หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ในคดีทักษิณชั้น 14 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้โจทก์ จำเลย ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย.2568 เวลา 09.30 น.
บทพิสูจน์สำคัญที่เป็นข้อต่อสู้ของกรมราชทัณฑ์ก็คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ห้อง Royal Suite ชั้น 14 เป็น “สถานที่คุมขัง” ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 นิยามของ “สถานที่คุมขัง” ระบุไว้ว่า:“สถานที่คุมขัง” หมายความว่า เรือนจำ ทัณฑสถาน หรือสถานที่อื่นใดที่จัดไว้สำหรับควบคุมขังผู้ต้องขังตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
ทั้งนี้ สถานที่อื่นใด ครอบคลุมสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำหรือทัณฑสถาน แต่ถูกจัดให้ใช้ควบคุมผู้ต้องขังตามกฎหมาย เช่น โรงพยาบาลที่มีการควบคุมโดยเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ หรือสถานที่ชั่วคราวที่ได้รับอนุญาต สถานที่นั้นต้องมีลักษณะของการจำกัดอิสรภาพ และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการคุมขัง
นี่น่าจะเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งที่ศาลน่าจะใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ทักษิณได้รับการบังคับโทษตามกฎหมายแล้วหรือยัง ในกรณีของทักษิณการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ (ห้อง 1404 ชั้น 14) อาจถือเป็น “สถานที่คุมขัง” หากมีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 24 ชั่วโมง และจำกัดอิสรภาพอย่างเข้มงวด ตามที่กรมราชทัณฑ์อ้าง และทักษิณถูกจำกัดเสรีภาพในฐานะนักโทษซึ่งต้องพิสูจน์กันว่าจริงหรือไม่
แต่มีพยานอย่างน้อย 2 คน บอกว่า เคยขึ้นไปเยี่ยมทักษิณที่ชั้น 14 โดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คือ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวช และพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ซึ่งหากการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็น “สถานที่คุมขัง” ตาม มาตรา 4 การเยี่ยมนายทักษิณต้องปฏิบัติตามระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขังอย่างเคร่งครัดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมและติดต่อผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ระบุว่า การเยี่ยมผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้มีอำนาจ, ผู้เยี่ยมต้องอยู่ในรายชื่อที่ผู้ต้องขังกำหนด (จำกัดไม่เกิน 10 คน) และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ , การเยี่ยมต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ และห้ามนำสิ่งของต้องห้ามหรือกระทำการที่ขัดต่อระเบียบ
พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ กล่าวว่า ตอนเข้าไปเยี่ยมไม่เห็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สักคน มีเพียงเด็กรับใช้อยู่ในห้อง เมื่อถึงเวลาก็นำข้าวเหนียวมะม่วง กาแฟมาเสิร์ฟ ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปลอกคอใด ๆ ก็ไม่มี ทักษิณเพียงใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา กางเกงขาสั้นเดินอยู่ในตึก ไม่มีชุดผู้ป่วย
ส่วนพล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ หักพาล ยืนยันด้วยตัวเองว่าเขาได้เข้าเยี่ยมนายทักษิณที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจจริง และระบุว่าเตรียมให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ระบุว่า ไม่เคยอนุญาตให้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เข้าเยี่ยมทักษิณ และยืนยันว่ารายชื่อผู้เยี่ยมถูกจำกัดไว้ที่ 10 คน ตาม ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมและติดต่อผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์นี้ไม่ได้กล่าวถึง พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ โดยตรง แต่บ่งชี้ว่าการเยี่ยมต้องได้รับอนุญาตและเป็นไปตามระเบียบ
ทั้งนี้ การที่พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ บอกว่า เข้าเยี่ยมได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมราชทัณฑ์ สามารถใช้เป็นเหตุผลเพื่อโต้แย้งว่า การควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจไม่เข้มงวด และอาจไม่ถือเป็น “สถานที่คุมขัง” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความว่าระยะเวลาควบคุมตัว (22 สิงหาคม 2566 - 18 กุมภาพันธ์ 2567) ไม่นับเป็นการรับโทษ
ส่วนคำยืนยันที่สำคัญคือ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เข้าตรวจสอบห้อง 1404 ชั้น 14 ซึ่งทักษิณเคยพักรักษา และระบุว่าเป็น ห้อง Royal Suite ที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยวิกฤต นั่นหมายความว่า เมื่อถูกนำตัวมาพบแพทย์นอกเรือนจำแล้วก็ต้องนำตัวทักษิณกลับเข้าเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจระบุว่า อาการป่วยของทักษิณต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต และต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง จึงอนุญาตให้รักษาต่อเกิน 120 วัน จนครบ 180 วัน (23 สิงหาคม 2566 – 18 กุมภาพันธ์ 2567)
แต่หลังออกจากโรงพยาบาลหลังได้รับการพักโทษ ทักษิณปรากฏตัวในกิจกรรมต่าง ๆ คือเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 เพื่อรับประทานอาหารกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายเศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปมาเลเซียในฐานะที่ปรึกษานายอันวาร์ อิบราฮิม ประธานอาเซียน แต่ถูกศาลปฏิเสธคำร้องให้เดินทางไปอินโดนีเซียเพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนในเดือนมีนาคม 2568 และปฏิเสธคำร้องให้เดินทางไปดูไบเพื่อรักษาในเดือนสิงหาคม 2567
