xs
xsm
sm
md
lg

2 คนในส่อสะดุดชิง “MD EXIM BANK” ส่ง “ดร.กานต์” อดีตมือการเงิน AWC มีลุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เบญจรงค์ - ชลัช - กานต์
ปิดรับสมัครมา 2 เดือนกว่ายังไม่ได้ตัว “กก.ผจก. EXIM BANK” เหตุรอแต่งตั้ง “ปธ.บอร์ด-กก.สรรหา” แทนคนลาออก เผยมี 3 แคนดิเดตชิงเก้าอี้ เป็นคนใน 2 คน คนนอก 1 คน เปรียบมวย “ดร.เบญจรงค์” รอง MD เต็งตามหน้าเสื่อ แต่ส่อสะดุดปม “ทายาท ดร.สามสี” ที่ต้องจับตา “เพื่อไทย” ไฟเขียวหรือไม่ ขณะที่ “ชลัช” ผู้ช่วย MD ถูกตั้งแง่ย้ายสายงานทุกปี แถมอาจตกคุณสมบัติ ส่งคนนอก “ดร.กานต์” อดีตมือการเงิน AWC มีลุ้น พกโปรไฟล์หรู-เข้าใจเอกชน เหมาะลุยภารกิจติดเครื่อง SMEs ช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

รายงานข่าวแจ้งถึงความคืบหน้ากระบวนการสรรหา กรรมการผู้จัดการ (MD) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK คนใหม่ แทน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ที่พ้นตำแหน่งหลังครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 และได้ไปดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 โดยคณะกรรมการสรรหา MD EXIM BANK ได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง MD EXIM BANK ตั้งแต่วันที่ 7-21 มีนาคม 2568 ซึ่งมีผู้สนใจสมัครรวม 3 ราย ซึ่งได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ และรับการสัมภาษณ์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 โดย 2 รายเป็นผู้บริหารปัจจุบันของ EXIM BANK ส่วนอีก 1 รายมาจากผู้บริหารเอกชนยักษ์ใหญ่ ประกอบด้วย

1.ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และการวิจัยเศรษฐกิจ เคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME byTMB และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ก่อนเข้าร่วมงานกับ EXIM BANK ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่ปี 2565

2.นายชลัช รัตนบุญนิธิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK สำเร็จการศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ซานเบอร์นาร์ดิโน ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้จัดการธุรกิจภาครัฐ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ก่อนมาร่วมงานกับ EXIM BANK เมื่อปี 2565 ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
และ 3.ดร.กานต์ ปฏิเวธวรรณกิจ อดีตหัวหน้าคณะสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) ของ Asset World Corp Public Company Limited (AWC) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น) มีประสบการณ์ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มทำงานในห้องค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมทำงานวิจัยในสถาบันวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนย้ายไปทำงานด้านสินเชื่อโครงการ สินเชื่อต่างๆ และการบริหารหนี้ กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
จากนั้นได้รับเลือกจาก Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ หรือ BTMU (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา) ให้ไปจัดตั้งธนาคาร BTMU ที่ประเทศเมียนมา พร้อมทั้งจัดตั้งระบบการบริหารงานด้านสินเชื่อรวมถึงการโอนเงินในประเทศเมียนมา จากนั้นเริ่มหันไปสายงานอสังหาริมทรัพย์และประกันวินาศภัย
กระทั่งล่าสุดดำรงตำแหน่ง CFO ของ AWC กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ TCC Group โดยมีบทบาทในการนำ AWC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการทำสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ในเครือ World Bank รายแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีบทบาทในการฝ่าวิกฤตโควิด จนได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล Asia's Greatest CFO Award ในปี 2023 ซึ่งจัดโดย ASIA ONE นิตยสารธุรกิจชั้นนำของอินเดีย

