ทุกครั้งที่มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัย จะเกิดจากเหตุประการใดประการหนึ่งซึ่งส่อเค้าว่าถ้าปล่อยไว้ไม่มีการแก้ไข และป้องกันจะทำให้ศาสนาเสื่อม เช่น ในการทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ปรารภเหตุที่สุภัททะภิกษุผู้บวชตอนแก่ได้กล่าวจาบจ้วงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีใครมาห้ามมิให้ทำสิ่งโน้น ไม่ให้ทำสิ่งนี้ พวกท่านจะร้องไห้เศร้าไปทำไม เป็นต้น รวมไปถึงการทำสังคายนาในเวลาต่อมาอีกหลายครั้งก็มีเหตุให้อ้างถึงความจำเป็นต้องทำ
ดังนั้น กรณีของสีกากอล์ฟที่มีพฤติกรรมส่ำส่อนทางเพศกับพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลายรูป โดยหวังจะได้เงินทองเป็นของแลกเปลี่ยนกับการมีเพศสัมพันธ์ และนอกเหนือจากการประสงค์ต่อเงินทองแล้ว ก็อาจมีความผิดปกติทางจิตที่มีรสนิยมทางกามที่ได้จากการเสพสังวาสกับพระมากกว่ากับคฤหัสถ์ก็เป็นไปได้
ดังนั้น กรณีนี้นับได้ว่าเป็นกรณีที่ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมด้วยเหตุที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน เช่น กรณีของยันตระและภาวนาพุทโธ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลโดยสำนักพุทธและทางฝ่ายสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ควรจะได้หยิบยกกรณีของสีกากอล์ฟขึ้นมาเป็นเหตุอ้างในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และวางแนวป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก โดยการทบทวนการศึกษาและแนวทางปฏิบัติของสงฆ์ให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน โดยยึดพระธรรมวินัยซึ่งมีที่มาในพระไตรปิฎกเป็นหลัก รวมไปถึงการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.สงฆ์ให้เกื้อหนุนการศึกษาและการปฏิบัติธรรมของสงฆ์โดยไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้
1. ในด้านการจัดการศึกษาจะต้องปรับปรุงประมวลการเรียน และประมวลการสอนให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่คือ จัดทำหลักสูตรโดยมีตำราเนื้อหาอ่านง่าย และเข้าใจง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาและสาระดั้งเดิม ไม่มีการบิดเบือนโดยสอดแทรกความคิดเห็นของปัจเจกที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย
ในส่วนที่เกี่ยวกับประมวลการสอนจะต้องมีการปรับปรุงโดยใช้ตำราเรียนควบคู่กับอุปกรณ์การสอน และประสบการณ์ของผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนสนใจและไม่รู้สึกเบื่อ
ส่วนการวัดผลโดยการสอนจะต้องออกข้อสอบให้มีรูปแบบหลากหลายกว่าเดิม ซึ่งออกข้อสอบเพียง 5 ข้อและเขียนคำตอบในรูปแบบอัตนัยเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นแบบผสมให้มีทั้งอัตนัยและปรนัย และให้คิดคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์แทนการให้ 3 ให้แบบเดิม ก็จะช่วยให้การวัดผลใกล้เคียงกับการทดสอบความรู้ของผู้เรียนได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น
2. ในด้านการปฏิบัติธรรมจะดำเนินการโดยมีศูนย์ควบคุมการสอนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติจากสงฆ์ ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีเป็นกรรมการกำหนดระเบียบปฏิบัติให้สำนักปฏิบัติธรรมทุกสำนักขึ้นตรงต่อศูนย์นี้ และจะต้องรายงานผลดำเนินการทุก 6 เดือน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนของผู้เข้ารับการอบรมและฝึกปฏิบัติ รวมไปถึงแนวทางการสอบและหัวข้อธรรมที่นำมาปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สอนนอกลู่นอกทางจากพระธรรมวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงไว้และบัญญัติไว้ และเพื่อป้องกันการอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีอยู่ในตน เพื่อแสวงหาลาภสักการะอันเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดพระวินัยในปาราชิกสิกขาบท และมีโทษร้ายแรงถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุ