ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่เขาสร้างขึ้น เพราะมีความมุ่งหมายและทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างถึงที่สุด เพราะคิดว่าเขาสามารถมัดใจคนทั่วประเทศได้จากการเป็นพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงอันท่วมท้น แม้จะมาจากเหตุผลการซื้อนักการเมืองและซื้อพรรคการเมืองเข้าไปควบรวมด้วยอำนาจเงินก็ตาม
ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2544-2549ก่อนจะถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะอยู่ต่างประเทศ เหตุผลที่คณะรัฐประหาร (คมช.) อ้างการทุจริตคอร์รัปชันในนโยบายและโครงการรัฐการแทรกแซงองค์กรอิสระระบบราชการและการเมือง การสร้างความแตกแยกในสังคมการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพซึ่งก่อนรัฐประหารมีการชุมนุมขับไล่โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของทักษิณ
แต่แม้ทักษิณจะไม่อยู่ในอำนาจและอยู่ในประเทศ อำนาจของทักษิณในพรรคที่เขาสร้างขึ้นในฐานะเจ้าของก็ยังคงอยู่ ทักษิณเชิดสมัคร สุนทรเวช คนนอกตระกูลขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ทักษิณประสบคือ เขาไม่สามารถสั่งการสมัครที่เป็นตัวของตัวเองได้ จนสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เขาดำรงตำแหน่งลูกจ้างของบริษัทเอกชน ในการทำรายการโทรทัศน์รายการชิมไปบ่นไป และยกโขยง 6 โมงเช้า ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ในขณะนั้นระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด
ความผิดหวังจากการเชิดบุคคลภายนอกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีทำให้หลังสมัครพ้นจากตำแหน่งทักษิณจึงหันไปใช้บริการน้องเขย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพื่อสืบทอดราชวงศ์ทางการเมืองของเขา แต่สมชายก็พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนในข้อหาโกงเลือกตั้ง ทำให้สมชายถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีพร้อมกรรมการบริหารพรรค
จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2554 คราวนี้ทักษิณใช้บริการของน้องสาวคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากใช้อำนาจโดยมิชอบจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรีออกจากเลขาธิการ สมช.อย่างไม่เป็นธรรมท่ามกลางการชุมนุมขับไล่ของ กปปส.ที่มีที่มาจากความพยายามนิรโทษกรรมสุดซอย จนกระทั่งถูกยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา
ทักษิณต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ 15 ปี หากนับจากวันที่ 4 สิงหาคม 2551 ที่ทักษิณอ้างต่อศาลว่าจะไปชมโอลิมปิกที่ประเทศจีน แล้วใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในต่างประเทศ โดยมีที่พำนักหลักที่ดูไบก่อนจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566พร้อมกับได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือ 1 ปี แต่ทักษิณไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว
เหตุผลที่ทักษิณทำได้เช่นนั้นก็เพราะพรรคเพื่อไทยของเขากุมอำนาจในฝ่ายบริหาร ซึ่งทักษิณใช้บริการคนนอกตระกูลอย่างเศรษฐา ทวีสิน แต่แม้จะเป็นคนนอกตระกูล ก็รู้กันว่าเศรษฐานั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับยิ่งลักษณ์ที่หลบหนีออกไปอยู่นอกประเทศเช่นกันจากคดีจำนำข้าวที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี และยังหลบหนีจนถึงวันนี้ แม้จะรู้ที่อยู่ของเธอเป็นหลักแหล่งกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ติดตามตัวมาลงโทษ และกล่าวกันว่ารัฐบาลประยุทธ์เปิดทางให้เธอหนีออกไปด้วยซ้ำ
