xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องที่39 / วาจาสุภาษิตเหมือนดอกไม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธภาษิต
ยถาปิ รุจิรั ปุปฺผํวณฺณวนฺตํ อคนฺธกํ
เอวํ สุภาสิตา วาจาอผลา โหติ อกุพฺพโต
ยถาปิ รุจิรํ ปุปฺผํวณฺณวนฺตํ สคนฺธกํ
เอวํ สุภาษิตา วาจาสผลา โหติ สุกุพฺพโต
คำแปล
ดอกไม้งาม มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น ฉันใด วาจาสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำตาม ฉันนั้น แต่วาจาสุภาษิตย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี เหมือนดอกไม้งามสีสวย และมีกลิ่นหอม
อธิบายความ
ความแตกต่างอยู่ที่กลิ่นหอม และไม่มีกลิ่นหอม ดอกไม้แม้จะมีสีสวย สัณฐานงามเหมือนกันน แต่ดอกหนึ่งมีกลิ่นหอม อีกดอกหนึ่งกลิ่นไม่หอม คุณค่าย่อมแตกต่างกันมาก ใจคนย่อมชอบดอกไม้ที่กลิ่นหอมมากกว่า แม้สีจะไม่สวย สัณฐานจะไม่งาม
วาจาสุภาษิตก็เหมือนกัน ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้นำมาปฏิบัติตาม หาสำเร็จประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติไม่
อนึ่ง คนดีเปรียบได้กับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม คนชั่วเปรียบกับดอกไม้ที่กลิ่นเหม็น ส่วนรูปร่างหน้าตาอาจคล้ายกันได้ เหมือนสีและสัณฐานของดอกไม้ ดอกอุตพิดนั้น สีและสัณฐานไม่เลว แต่ไม่มีใครอยากแตะต้อง เพราะกลิ่นมันเหม็นจัด ส่วนดอกกุหลาบแม้มีหนามแต่คนก็ปรารถนา เพราะกลิ่นหอมชื่นใจ
สีของดอกไม้ไม่สำคัญเท่ากลิ่นฉันใด หน้าตารูปร่างของคนก็ไม่สำคัญเท่าคุณความดีในตัวของเขาฉันนั้น
พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส เมื่อประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภฉัตตปาณิอุบาสกและการเรียนธรรมของพระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภ ขัตติยา มีเรื่องย่อดังนี้
เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก
ฉัตตปาณิ เป็นอุบาสกอยู่ในเมืองสาวัตถี เป็นผู้รอบรู้ในพระพุทธพจน์ และได้บรรลุมรรคผลเป็นอนาคามี เขารักษาอุโบสถแต่เช้าตรู่ทุกวันและสู่ที่บำรุงพระศาสดาทุกวัน
ความจริงอุบาสกผู้เป็นอนาคามีแล้ว ไม่ต้องรักษาอุโบสถ โดยวิธีสมาทาน เพราะอุโบสถศีล พรหมจรรย์และการบริโภคอาหารวันละครั้งย่อมมาพร้อมกับการบรรลุมรรคผลนั่นเอง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึงช่างหม้อชื่อ ฆฏิการะว่า
"ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ การบริโภคอาหารวันละครั้ง ประพฤติพรหมจรรย์เป็นปกติ มีศีล มีกัลยาณธรรม"
วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ขณะนั้นฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ในที่เฝ้าแล้ว เขาเห็นพระราชากำลังเสด็จมาจึงคิดว่า เราควรลุกขึ้นต้องรับหรือไม่หนอ? ในที่สุดเขาตกลงใจไม่ลุกขึ้น เพราะคิดว่ากำลังนั่งอยู่ในสำนักของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือพระพุทธเจ้า หากจะลุกรับพระเจ้าปเสนทิก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา
พระราชาปเสนทิ เห็นฉัตตปาณิอุบาสกไม่ลุกรับ มีพระมนัสขุ่นเคือง แต่ไม่กล้าตรัสอะไร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับ ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์
พระศาสดาทรงทราบความขุ่นเคืองในพระทัยของพระราชามีพระพุทธประสงค์จะบรรเทาความขุ่นเคืองนั้น จึงตรัสพรรณนาคุณของฉัตตปาณิอุบาสกว่า
"มหาบพิตร! ฉัตตปาณิอุบาสกนี้ เป็นบัณฑิตได้เห็นธรรมแล้ว รอบรู้ในพุทธพจน์ รู้จักประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, สิ่งที่ควรและไม่ควร..."
เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของฉัตตปาณิอุบาสกอยู่ พระหฤทัยก็อ่อนลง
ต่อมาอีกวันหนึ่ง พระราชาประทับยืนอยู่บนปราสาททอดพระเนตรเห็นฉัตตปาณิอุบาสก กั้นร่ม สวมรองเท้าเดินผ่านมาทางพระลานหลวง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา อุบาสกหุบร่ม ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้า ยืนอยู่ ณ ที่ควรแก่ตนแห่งหนึ่ง พระราชาตรัสถามว่า ทำไมจึงหุบร่มและถอดรองเท้าเสียเล่า เพื่งรู้วันนี้เองหรือว่าเราเป็นพระราชา แล้ววันก่อน ท่านนั่งอยู่ในสำนักพระศาสดา เห็นเราแล้ว ทำไมจึงไม่ลุกรับ
ฉัตตปาณิอุบาสก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช! วันนั้น ข้าพระพุทธเจ้านั่งอยู่ในสำนักของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ หากลุกรับพระราชาประเทศราช ก็จะเป็นการขาดความเคารพในพระศาสดา
พระราชาจึงตรัสตอบว่า ช่างเถอะอุบาสก เรื่องแล้วไปแล้ว, แต่เขาเล่าลือกันว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต ท่านรอบรู้ในพระพุทธพจน์ จะช่วยสอนธรรมแก่พวกเราในวังได้หรือไม่?
ฉัตตปาณิอุบาสก จึงกราบทูลปฏิเสธ และถวายเหตุผลว่า สถานที่ไปของคฤหัสถ์ก็มีโทษมาก ขอพระองค์ได้โปรดนิมนต์บรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งมาสอนธรรมเถิด
พระราชาเสด็จขึ้นแล้วไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า พระนางมัลลิกาเทวีและพระนางวาสภขัตติยา มีพระประสงค์จะเรียนธรรม ขอให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสด็จไปสู่ราชนิเวศน์ เพื่อเสวยเป็นเนืองนิตย์และแสดงธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง
พระศาสดาตรัสว่า การที่พระพุทธเจ้าจะไปเสวยในที่แห่งเดียวเป็นประจำนั้นไม่ควร พระเจ้าปเสนทิ จึงว่า ถ้ากระนั้นขอให้มอบให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พระศาสดาทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์
วันหนึ่งพระศาสดาตรัสถามถึงผลการเรียนธรรม ของพระนางทั้งสองกับพระอานนท์ พระเถระทูลว่า พระนางมัลลิกาเทวีนั้นทรงตั้งพระทัยศึกษาโดยเคารพ ท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยา พระญาติของพระองค์ ไม่เรียนโดยเคารพ (คือไม่ตั้งพระทัยเรียน) ไม่ท่องพระพุทธพจน์โดยเคารพ
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระอานนท์แล้ว จึงตรัสว่า
"อานนท์! ธรรมที่เรากล่าวดีแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ตั้งใจเรียน ฟัง ท่อง และแสดง เหมือนดอกไม้สีสวย แต่ไม่มีกลิ่น แต่ธรรมของเราจะมีผลดียิ่งแก่ผู้เรียนผู้ฟังโดยเคารพ"ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธภาษิตว่า
"ยถาปิ รุจินํ ปุปฺผํ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้่วแต่ต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น