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า เดิมทีได้วางกรอบเวลาให้ MD EXIM BANK คนใหม่เข้าเริ่มปฏิบัติงานได้ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2568 แต่เนื่องจากประธานกรรมการ (บอร์ด) EXIM BANK ได้ลาออกก่อนครบวาระ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง น.ส.ศุกร์ศิริ อภิญญานุวัฒน์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานบอร์ด EXIM BANK คนใหม่ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 อย่างไรก็ดียังคงเหลือบอร์ดที่รอการแต่งตั้งอีก 2 ตำแหน่ง รวมถึงในช่วงเดียวกันมีกรรมการสรรหาฯ ลาออก 1 ราย ก่อนจะมีการแต่งตั้งแทนให้ครบ 5 ราย เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 กระบวนการจึงล่าช้ากว่าที่กำหนด

ในขั้นตอนต่อไปนั้น รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการสรรหาฯ จะสรุปเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่ง MD EXIM BANK โดยอาจจะเลือกเพียงรายชื่อเดียว หรือจะเรียงลำดับตามคะแนน 1-3 เพื่อให้ที่ประชุมบอร์ดธนาคารพิจารณาเห็นชอบ ก่อนส่งรายชื่อให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นชอบอีกขั้นตอน และส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอ ครม. เพื่อลงมติอนุมัติแต่งตั้งในขั้นสุดท้าย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวโน้มการพิจารณาสรรหา MD EXIM BANK ว่า หากพิจารณาในแง่ประสบการณ์ และความผูกพันกับองค์กร ต้องยอมรับว่า ดร.เบญจรงค์ ที่เป็นรองกรรมการผู้จัดการอยู่ในปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นตัวเต็ง มีโอกาสมากที่สุดใน 3 แคนดิเดต อย่างไรก็ดี อาจมีการนำปัจจัยทางการเมืองมาประกอบการพิจารณา เนื่องจาก ดร.เบญจรงค์ หรือ “ดร.นะโม” เป็นบุตรชายของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตนักการเมืองชื่อดัง ซึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน ก่อนที่ล่าสุดจะมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันก็ตาม ซึ่งต้องจับตาดูว่า พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล และกำกับดูแลกระทรวงการคลัง จะติดใจหรือไม่

ส่วน นายชลัช ที่เป็นคนในองค์กรอีกคน ถูกตั้งข้อสังเกตกรณีย้ายสายงานดูแลทุกปี ตลอด 3 ปีที่ทำงานที่ EXIM BANK จึงอาจทำให้ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งไม่ชัดเจนมากนัก และอาจติดในเรื่องคุณสมบัติ โดยในประกาศรับสมัครได้ระบุคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่า ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กร และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหรือเทียบเท่า N-1 ขององค์กรอย่างน้อย 1 ปีนับถึงวันที่ยื่นใบสมัคร ซึ่งนายชลัช ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ถือเป็นผู้บริหารลำดับ 3 หรือ N-2 ขององค์กรเท่านั้น

ขณะที่ ดร.กานต์ ที่เป็นคนนอกคนเดียว อีกทั้งยังมาจากภาคเอกชน ตามประสบการณ์การศึกษา และการทำงานถือว่ามีความรู้ในสายงานการเงินการธนาคาร มิติลึก และกว้าง ผ่านการไต่เต้าตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ การเงิน การธนาคาร การให้สินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ขึ้นมาถึงระดับบริหารของเครือบริษัทชั้นนำด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับต่างชาติ และได้รับรางวัลระดับนานาชาติในฐานะผู้บริหารด้านการเงินและบัญชี แสดงให้เห็นถึงการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่คณะกรรมการสรรหาฯ และบอร์ดธนาคาร อาจเล็งเห็นถึงการเสริมมุมมอง หรือมิติการทำงานของ EXIM BANK ในแง่ความเข้าใจผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นเป้าหมายหลักของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการในแต่ละระดับมาร่วมขับเคลื่อนเครื่องยนต์ส่งออกของประเทศให้กลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ.


กำลังโหลดความคิดเห็น