xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 017/ จุดอ่อนของนักปฏิบัติธรรม 10 ประการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การลงพรหมทัณฑ์ เช่น
เลิกอบรมสั่งสอน
คือมาตรการสุดท้าย
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้กับศิษย์
ผู้ไม่อดทนต่อคำสั่งสอน
ของครูบาอาจารย์

1. การไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดี
2. การติดใจในกามคุณอารมณ์
3. การชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ
4. ความเกียจคร้านและการผลัดวันประกันพรุ่ง
(ดังได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน)
จุดอ่อนประการที่ 5 ได้แก่ ความไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ นับตั้งแต่การไม่ทำในสิ่งที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ทำ ไม่เว้นในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้เว้น หรือถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ เช่นสั่งให้ทำสมถะก็จะทำวิปัสสนา สั่งให้ทำวิปัสสนาก็จะทำสมถะ สั่งให้ตามรู้กายก็จะตามรู้จิต สั่งให้ตามรู้จิตก็จะตามรู้กาย หรือดื้อรั้น ตีโพยตีพาย หรือโกรธเคืองครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์ท้อใจและทอดธุระที่จะอบรมสั่งสอน นับว่าเสียประโยชน์ของตนโดยแท้ แต่ทั้งนี้จุดอ่อนในข้อนี้หมายถึงการไม่อดทนต่อคำสั่งสอนของครูบา อาจารย์ที่สอนถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น หากครูบาอาจารย์สอนไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ควรพิจารณาตนเองว่าเหตุใดจึงได้ครูบาอาจารย์เช่นนั้น แล้วอย่าทำผิดเช่นนั้นอีก
อุบายแก้ดื้อนั้นพวกเราควรคิดพิจารณาเอาเอง เพราะหากแก้ไขตนเองไม่ได้ และครูบาอาจารย์แก้ให้ไม่ไหว ครูบาอาจารย์ก็จำเป็นต้อง ใช้มาตรการสุดท้าย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสั่งท่านพระอานนท์ให้นำไปใช้กับท่านพระฉันนะจอมดื้อ คือการลงพรหมทัณฑ์ ได้แก่ การเลิกอบรมสั่งสอน
จุดอ่อนประการที่ 6 ได้แก่ การละเลยศีลสิกขา เรื่องนี้เพื่อนนักปฏิบัติบางท่านไม่เห็นความจำเป็นของการรักษาศีล มุ่งแต่จะทำสมาธิหรือเจริญปัญญา ซึ่งนับว่าเป็นการข้ามขั้นตอนของการปฏิบัติ คล้ายกับการสร้างอาคารบนพื้นที่ไม่แข็งแรงและไร้การวางฐานรากที่ดี สมาธิที่ไร้ศีลนั้นเสื่อมง่าย ส่วนปัญญาที่ไร้ศีลก็มักจะเป็นปัญญาจอมปลอมที่เป็นเครื่องมือของกิเลสมากกว่าจะเป็นเครื่องชำระกิเลส ดังนั้นถ้าเราต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพานกันจริงๆ ก็ไม่ควรละเลย การรักษาศีล อย่างต่ำก็ต้องมีศีล 5 ประจำใจไว้ทุกวันๆ จึงจะนับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เหมาะแก่การจะสร้างคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จุดอ่อนประการที่ 7ได้แก่ การละเลยจิตสิกขา คือไม่ใส่ใจจะศึกษาเรื่องการเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา จำแนกได้ 2 ลักษณะคือ กลุ่มแรกสนใจการทำสมาธิแต่หลงไปทำมิจฉาสมาธิ ประเภทมุ่งทำจิตให้สงบแบบลืมเนื้อลืมตัวบ้าง มุ่งจะเอาฤทธิ์เดชหรืออภิญญาบ้าง หรือมุ่งจะเที่ยวรู้เที่ยวเห็นสิ่งที่เหนือธรรมดาต่างๆ บ้าง อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนใจการเตรียมความพร้อมของจิตเลย คือไม่สนใจเรื่องสัมมาสมาธิ จู่ๆ ก็เอาจิตที่ไม่มีคุณภาพไปกำหนดรู้กาย กำหนดรู้ใจ ลักษณะเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติที่อ่านมาก รู้มาก หรือคิดมาก จึงเห็นความสำคัญเฉพาะศีลสิกขาและ/หรือปัญญาสิกขาเท่านั้น แท้จริงก่อนการปฏิบัติธรรมในขั้นการเจริญสติเจริญปัญญา จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของจิตหรือมีจิตสิกขาเสียก่อน จนกระทั่งจิตมีสัมมาสมาธิคือตั้งมั่น อ่อน ควรแก่การงาน ปราศจากกิเลสและอุปกิเลสนั่นแหละ จึงควรใชจิตชนิดนี้ไปเจริญสติเจริญปัญญา มิฉะนั้นแล้วจิตจะฟุ้งซ่านจับอารมณ์ปรมัตถ์ได้ไม่ชัดเจนบ้าง ไปหลงเพ่งอารมณ์ บัญญัติบ้าง ไปคิดถึงอารมณ์ปรมัตถ์บ้าง ถูกกิเลสครอบงำจนลืมการปฏิบัติบ้าง และที่สำคัญก็คือ ถ้าขาดสัมมาสมาธิจะรู้ทุกข์ได้ไม่ชัดเจนถึงอกถึงใจ จึงไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือรูปนามได้
จิตสิกขาไม่ได้หมายความถึงการนั่งสมาธิหรือการทำฌานอย่างเดียว มีมากทีเดียวที่พวกเราทำสมาธิกันแล้วจิตไม่ตั้งมั่น แต่กลับถูกโมหะบ้าง ถูกราคะบ้างเข้าแทรก เรื่องจิตสิกขาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวหรือรู้เนื้อรู้ตัว แล้วรู้กายรู้ใจได้ ดังจะได้กล่าวต่อไปในหนังสือเล่มนี้

(อ่านต่อ/วันจันทร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น