xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณต้องกลับไปติดคุกไหม บทพิสูจน์อำนาจศาลกับราชทัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ในที่สุดมติแพทยสภาก็ออกมาตามที่สังคมคาดหวังคือ พักใบอนุญาตสองคน คืออดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจและนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และตักเตือนหนึ่งคน คือแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์

ก่อนหน้านั้นที่ แพทยสภาไม่แถลงเมื่อวันที่ 10 เมษายน ตอนนั้นมีเสียงด่าเซ็งแซ่ต่างๆนานาแต่รู้ไหมว่าถ้าแถลงวันนั้นมติจะไม่เป็นแบบวันนี้ กรรมการท่านหนึ่งบอกว่า การที่แพทย์ให้คนไข้นอนรอตัดไหมเป็นการใส่ใจของเจ้าของไข้ต่อผู้ป่วย จึงไม่มีความผิด

แต่ลองนึกความจริงถ้าเราไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลแทนที่หมอจะให้กลับบ้านแล้วนัดมาตัดไหมแต่บอกเราว่าให้ให้เรานอนรอที่โรงพยาบาลจนถึงมาตัดไหม คิดว่าหมอใส่ใจเราหรือจะเอาเงินเรากันแน่ แต่นั่นแหละถ้าหมอให้กลับบ้านได้ทักษิณก็ต้องกลับไปเข้าคุกสิ

ส่วนการที่ไม่ได้แถลงในวันนั้นเพราะมีผู้ท้วงติง ว่าจะต้องนำเข้าชุดกลั่นกรองเสียก่อน ไม่งั้นจะผิดขั้นตอนถ้าผลออกในทางที่ไม่เป็นคุณ ก็อาจจะมีผู้ไปร้องศาลปกครองได้ โดยชุดกลั่นกรองมีทั้งแพทย์และนักกฎหมายและบุคคลภายนอกซึ่งต่อมาชุดกลั่นกรองมีมติว่าแพทย์ที่ถูกกล่าวหามีความผิดตามที่แพทยสภาชุดใหญ่มีมติและแถลง

ส่วนหมอกรรมการที่มีความเห็นว่าการให้คนไข้นอนรอจนถึงวันตัดไหม เป็นการใส่ใจต่อคนไข้นั้นถ้าบอกชื่อไปก็จะเป็นคนที่สังคมคาดไม่ถึงเลยทีเดียว อุ๊บ!แหมอยากจะบอกจริงๆ

 ตอนนี้ก็รอดูว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภาจะพลีชีพกล้าวีโต้มติของแพทยสภาหรือไม่
 

ทักษิณถูกส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปโรงพยาบาลตำรวจในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 (เวลา 00:20 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม) หลังอ้างว่ามีอาการ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง (170 มม.ปรอท) ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ และนอนไม่หลับ

กรมราชทัณฑ์ระบุว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มี ข้อจำกัดด้านเครื่องมือทางการแพทย์ จึงส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อมมากกว่า โดยอ้าง กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งออกตาม มาตรา 55 วรรคสอง ของ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์

อาการป่วยที่รายงานโดยกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังเสื่อม และอาการปวดเรื้อรังจากการกดทับเส้นประสาท รวมถึงมีการผ่าตัดในช่วงรักษา

กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจระบุว่า อาการป่วยต้อง เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต และต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง จึงอนุญาตให้รักษาต่อเกิน 120 วัน จนครบ 180 วัน (23 สิงหาคม 2566 – 18 กุมภาพันธ์ 2567) โดยทักษิณรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (ห้องรอยัลสูท 1401)

ผมเคยเข้าใจผิดว่า มาตรา 55 ใช้ได้เฉพาะกับผู้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ต่อมาผู้อธิบายผมว่า มาตรา 55 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้ต้องขังป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ” คำว่า“ผู้ต้องขังป่วย”สามารถใช้ได้กับทุกโรค โดยมีการ “เว้นวรรค”ระหว่างคำว่า “ผู้ต้องขังป่วย” กับคำว่า “มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต” ดังนั้นการส่งตัวทักษิณไปรักษานอกโรงพยาบาล ด้วยมาตรานี้จึงใช้ได้

 แต่ประเด็นสำคัญก็คือที่แพทยสภาระบุว่าไม่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าทักษิณป่วยขั้นวิกฤต ดังนั้น ถ้าไม่ถึงขั้นวิกฤต เมื่อส่งตัวออกมารักษานอกเรือนจำแล้วก็ต้องส่งกลับเข้าเรือนจำจะนอนโรงพยาบาลตลอด 180 วันไม่ได้

ตอนนี้ฝ่ายที่อยู่ข้างทักษิณก็จะอ้างว่ามาตรา 55 ที่ใช้ส่งไปรักษานอกเรือนจำไม่จำเป็นต้องวิกฤต เพื่อตอบโต้มติของแพทยสภาซึ่งก็ไม่ผิด แต่เท่ากับยอมรับว่าทักษิณไม่ได้วิกฤตจริง

แต่โดยหลักการแล้วเมื่อส่งตัวรักษานอกเรือนจำและไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตก็จะต้องส่งตัวกลับไปเรือนจำไม่ใช่นอนอยู่ตลอด 180 วัน แม้ว่าจะมีการผ่าตัดแต่ไม่ใช่ผ่าตัดใหญ่นอนโรงพยาบาลไม่กี่วันหมอก็ให้กลับบ้านแล้วเพียงแต่ทักษิณกลับบ้านไม่ได้ต้องกลับไปเรือนจำ หรือต่อให้ผ่าตัดใหญ่มีผ่าตัดไหนที่นอนโรงพยาบาลหกเดือนบ้าง จะมีก็แต่คนติดเตียงเท่านั้น และในความเป็นจริงถ้าคนป่วยขนาดวิกฤตตลอด 180 วันก็น่าจะมีอาการโคม่าไม่เหมือนกับที่ทักษิณออกมาแล้วก็สามารถโลดแล่นไปไหนมาไหนได้ทันทีขึ้นเวทีปราศรัย รวมถึงไปเล่นกอล์ฟได้

แล้วยังมีคนที่เคยเข้าเยี่ยมยืนยันว่าทักษิณมีอาการเหมือนเป็นปกติไม่ใช่คนป่วยวิกฤตเลย รวมทั้งถ้าเราสังเกตให้ดีลูกและครอบครัวไปเยี่ยมทักษิณน้อยมากซึ่งขัดแย้งกับการบอกว่าอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งที่มีสิทธิ์เข้าเยี่ยมได้

การไปนอนในโรงพยาบาลตลอด 180 วันจึงต้องตีความว่าอาจต้องเข้าข่ายการพักโทษต้องใช้มาตรา 246 ป.วิอาญาซึ่งไม่สามารถ ใช้มาตรา 55 ได้นั่นหมายความว่าทักษิณต้องกลับไปรับโทษใหม่

เพราะการวินิจฉัยของแพทยสภานั้นชัดเจนว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทักษิณป่วยขั้นวิกฤตแสดงให้เห็นว่ามีการร่วมมือช่วยเหลือกันของแพทย์ตำรวจที่โดนลงโทษพักใบอนุญาตกับราชทัณฑ์ เพื่อให้ทักษิณไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำ ซึ่งจะส่งผลต่อคดีที่ถูกร้องในปปช.ด้วย

ดังนั้นในคดีที่ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษา และถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ

ศาลวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความในคดี อีกทั้งไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล แต่ศาลเห็นว่าอาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุก

แต่ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรให้โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) แจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์และนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล โดยนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 9.30 น.

การช่วยกันไม่ให้ทักษิณต้องกลับเข้าไปนอนในเรือนจำ แม้แต่วันเดียว ศาลก็น่าจะต้องพิจารณาว่า การบังคับโทษของทักษิณ ถูกต้องตามคำพิพากษาหรือยัง และกรณีนี้ไม่ใช่การพิพากษาซ้ำอย่างที่เข้าใจกัน หรือไม่ก็ความผิดนั้นจะตกอยู่กับราชทัณฑ์และแพทย์ตำรวจ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ปปช.กำลังไต่สวนอยู่ เพียงแต่ช้าอืดเป็นเรือเกลือ ไม่รู้ว่าเมื่อได้มติแพทยสภาแล้วจะเดินหน้าได้หรือยัง

 ในคดีนี้ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด เผยแพร่บทความ เรื่อง ขอบเขตอำนาจตุลาการ มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อกรมราชทัณฑ์รับตัวอดีตนายกรัฐมนตรีไปรับโทษและบริหารจัดการโทษ ตามดุลยพินิจและกรอบอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นอยู่ระหว่างการคุมขังจนครบกำหนดแล้วตามมาตรา 55 จะมีการบังคับโทษคุมขังซ้ำอีกไม่ได้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดจะดำเนินการโดยทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอย่างไร ก็เป็นเรื่องความรับผิดของบุคคลนั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลผู้ต้องรับโทษที่จะต้องถูกบังคับโทษมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะขัดต่อหลักการสากล Double Jeopardy ที่รัฐไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับโทษให้บุคคลใดต้องเดือดร้อนในการกระทำเดียวมากกว่าหนึ่งครั้ง

อย่างไรก็ตามการขัดต่อหลักการสากล Double Jeopardy มีการเผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้ ผมจึงนำมาเสนอต่อ ใครที่คิดว่าหลังจากศาล พิพากษาคดีแล้วศาลไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยวแต่เป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์จะบังคับคดีอย่างไรก็ได้ก็ลองพิจารณาดู 

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 หมวดที่7 การบังคับคดี มาตรา 65 ที่บัญญัติว่า ”การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด“

และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2562 ข้อ 61 วรรคสอง กำหนดว่า ”เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาสามคนมีอำนาจออกหมายหรือคำสั่งใดๆตามที่เห็นสมควรเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล“  

และข้อ 62 กำหนดว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องขอต่อศาลในชั้นบังคับคดีให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว” 
 
ดังนั้นการไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เป็นการตรวจสอบในชั้นบังคับคดี (enforcement stage) เพื่อยืนยันว่าการควบคุมตัวนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ ไม่ใช่การฟ้องร้องหรือลงโทษใหม่ในความผิดเดียวกัน

 หลัก Double Jeopardy ใช้บังคับเมื่อมีการฟ้องร้องซ้ำหรือลงโทษซ้ำในความผิดที่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กรณีนี้เป็นเพียงการตรวจสอบขั้นตอนการบังคับโทษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 65 และ ข้อกำหนดศาลฎีกา ข้อ 61-62

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น