ไป เราจักอาบน้ำแต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน (นารทสูตร 22/50)

คติที่ได้จากเรื่องนี้คือ คนเราต้องรู้จักทำใจเมื่อไม่สมปรารถนา เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นเป็นขึ้นในโลกนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า ต้องเฉพาะที่เราชอบเราเห็นด้วยเท่านั้น จึงจะเกิดมีขึ้นเป็นขึ้นได้ แม้สิ่งที่เราไม่ชอบไม่เห็นด้วยเลย มันก็เกิดมีขึ้นเป็นขึ้นได้ เช่น การพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของที่เรารัก การตั้งความปรารถนาว่า บุคคลที่เรารักจงอยู่กับเรานานๆ อย่าแปรเป็นอื่น อย่าด่วนจากเราไปเลย นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักทำใจ คืออย่าได้เศร้าโศกเสียใจเมื่อคนที่เรารักแปรเป็นอื่น หรือตายจากไป

เรากำเนิด เกิดมา ในหล้าโลกสุขกับโศก คงอยู่ เป็นคู่สอง
เดี๋ยวทุกข์มา สุขมา พากันครองเหมือนเขาร้อง รำเต้น เล่นลิเก

แจกฟรี หนังสือพุทธวิธีคลายโศก มอบให้โรงเรียน ห้องสมุด และบุคคลทั่วไป ท่านละ 1 เล่ม ขอรับได้ที่ คุณวิเชียร โทร.0-2862-4401-4
กำลังโหลดความคิดเห็น