xs
xsm
sm
md
lg

เกริ่นนำก่อนเจอ “โต้ง-อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ผมเกิดในปี 2495 ที่บางกระบือ ซอยท่าเขียวไข่กา (ใกล้สภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน) ผมผ่านการทำงานบริษัทโฆษณาหลายแห่ง..แถวสยามสแควร์-สีลม-สุรวงศ์ และยุติงานด้านนี้ที่ถนนสุขุมวิท ซอย 8 ณ บริษัท ซีเจแอลนิรามิต ของคุณไพโรจน์ รัตตกุล ซึ่งร่วมกับครีเอทีฟฝรั่ง 3 คน คือ คูรี่, โจนส์ และ ลินเบิร์ก

บริษัทนี้ทำงานโฆษณาให้ การบินไทย ยุค “GET INTO IT” และทำเรื่องเปลี่ยนโลโก้ใหม่เป็น “เจ้าจำปี” ซึ่งการบินไทยใช้อยู่ในทุกวันนี้ รวมทั้งยังทำโฆษณาให้กับสินค้าโฟร์โมสต์ รถยนต์แลนเซอร์(มิตซูบิชิที่มาขายใหม่ๆในไทย) กับกางเกง “ยีนส์ลีวาย” โดยฝรั่งใช้คุณปาริชาติ บริสุทธิ์ นางแบบดังในยุคนั้น เป็นนางแบบโฆษณา นอกจากนี้ “ซีเจแอล” ยังทำโฆษณาสินค้าให้กับโครงการหลวงอีกด้วย

เสร็จจากงานบริษัทโฆษณาที่ทำในช่วงกลางวัน ผมกับ “แดง” เพื่อนที่บางกระบือและเพื่อนๆ วัยรุ่น ร่วมกันตั้งวงดนตรีสตริงคอมโบ้ พวกเราได้ “พ่อแดง” ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรีลูกทุ่งชื่อวง “ช้างแดง” ช่วยสนับสนุนเครื่องดนตรีให้พวกเราซ้อม และให้ใช้เครื่องดนตรีแสดงตามงานละแวกบางกระบือด้วย

“พ่อแดง” เล่าให้พวกเราฟังว่า เศรษฐา ศิริฉายา แห่ง วงดิอิมพอสซิเบิ้ล เคยร่วมงานกับวงดนตรีของ “พ่อแดง” ซึ่งเรื่องนี้เศรษฐาก็เคยกล่าวถึงเช่นกัน บนเวทีการแข่งร้องเพลงผ่านช่องทรูทีวี

ต่อมา “พ่อแดง” เห็นว่า ผลงานวงดนตรีของพวกเราพอไปได้ จึงนำวงดนตรีพวกเราไปแสดงประจำในโรงแรมเล็กๆ หลังโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ (ปัจจุบันคือห้างเกษรอัมรินทร์)

ยุคนั้นถนนเพชรบุรีตัดใหม่มีบาร์และไนท์คลับเกิดขึ้นราวดอกเห็ด มีการทะเลาะวิวาทตีกันอยู่บ่อยๆ ระหว่าง “ทหารมะกันผิวดำ” กับ“ ทหารมะกันผิวขาว” ซึ่งแยกบาร์ไนท์คลับเที่ยวกัน ห้วงนั้น “ทหารมะกัน” เข้ามาประเทศไทยมาก เพราะ “รัฐบาลอเมริกา ”ได้ส่ง “กองทัพมะกัน” ไปรุกรานทำศึกสงครามกับ “ประชาชนชาวเวียดนาม” ทว่าสุดท้าย “กองทัพมะกันที่ยิ่งใหญ่” กลับต้องพ่ายแพ้ต่อ “ทหารคอมมิวนิสต์เวียดนาม” ตัวกระจ้อยร่อยแต่ใจรักชาติเกินร้อย ใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจร ทหารเวียดกงสู้แบบลืมตายถวายหัว จน“ทหารมะกัน”ต้องเผ่นหนีกระเจิดกระเจิงออกจากอินโดจีน ทั้งที่ “เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว” มีข่าวลือกระฉ่อนตามมาภายหลังว่า อีกไม่นาน “ไทย” กับ “ชาติแถบนี้” ต้องเป็น “โดมิโน” กลายเป็นระบบการเมืองแบบ “คอมมิวนิสต์” เหมือน “เวียดนาม-กัมพูชา-ลาว”!

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมได้เข้าร่วมทำกิจกรรมทางสังคมอย่างเต็มตัว จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 “รัฐบาลเผด็จการ” ได้ปิดล้อมเข่นฆ่านักเรียนนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ผมและเพื่อนๆ ถูกทางการตามจับในข้อหา “กบฏ” จนต้องหลบซ่อนตัวแล้วหนีออกจากกรุงเทพฯ เข้าไปในเขตป่าเขามุ่งสู่ “เขาค้อ”ในคืนวันที่ 5 ธันวาคม 2519 และได้เข้าเรียนในโรงเรียนการเมืองการทหารของ “คอมมิวนิสต์” นานแรมเดือน ก่อนถูกส่งตัวไปยัง “ภูหินร่องกล้า” พื้นที่ “เขต 3 จังหวัด” ก่อนจะเข้าสังกัดอยู่ใน “กองร้อย 561”

สหายกา” เป็นผู้นำกองร้อย 561 ที่นี่ผมได้พบ “สหายใบไม้” หรือ จิรนันท์ พิตรปรีชา และ “สหายไท” หรือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่เคยร่วมกิจกรรมกันในเมือง

ผมอยู่ “ภูหินร่องกล้า” จนมีการประชุมลับบรรดา “แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ 3 จังหวัด” โดยมี “เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทย” “ลุงศิลป์” ประสิทธิ์ ตะเพียนทอง นามจัดตั้งว่า “มิตร สมานันท์” มานำการประชุมในครั้งนั้น หลังเสร็จการประชุม “สหายเล่าเซ้ง” ผู้นำเขต 3 จังหวัด ได้แจ้งด่วนให้ผมร่วมเดินทางไปกับขบวน “สหายศิลป์” เดินเท้าลัดเลาะตามป่าเขาไปทางชายแดนลาวติดชายแดนจีน

ขบวน “ลุงศิลป์” เดินไปตามป่าเขานาน 5-6 วัน จากนั้นนั่งเรือยนต์ล่องไปตามแม่น้ำโขงและต่อด้วยรถยนต์ ปลายทางที่เขต“ ไชยบุรี”ในประเทศลาว จากนั้นผมได้เข้าสังกัด “หน่วย 20” หรือ “หน่วยทฤษฎีพรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งมี “นายผี” หรือ อัศนี พลจันทร์ นามจัดตั้ง “สหายไฟ” เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบหน่วยงานนี้

ที่นี่ผมยังได้พบกับนักเขียนชื่อดัง บรรจง บรรเจิดศิลป์ ด้วย บริเวณในเขตประเทศลาวแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของทั้ง “หน่วยศิลป์” กับ “หน่วยงานแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์” เพื่อนนักดนตรีที่เคยเคลื่อนไหวกันมาเมื่อครั้งทำกิจกรรมในเมือง เช่น “สหายพันตา” หรือ หงา-สุรชัย จันทิมาทร กับ หว่อง-มงคล อุทก และสมาชิก “วงคาราวาน” ทุกคน และสมาชิก “วงกรรมาชน” กับ “วงคุรุชน” เรียกว่านักดนตรีเพื่อชีวิตได้มารวมตัวอยู่ที่ “หน่วยศิลป์” กันมากมาย

ส่วน “หน่วยงานแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์” หรือนักเคลื่อนไหวชื่อดังทั้งหลายในเมือง ก็มาอยู่กันอย่าง “ลับๆ” แต่ผมเรียกมันว่า “ลับๆ ล่อๆ” เพราะผมได้เจอทั้ง พี่ไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.จังหวัดนครพนม และธีรยุทธ บุญมี “1 ใน 13 กบฏ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” และเพื่อนๆ อีกหลายคน

หลังรัฐบาลประกาศใช้นโยบาย 66/23 ยุค “ป๋าเปรม” มีผลทำให้ผ่อนคลายทางการเมือง ความขัดแย้งเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ผู้คนที่ร่วมต่อสู้อยู่ในป่าได้เริ่มทะยอยกลับเมืองกัน จนเกิดกระแสเรื่อง “เจ้าขุนทองคืนรัง” (คอมมิวนิสต์กลับเมือง) ดังกระหึ่มทั่วสังคมไทย

ปี 2525 ผมจึงได้เป็นหนึ่งใน “ขุนทองคืนเมือง” และเข้าทำงานในบริษัทใกล้สี่แยกราชประสงค์ เป็นบริษัทของเพื่อนรุ่นพี่ ทำศิลปะงานปั้น ที่ครั้งหนึ่งต่างชาติได้จ้างให้หล่อบรอนซ์รางวัล “ออสก้า” ด้วย เพื่อนรุ่นพี่คนนี้เป็น “จิตรกรชื่อดัง” นาม สมชัย หัตถกิจโกศล หนึ่งในแกนนำกลุ่ม “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ซึ่งภายหลังยังได้ผันตัวไปสร้างผลงาน “หุ่นขี้ผึ้ง” หลังไปศึกษาที่สถาบันสร้างหุ่นขี้ผึ้ง “มาดามทูสโซ่”

ผมได้ผลักดันให้พี่สมชัยจัดแสดงงานศิลปะหุ่นขี้ผึ้งชุด “ร.5 เลิกทาส” และได้ไปรับงานสร้างรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระสาย “หลวงปู่มั่น” นั่นคือรูปเหมือน “หลวงปู่ชอบ” และ “หลวงปู่หลุยส์” รวมถึง “หลวงปู่ดุลย์” ฯลฯ

ภายหลังผมได้ออกจากงานด้านหุ่นขี้ผึ้ง หันมาทำงานกับเพื่อนในบริษัทโฆษณาสิ่งพิมพ์ชื่อ “โมเดิร์นเพรส” เน้นงานด้านออกแบบและพิมพ์ปฏิทิน ผลงานปฏิทินได้รางวัล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทห้างร้านอีกหลายแห่ง เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า “ฟิลิปส์” ผลงานที่น่าภาคภูมิใจของผมคือ การออกแบบและพิมพ์หนังสือ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ของโรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้า“สมเด็จพระเทพฯ”

วันหนึ่งโชคชะตานำผมให้ได้พบกับ “พี่โต้ง-อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” โดยคนที่พาผมไปเจอกับ“พี่โต้ง” ที่บ้านราชครูคือ “พี่อ๋า” ธัญญา ชุนชฎาธาร ผู้เป็น “1 ใน 13 กบฏ เดือนตุลา 2516” นั่นเอง
 
บทเกริ่นนำจบแล้ว บทถัดไปผมจะเล่าเรื่องการทำงานกับ “พี่โต้ง” อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อด้วยการมาทำงานกับ “พี่ธิ” สนธิ ลิ้มทองกุล ช่วงก่อน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เคลื่อนไหว จากนั้นค่อยย้อนไปเล่าชีวิตในวัยเด็ก กับการทำกิจกรรมทางสังคมหลัง “14 ตุลาคม 2516” จนต้อง “เข้าป่าจับปืน” นะครับ..


กำลังโหลดความคิดเห็น