แต่เศรษฐาก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อทักษิณผลักดันให้นายพิชิต ชื่นบาน ที่เคยถูกจำคุกในคดีถุงขนมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเศรษฐาละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การพ้นจากตำแหน่งของเศรษฐา ทำให้ทักษิณสบโอกาสในการผลักดันลูกสาวของตัวเองขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม สติปัญญา และความรู้ความสามารถของคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่เราเห็นก็คือ เธอไม่อาจบริหารประเทศได้ด้วยตัวเอง นอกจากการพึ่งพาไอแพดและคนรอบข้างที่ทักษิณส่งเข้าไปแวดล้อม แม้ว่าการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของเธอจะมาจากหนทางที่ชอบธรรมก็ตาม
แต่ถ้าเธอไม่ใช่ลูกสาวของทักษิณแล้ว ไม่มีทางที่หญิงสาวสักคนหนึ่งซึ่งไม่มีประวัติผลงานจากการประสบความสำเร็จในชีวิตอะไรมาก่อน จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้เลย เพราะเธอก็เป็นเพียงแม่บ้านคนหนึ่งที่มีสามีและมีลูกสองคนใช้ชีวิตหรูหราและห่อห่มร่างกายด้วยแบรนด์เนมเลิศหรู แม้จะมีหุ้นจำนวนมากจากธุรกิจในครอบครัวก็ตาม เธอก็ไม่มีประวัติแม้แต่บริหารธุรกิจของครอบครัวมาก่อน
แม้ว่าจะต้องบริหารประเทศด้วยไอแพดและห้อมล้อมด้วยคนที่พ่อส่งมาดูแลและแวดล้อมด้วยรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่เธอก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูงส่ง พร้อมตอบโต้คนที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกับเกรียนคีย์บอร์ดคนหนึ่ง ซึ่งหลายครั้งสะท้อนถึงปัญหาเรื่องวุฒิภาวะ
แต่สุดท้ายความไม่พร้อมในการเป็นนายกรัฐมนตรี การไม่รู้ว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะต้องวางตำแหน่งแห่งหน และประพฤติตนอย่างไรก็สะท้อนผ่านคลิปที่ฮุนเซนปล่อยออกมาให้คนใกล้ชิดหลายคนจนรั่วออกมาถึงประเทศไทยในที่สุด
เนื้อหาในการสนทนานั่นต่างหากที่ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถอดทนกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของเธอได้ จนออกมาร่วมชุมนุมขับไล่จำนวนมาก เพราะเธอกล่าวหาแม่ทัพของประเทศที่กำลังป้องกันการรุกล้ำดินแดนจากประเทศที่เป็นคู่สนทนาของเธอว่า แม่ทัพคนนี้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเรา และเธอก็ยอมรับว่า การแสดงออกของเธอที่เหมือนอ่อนข้อต่ออริราชศัตรูนั้น คนไทยจะไล่เธอไปเป็นนายกฯ ของเขมรจากปากตัวเอง และบอกด้วยว่า ถ้าฮุนเซนที่เธอเรียกว่าอังเคิลต้องการอะไรพร้อมจะจัดให้
ถ้าคลิปนี้ไม่ถูกเผยแพร่ออกมาและการดำเนินการของเธอเป็นไปตามข้อตกลงกับฮุนเซนไม่รู้เหมือนกันว่า ถึงตอนนั้นประเทศจะเสียอะไร แต่เมื่อคลิปรั่วออกมาแล้วเธอพูดขออภัยคนไทย ก็ยังกล้าบอกว่า ประเทศไทยยังไม่ได้เสียอะไร ทั้งที่เสียท่าและศักดิ์ศรี แต่เพราะกองทัพยืนอยู่ในจุดที่ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างเต็มที่นั่นเอง จึงยังไม่สูญเสียอะไร
แพทองธารจึงเป็นนายกรัฐมนตรีของตระกูลชินวัตรอีกคนที่กำลังจะเดินตามรอยคนในตระกูล การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องจากเหตุการณ์คลิปเสียงดังกล่าวไว้พิจารณาที่สมาชิกวุฒิสภายื่นคำร้องให้ถอดถอนจากตำแหน่งด้วยมติ 9-0 อย่างเป็นเอกฉันท์นั้น พร้อมกับให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยมติ 7-2 นั้นถือว่า คำร้องมีน้ำหนักมาก และบ่งชี้ให้เห็นว่า เธอน่าจะรอดยาก แถมจริงแล้วมติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นก็คือ 9-0 นั่นแหละ เพียงแต่ 2 เสียงเห็นว่า ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะด้านความมั่นคงต่างประเทศ และการคลังเท่านั้น
ชะตากรรมของเธอไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาตามที่คาดจะผูกพันกับทุกองค์กร เธอยังถูกแจ้งความในคดีอาญาและถูกยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการถูกดำเนินคดีซึ่งก็คงไม่ต่างกับพ่อและอาที่ต้องติดคุกหรือไม่ก็หลบหนีคดีไปต่างประเทศ ซึ่งต้องรอดูว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan