xs
xsm
sm
md
lg

สอย สว.สีน้ำเงินไม่ง่ายอย่างที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ตอนนี้กำลังเปิดศึกสงครามตัวแทนระหว่าง สว.สีน้ำเงินกับดีเอสไอ ลึกๆ แล้วก็คือ ตัวแทนของความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เพราะแม้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรมจะอยู่พรรคประชาชาติ แต่เป็นที่รู้กันว่า พรรคประชาชาติก็คือ Niche Market ของพรรคเพื่อไทยใน 3 จังหวัดใต้

แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทยครองกระทรวงมหาดไทยศึกนี้ก็เลยขยายกลายเป็นศึกระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอไปด้วย

เมื่อดีเอสไอเริ่มสอบสวนในพื้นที่เช่น จ.อำนาจเจริญและมหาสารคามในคดีที่เรียกกันว่า ฮั้ว สว. โดยอ้างว่าพบพยานหลักฐานเช่นเส้นเงินกว่า 500 ล้านบาทและเอกสาร “โพย” รายชื่อผู้สมัครที่อาจเกี่ยวข้องกับการฮั้ว อย่างไรก็ตามการสอบสวนพบอุปสรรคเช่นพยานถูกข่มขู่และมีการกล่าวหาว่าดีเอสไอบังคับพยานให้การ

นายณรงค์ เทพเสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ก็ทำหนังสือลับถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอข่มขู่พยานในคดีฮั้ว สว.เรื่องนี้ทำให้ พ.ต.อ.ทวีออกมาเตือนว่าการขัดขวางการสอบสวนของดีเอสไออาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 22 มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

ต่อมากระทรวงมหาดไทยออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศสั่งให้ยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนดีเอสไอมองว่านี่เป็นการไม่ให้ความร่วมมือและออกหนังสือด่วนถึง ผบ.ตร. และปลัดกระทรวงมหาดไทยขอความร่วมมือ โดยระบุว่าการขัดขวางอาจมีความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

พรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทยแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่องตั้งแต่นโยบายกัญชา มาจนถึงบ่อนกาสิโนที่นายชิดชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยประกาศกลางสภาฯ ว่า เขาเป็นลูกของนายเนวินและนางกรุณา จะคัดค้านนโยบายกาสิโนอย่างถึงที่สุด แต่เป็นที่รู้กันว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ทักษิณมุ่งมั่นว่าจะต้องผลักดันให้ได้

ปัญหาที่ค้ำอกพรรคเพื่อไทยอีกอย่างก็คือ สว.จำนวน 200 คน นั้นเป็น สว.สีน้ำเงินประมาณ 160 คน มีคนใน สว.เล่าว่า สว.ที่เหลือจะมี สว.สีส้มประมาณ 10 คน สว.สายไฮลอว์ประมาณ 10 คน และสว.สีแดงประมาณ 7-8 คน

ถามว่า สว.สีน้ำเงินมาได้อย่างไร คำตอบก็คือมีการวางแผนที่จะยึดกันโดยที่พวกเขาสามารถถอดสมการได้ว่าหากวิธีการเลือกตั้งเป็นแบบนี้จะต้องจัดการอย่างไรเพื่อให้ได้สว.มากที่สุด ที่เรียกว่า ฮั้วกันนั่นแหละ แล้วพวกเขาก็ทำสำเร็จ แต่ถามว่าพรรคอื่นทำไหมก็ทำเหมือนกันแต่ทำไม่สำเร็จ โดยเฉพาะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และไฮลอว์เคลื่อนไหวมากที่จะระดมคนมาลงสมัคร แต่สู้ความเก่งกาจของสีน้ำเงินไม่ได้ ถามว่าสีแดงทำไหมก็ทำเหมือนกัน

ปัญหาของพรรคเพื่อไทยก็คือ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สว.มีฤทธิ์มาก โดยเฉพาะการเลือกองค์กรอิสระ ถ้าหากคนที่ผ่านคัดสรรมาไม่ได้รับอาณัติจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ก็จะผ่านสภาฯ ได้ยาก คนเหล่านี้จึงขึ้นกับบุรีรัมย์หมด

นอกจากนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องการเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (อย่างน้อย 67 เสียงจาก สว. 200 คน) ดังนั้นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับอาณัติบ้านใหญ่บุรีรัมย์เหมือนกัน

นอกจากนั้นมาตรา 178 ระบุว่าในกรณีที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือการเงินซึ่งคณะรัฐมนตรีร้องขอให้ทบทวนหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบการลงมติในที่ประชุมร่วมต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (อย่างน้อย 67 เสียง)

มาตรา 236 วรรคสาม : การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งในองค์กรอิสระ (เช่น กกต., ป.ป.ช., หรือศาลรัฐธรรมนูญ) ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม (อย่างน้อย 67 เสียง)

จะเห็นว่า สว.มีฤทธิ์เดชมาก และหากมีการประชุมร่วมกันหรือประชุมรัฐสภา พรรคภูมิใจไทยกับ สว.สีน้ำเงินรวมกันก็จะมีเสียงข้างมาก

ดังนั้น สว.คือ เสี้ยนหนามที่จะต้องกำจัดให้ได้ หากกำจัดได้แล้วก็จะสามารถลดพยศของพรรคภูมิใจไทยลงได้ดีเอสไอจึงหยิบเรื่องร้องเรียนของบรรดา สว.สอบตก และสำรองมาเป็นเครื่องมือเพื่อฟาดฟันอย่างน้อยเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยต้องการก็คือต้องมี สว.ของตัวเองอย่างน้อย 67 หรือ 1 ใน 3 

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 : พ.ต.อ.ทวีระบุว่าการสอบสวนคดีฮั้วเลือก สว.ล็อตแรก DSI เตรียมแจ้งข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร”ควบคู่กับข้อหาอื่นโดยให้ กกต.เป็นผู้ชี้แจงเพิ่มเติม

จากนั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 : DSI เริ่มปฏิบัติการออกหมายเรียก สว. 53 รายเพื่อเข้าชี้แจงคดีฮั้วเลือก สว.โดยเริ่มจาก สว. อลงกต วรกีซึ่งถูกติดหมายเรียกที่หน้าประตูห้องและกำหนดให้เข้าพบภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568

แต่หลักฐานที่ต้องใช้สำหรับข้อหาอั้งยี่ต้องมีหลักฐานการสมคบตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีลักษณะเป็นสมาคมลับและมีเจตนากระทำความผิดเช่นโพยข้อความในกลุ่มปิดคำให้การหรือบันทึกการประชุมลับความท้าทายสำหรับดีเอสไอคือการพิสูจน์ลักษณะ “สมาคมลับ” และเจตนาที่ชัดเจน

และหลักฐานที่ต้องใช้สำหรับข้อหาฟอกเงินต้องมีหลักฐานเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความผิดมูลฐาน (เช่นการฉ้อโกงหรืออั้งยี่) เช่นบันทึกการโอนเงินเอกสารธุรกรรมหรือคำให้การที่ยืนยันการให้ผลประโยชน์ความท้าทายคือการพิสูจน์ความผิดมูลฐานและเจตนาในการปกปิดแหล่งที่มา

พูดง่ายๆ ว่า ดีเอสไอต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีเส้นเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ถามว่า ถ้าดีเอสไอตรวจสอบพบเส้นเงินกับคนที่ลงสมัครคนอื่นแล้วเข้ามาสมัครเพื่อพลีชีพหรือโหวตให้คนที่เป็นเป้าหมาย แล้วได้รับเลือกจะมีความผิดไหม ถ้าเส้นเงินไม่ได้มาถึงเขาคำตอบก็คือเอาผิดได้ยากต้องมีหลักฐานเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความผิดมูลฐาน

ข้อหาอั้งยี่จะพิสูจน์อย่างไรว่าการสมคบเป็น “สมาคมลับ”ซึ่งไม่ง่ายเลยหากการสื่อสารเกิดในช่องทางที่ไม่มีการปกปิดเช่นกลุ่มไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายหรือหากผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าเป็นเพียงการพูดคุยตามระบบ “เลือกกันเอง” หลักฐานที่จะนำมาใช้ต้องถึงระดับเกินกว่าข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล (Beyond Reasonable Doubt) ในชั้นศาลเพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด

ส่วนการจดโพยบุคคลที่ตัวเองต้องการเลือกเข้าไปนั้นผิดไหม คำตอบคือไม่ผิด เพราะศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ให้เพิกถอนข้อจำกัดต่างๆ ในการแนะนำตัว ดังนั้นการจดโพยรายชื่อในตัวมันเองไม่ใช่ความผิดยกเว้นโพยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสมยอมหรือการตกลงล่วงหน้าที่มีลักษณะจูงใจหรือไม่สุจริต (เช่นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์) อาจเข้าข่ายความผิด ซึ่งเป็นเรื่องพิสูจน์ยาก แม้ในทางวิทยาศาสตร์จะเป็นไปไม่ได้ที่คนจำนวนมากจะจดรายชื่อเรียงมาเหมือนกันก็ตาม

ดังนั้น ถ้าจะเอาผิด สว.สีน้ำเงินที่เป็นหนามตำคอเพื่อกดให้พรรคภูมิใจไทยเลิกพยศ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ถึงเส้นเงินก็ยากที่จะทำอะไรได้ ดีไม่ดีดีเอสไอนั่นแหละจะถูกย้อนศรเสียเอง
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น