นอกจากนั้นทักษิณยังไปเล่นกอล์ฟกับเจ้าสัวพลังงานหลังได้รับการปล่อยตัวปรากฎเป็นข่าวโดยทั่วไป ซึ่งขัดแย้งกับการอ้างว่ามีอาการป่วยหนัก นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นให้พรรคเพื่อไทยในหลายจังหวัด และอ้างตัวว่ามีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาการค้าอย่างไม่เป็นทางการกับสหรัฐอเมริกา
พฤติกรรมของทักษิณหลังออกจากโรงพยาบาลนั้นสอดรับกับความเห็นของแพทยสภาที่ตรวจสอบจากระเบียนของคนไข้แล้วพบว่า ไม่ใช่คนป่วยวิกฤต ไม่มีเหตุผลเลยที่จะให้ทักษิณนอนอยู่ในห้อง Royal Suite ชั้น 14 ตลอด 180 วัน
ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ศาลต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ทักษิณได้รับการบังคับโทษตามคำพิพากษาหรือยัง และการนอนในห้อง Royal Suite นั้นถือเป็น “สถานที่คุมขัง”หรือไม่ ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่ เพราะไม่เช่นนั้น พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ไม่สามารถขึ้นไปเยี่ยมได้โดยที่กรมราชทัณฑ์ไม่รับรู้ หรืออาจจะรู้แต่ต้องปฏิเสธ เพราะการปล่อยให้มีเหตุการณ์นั้นถือว่า เป็นการกระทำความผิด
ส่วนที่ทักษิณถูกจัดอยู่ในห้อง Royal Suite ชั้น 14 กรมราชทัณฑ์แถลงว่าห้องพักที่ทักษิณใช้ (ห้อง 1404 ชั้น 14) ถูกจัดโดยโรงพยาบาลตำรวจตามความเหมาะสมทางการแพทย์ เพราะเตียงสามัญหรือห้อง ICU ไม่ว่าง ในช่วงเวลานั้น ทำให้ต้องใช้ห้องดังกล่าว โดยแถลงการณ์นี้เผยแพร่ผ่านช่องทางทางการของกรมราชทัณฑ์ และถูกรายงานโดยสื่อหลายแห่ง คำถามว่า เตียงสามัญของโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่พึงได้ของนักโทษนั้นไม่ว่างเลยตลอด 180 วันเลยหรือ แล้วใครเป็นคนจ่ายค่าห้องกรมราชทัณฑ์หรือทักษิณ
ที่สำคัญการให้นักโทษอยู่ในห้องพิเศษตลอด 180 วันขัดกับระเบียบกรมราชทัณฑ์หรือไม่ ทั้งที่ระเบียบของราชทัณฑ์กำหนดว่า ผู้ต้องขังต้องพักในห้องที่สอดคล้องกับ สิทธิการรักษา ตามที่ราชการกำหนด เช่น ห้องรวมหรือห้องสามัญสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ห้ามใช้ห้องพักพิเศษ เว้นแต่เป็นห้องควบคุมพิเศษที่จำเป็นทางการแพทย์ (เช่น ICU, ห้องแยกโรค)
ดังนั้นหากศาลตีความว่าการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจไม่เข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 55 วรรคหนึ่ง (เช่น อาการป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไม่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง) และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 246 หรือการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลไม่นับเป็น “สถานที่คุมขัง” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 4 ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2567 ไม่นับเป็นการรับโทษ
หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่า การพักโทษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากระยะเวลาการรับโทษไม่ครบตามคำพิพากษา ซึ่งผลจากแพทยสภาที่ระบุว่าทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤตจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้สนับสนุนคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่า อำนาจของศาลฎีกาเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 65 และ ข้อกำหนด ข้อ 61-62 อนุญาตให้สั่งบังคับโทษใหม่ได้
ผลการไต่สวนของศาลฎีกา ในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 ซึ่งจะพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เป็น “สถานที่คุมขัง”ตามนิยามของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์หรือไม่ ซึ่งศาลอาจจะวินิจฉัยเลยในวันนั้นจากหลักฐานที่ให้โจทก์และจำเลยยื่นมา ซึ่งศาลจะพิจารณาว่า เอกสารที่ได้มานั้นเพียงพอต่อการวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าเพียงพอจะวินิจฉัยในวันที่ 13 เลยหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ายังไม่พอต้องไต่สวนบุคคลประกอบก็จะเรียกมาเป็นนัดๆถัดไป ก่อนจะกำหนดวันวินิจฉัย
ใครเชื่อบ้างล่ะว่าทักษิณป่วยจริง มองจากดาวอังคารก็ยังรู้เลยว่าป่วยทิพย์ แม้จะทำการผ่าตัดเล็กๆน้อยๆก็เป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อให้อยู่ในโรงพยาบาลต่อ แต่ไม่ว่าจะผ่าตัดอะไรก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 180 วัน โดยอ้างว่า ทักษิณอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต เมื่อเทียบกับทักษิณหลังออกจากโรงพยาบาลแล้วไปไหนมาไหนได้สบายๆ
ก็ต้องรอการพิจารณาของศาลว่า กรณีของทักษิณควรจะต้องใช้ ป.วิอาญา มาตรา 246 หรือไม่ โดยต้องพิจารณาว่า โรงพยาบาลที่ทักษิณไปนอนอยู่ในห้อง Royal Suite ชั้น 14 แล้วใครต่อใครก็ขึ้นไปเยี่ยมได้ซึ่งอาจจะมีคนอื่นอีกนอกจากพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ และพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ นั้น นั้นเป็น “”สถานที่คุมขัง”หรือไม่ ถ้าไม่ทักษิณก็ต้องกลับไปเข้าคุกแล้วนับโทษกันใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่า กฎหมายของบ้านนี้เมืองนี้ยังบังคับใช้ได้อยู่
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan