โดย วิชญ์ พงศ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย
ในยุคที่สังคมเปิดกว้างและการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะกลายเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบอำนาจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องทางแพ่งในลักษณะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือองค์กรที่มีบทบาททางสังคม หนึ่งในนั้นคือ “กฎหมาย SLAPP” หรือ “Strategic Lawsuit Against Public Participation
คำว่า” SLAPP” หมายถึงการฟ้องร้องทางกฎหมายที่มีเจตนาเชิงกลยุทธ์ (Strategic) เพื่อปิดปากหรือข่มขู่บุคคลหรือกลุ่มที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ เช่น การประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการเปิดโปงการกระทำที่ผิดกฎหมายขององค์กรหรือบริษัทเอกชน โดยไม่เน้นผลการชนะคดี แต่ต้องการให้คู่กรณีเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และถูกกดดันให้ยุติการเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นนั้น หรือสรุปสั้นๆว่า "คดีฟ้องร้องที่ตั้งขึ้นเพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ"
แต่จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะที่รับรองหรือคุ้มครองในลักษณะของกฎหมาย SLAPP โดยตรง ทั้งนี้ การดำเนินคดีที่อาจมีลักษณะ SLAPP ยังอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท หรือการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังขาดกรอบกฎหมายหรือมาตรการที่ชัดเจนสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหา SLAPP อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีการเสนอและถกเถียงในวงวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดกฎหมายหรือมาตรการรองรับที่ช่วยปกป้องประชาชนจากการถูกฟ้องร้องแบบ SLAPP และเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิของบุคคลหรือองค์กร
การวินิจฉัยว่าคดีใดเข้าข่าย SLAPP จำเป็นต้องพิจารณาหลายมิติร่วมกัน เริ่มจาก เจตนาการฟ้องร้อง คดี SLAPP มักเกิดจากการฟ้องร้องที่มีเจตนาข่มขู่หรือกลั่นแกล้ง ไม่ได้หวังผลชนะคดี แต่หวังผลให้คู่กรณีท้อถอย หรือหยุดแสดงความคิดเห็น โดยมักเป็นกรณีที่ฝ่ายฟ้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เช่น บริษัทเอกชนข้ามชาติ หรือหน่วยงานรัฐ ขณะที่ฝ่ายถูกฟ้องเป็นบุคคลธรรมดา กลุ่มสิทธิ หรือองค์กรภาคประชาสังคม คดีมักเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ซึ่งคดี SLAPP มักมีลักษณะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนมากเกินสมควร หรือมีการใช้กระบวนการทางกฎหมายซับซ้อน เพื่อสร้างภาระหนักแก่คู่กรณี และคดีเหล่านี้ส่งผลให้คู่กรณีหรือกลุ่มประชาชนเกิดความกลัว และลดทอนความกล้าแสดงออกหรือมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการฟ้องร้องบางกรณีจะดูเหมือนมีลักษณะข่มขู่หรือเป็นแรงกดดันต่อฝ่ายที่ถูกฟ้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีจะเข้าข่าย SLAPP เสมอไป การวินิจฉัยคดีว่าเป็น SLAPP หรือไม่นั้นต้องพิจารณาบริบทและเจตนาในการฟ้องร้อง รวมถึงข้อเท็จจริงและหลักฐานประกอบอย่างละเอียด เริ่มจาก
1. การเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน หากฝ่ายถูกฟ้องเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง โดยมีเจตนาหรือผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือผลประโยชน์ของฝ่ายฟ้อง การฟ้องร้องในลักษณะนี้เป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ไม่ถือเป็น SLAPP ยกตัวอย่าง NGO หรือบุคคลกล่าวหาบริษัทว่ากระทำผิดกฎหมายหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น ภาพ คลิปเสียง หรือ วิดีโอที่เป็นเท็จ แล้วทำให้ชื่อเสียงบริษัทเสียหาย ในกรณีนี้ บริษัทสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องเพื่อปกป้องชื่อเสียง และถือเป็นการฟ้องโดยสุจริต
2. ฟ้องร้องด้วยเจตนาที่ชอบธรรม ถ้าการฟ้องร้องเกิดจากการที่ฝ่ายถูกฟ้องได้กระทำผิดจริง เช่น หมิ่นประมาท ทำสัญญาผิดพลาด ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ใช้หลักฐานที่เป็นเท็จ หรือก่อความเสียหายอื่นๆ การฟ้องร้อง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมนั้นก็ไม่ใช่ SLAPP โดยฝ่ายฟ้องต้องมีหลักฐานเพียงพอและเจตนาไม่ใช่เพียงเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนเองไม่ให้ถูกละเมิด
3. ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร คดีที่เข้าข่าย SLAPP มักมีลักษณะเรียกร้องค่าเสียหายที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างภาระให้คู่กรณี การฟ้องที่เรียกร้องค่าชดเชยหรือความเสียหายที่เหมาะสมและสมเหตุสมผล จะถูกมองว่าเป็นการฟ้องร้องที่ชอบธรรม
ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวหาว่าฝ่ายหนึ่งโดน SLAPP โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้ 1. ลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้กล่าวหา การใช้คำว่า SLAPP โดยปราศจากหลักฐาน หรือใช้หลักฐานเท็จ อาจทำให้ผู้ฟ้องร้องหรือองค์กรถูกมองว่า ใช้คำกล่าวหาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือทางสังคม เพื่อสร้างแรงกดดันฝ่ายตรงข้าม 2. กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม คำกล่าวหา SLAPP ที่ไม่มีมูล อาจทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับผู้ตัดสินคดี 3. ผลกระทบต่อเสรีภาพในการใช้สิทธิทางกฎหมาย ถ้าการฟ้องร้องเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้อง แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็น SLAPP อาจทำให้ฝ่ายฟ้องรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าใช้สิทธิปกป้องตัวเอง 4. สร้างความขัดแย้งและแบ่งฝ่ายในสังคม คำกล่าวหาที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้เกิดการแตกแยกในสังคมระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน
กฎหมาย SLAPP เป็นกรอบความคิดและเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ในขณะเดียวกัน การระบุว่าคดีใดเป็น SLAPP หรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งเจตนา การใช้สิทธิ การพิสูจน์ข้อเท็จจริง และบริบทของคดี การกล่าวหาว่าฝ่ายหนึ่งถูกฟ้องร้องแบบ SLAPP ต้องมีข้อมูลและหลักฐานที่ครบถ้วน มิฉะนั้นจะส่งผลเสียทั้งต่อความน่าเชื่อถือของผู้กล่าวหาและต่อระบบยุติธรรมโดยรวม รวมทั้งอาจบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องอย่างชอบธรรม
เสรีภาพในการแสดงความเห็นถือเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีช่วยส่งเสริมความโปร่งใส ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเอกชน และยกระดับประโยชน์ส่วนรวม แต่เสรีภาพนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและจริงใจ มิใช่การบิดเบือน หรือใช้ข้อมูลเท็จเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น เพราะหากปล่อยให้เกิดการใช้ข้อมูลเท็จอย่างเสรี จะทำลายความน่าเชื่อถือของการแสดงความเห็น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อบุคคล องค์กร และสังคมโดยรวม ดังนั้น การถกเถียงและการฟ้องร้องในประเด็นต่างๆ จึงควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงความเห็นและความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่เผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง