xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจึงต้องแก้ไข พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปี ๒๕๖๘ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

รศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สำนักงานพระคลังข้างที่ กลายเป็นหน่วยงานเล็กๆ ในสังกัดสำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง หลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตาม พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ และแม้จะมีการแก้ไข พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และ อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๖๑ แต่สำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวังก็ยังคงอยู่ เป็นสำนักงานเล็ก ๆ มาโดยตลอด โดยมีภาระหน้าที่ที่เหลืออยู่ไม่มากนัก ดังนี้

หนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลการจ่ายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ เงินปีเป็นเงินที่แต่เดิมรัฐบาลจัดถวายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปได้รับพระราชทานไปใช้เป็นการส่วนพระองค์ของเจ้านายแต่ละพระองค์ และรัฐบาลก็ถวายพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ไม่ทรงรับเงินปีจากรัฐบาล พระราชทานคืนกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังทั้งหมด ต่อมาไม่ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลจัดถวายเพื่อให้พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงส่งคืนกรมบัญชีกลางเช่นกัน และทรงใช้เงินส่วนพระองค์พระราชทานเงินปีให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์แทน โปรดอ่านได้จากบทความ เงินปี งบประมาณประจำปี และเงินรายปีวาทกรรมประดิษฐ์บิดเบือนเป็นเท็จใส่ร้ายป้ายสีสถาบันฯ https://mgronline.com/daily/detail/9640000089488

สอง สำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและเก็บผลประโยชน์ เช่น ค่าเช่า ของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

จะเห็นได้ว่า ภาระหน้าที่ของสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวังมีไม่มากนัก เพราะได้ถ่ายโอนไปที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปจนหมดแล้ว นับแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑

เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕ แล้ว สำนักพระราชวัง ก็ย้ายมาสังกัดหน่วยราชการในพระองค์ สำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง ย้ายไปสังกัดกรมบังคับการสำนักพระราชวัง จนกระทั่งในปัจจุบัน

จนกระทั่งหากร่าง พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2568 ซึ่งขณะได้ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และกำลังจำนำไปสู่การลงมติของรัฐสภา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงดังแสดงในแผนภาพด้านล่างนี้ ดังนี้


หนึ่ง มีการโอน สำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง ไปสังกัดสำนักงานพระคลังข้างที่ที่เปลี่ยนชื่อมาจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
สอง เปลี่ยนการเรียกชื่อตำแหน่ง จากคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไปเป็น คณะกรรมการพระคลังข้างที่ และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไปเป็นผู้อำนวยการพระคลังข้างที่


แต่กลับเกิดการโจมตีของมีความคิดเห็นอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากต่างแดน เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ว่านี่คือการกลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง

ประการแรก ตามทฤษฎีองค์การ (Organizational theories) ยังไม่อาจจะเข้าใจได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การ (Organizational structure) กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (Political regime) ไปได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาร (Management system) อะไรไปมากเลย กลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปได้ช่างเป็นตรรกะวิบัติ (Logical fallacy) ของนักวิชาเกินโดยแท้

ประการสอง ทรัพย์สินในพระองค์ กับ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ยังคงแยกออกจากกันอย่างชัดเจน อันเป็นไปตาม พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ เช่นเดิม ทั้งนี้ทรัพย์สินในพระองค์ เป็นทรัพย์สินของราชสกุลมหิดล นับตั้งแต่ก่อนครองสิริราชสมบัติ เดิมมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งอยู่ในวังสระปทุม แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นการจัดโครงสร้างองค์การที่ซับซ้อน เพราะมีคณะกรรมการชุดเดียวกัน ควรนำมารวมหน่วยงานกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการมากขึ้น แต่ยังแยกออกจากทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ อันเป็นทรัพย์สินที่จะตกทอดต่อไปยังพระมหากษัตริย์ในภายภาคหน้าให้สามารถทรงใช้เพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทำนุบำรุงแผ่นดินได้สืบไป

ประการสาม การเปลี่ยนชื่อกลับไปใช้คำโบราณ อันเป็นคำที่เรียกมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บเงินที่ทรงค้าสำเภาได้ไว้ในถุงแดง ข้างพระแท่นที่บรรทม จึงทรงเรียกว่าพระคลังข้างที่ การกลับไปใช้คำโบราณ อันเป็นคำเก่าเฉย ๆ ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (Political regime) ได้แต่ประการใด ไม่ทราบว่าคนพวกนี้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กันมาได้อย่างไร

อันที่จริงร่าง พรบ. ฉบับนี้ก็ได้เขียนเหตุผลในการตรากฎหมายไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า โดยที่พระคลังข้างที่เป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ในการจัดการดูแลพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณกาล ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อทำหน้าที่แทน เพื่อเป็นการสืบทอดประวัติความเป็นมาให้สอดคล้องกับโบราณราชประเพณี จึงสมควรเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ และสมควรรวมกิจการของสำนักพระราชวังเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานพระคลังข้างที่เดิมเข้ามาบริหารจัดการโดยสำนักงานพระคลังข้างที่ตามพระราชบัญญัตินี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประการที่สี่ การรวมกิจการของสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวังเดิม มาสังกัดสำนักงานพระคลังข้างที่ที่เปลี่ยนชื่อจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นั้นเป็นการถูกต้องตามหลักการทางการจัดการการเงิน เพราะสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เดิม มีความชำนาญ (Specialization) ในการจัดการทรัพย์สินมากกว่า มีบุคลากรพร้อมกว่า อันน่าจะตอบโจทย์ในภารกิจที่สองของสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง (เดิม) ได้ดีมีประสิทธิภาพกว่า ในเชิงการบัญชีและการเงิน การจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นการใช้จ่ายเงินส่วนพระองค์ อันน่าจะเกิดจากผลประโยชน์งอกเงยของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่บริหารการเงินและทำบัญชีโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (เดิมอยู่แล้ว) ย่อมทำให้ลดขั้นตอนในการทำงาน ทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องโอนเงินไปมาข้ามหน่วยงานอีกต่อไป ทำให้น่าจะตอบสนองต่อภารกิจในการจ่ายเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะน่าจะลดขั้นตอนในการโอนเงินระหว่างหน่วยงานได้

ประการที่ห้า การเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงค้าสำเภาได้กำไรเป็นเงินตราต่างประเทศ เหรียญทองปีกนกเม็กซิโกเป็นจำนวนมาก แล้วทรงใส่ไว้ในถุงผ้าสีแดง ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม จงทรงเรียกว่าพระคลังข้างที่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เงินถุงแดงนี้ในการกอบกู้ชาติบ้านเมืองเมื่อคราววิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่อันเป็นคำที่ใช้มาแต่โบราณ จึงมีนัยยะที่มีพระราชประสงค์ ถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยอีกประการหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้จึงมิใช่การเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นการสืบทอดประวัติความเป็นมาให้สอดคล้องกับโบราณราชประเพณีแต่ประการเดียว และไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใด ๆ ทั้งสิ้นด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น